Trump tiptoeing toward energy market management
by M.K. Bhadrakumar
31/03/2020
คำถามข้อใหญ่มีอยู่ว่า การที่ทรัมป์โทรศัพท์ไปคุยกับปูตินและมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ใช่หรือไม่ว่าคือการส่งสัญญาณแสดงถึงก้าวเดินก้าวแรกของวอชิงตันในความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์เพื่อร่วมมือกับมอสโกและริยาดในการบริหารจัดการตลาดพลังงาน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ “ยอมกลืนเลือด” ด้วยการโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพื่อเจรจาหารือเกี่ยวกับสถานะของตลาดพลังงาน ซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตอย่างชนิดไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยที่ตอนช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ราคาน้ำมันโลกได้พังครืนตกลงมากว่า 50% สู่ระดับราคาต่ำที่สุดซึ่งเคยพบเห็นกันตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีมานี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-global-oil/crude-oil-futures-drop-at-open-on-grim-demand-outlook-idUSKBN21G0XR)
มันถึงช่วงเวลาของการตัดสินชะตากรรมกันแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พวกประเทศ “โอเปกพลัส” (OPEC+ หมายถึงพวกชาติสมาชิกโอเปก บวกด้วยพวกประเทศผู้ผลิตนอกโอเปก ซึ่งที่สำคัญก็คือรัสเซีย) จะมีอิสรเสรีในการสูบน้ำมันออกมาส่งขายในตลาดเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ตามที่พวกเขาพออกพอใจ ปริมาณซึ่งเพิ่มขึ้นมาเช่นนี้แน่นอนทีเดียวว่าจะทะลักทลายจนท่วมท้นตลาดน้ำมัน เป็นต้นว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังพูดเสียงดังว่า จะนำน้ำมันออกสู่ตลาด 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การผสมผสานบรรจบกันทั้งเรื่องที่จะมีซัปพลายพุ่งพรวดขึ้นอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันดีมานด์กลับอยู่ในอาการลดฮวบฮาบจนชวนช็อก ก่อให้เกิดสถานการณ์แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของตลาดน้ำมัน มันกลายเป็นภัยคุกคามที่จะส่งผลแบบทวีคูณซ้ำเติมภาวะถดถอยอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา อันติดตามมาด้วยการที่จีนและโลกอุตสาหกรรมประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เป็นอาณาบริเวณใหญ่โตกว้างขวาง
สำหรับสหรัฐฯแล้ว การพังทลายของตลาดน้ำมันอาจหมายถึงการม้วนเสื่อเจ๊งบ๊งถึงกว่าครึ่งของอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันหรือหินดินดาน (shale) ของตน ซึ่งกำลังเป็นผู้สถาปนาฐานะความเป็นมหาอำนาจด้านน้ำมันให้แก่อเมริกาในระยะไม่กี่ปีมานี้ สำหรับอุตสาหกรรมหินน้ำมันของสหรัฐฯแล้ว ราคาตลาดโลกที่จะทำให้อยู่ในฐานะเท่าทุนอยู่ในระดับระหว่าง 40 ถึง 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล --แต่มาถึงเวลานี้มันดำดิ่งลงไปเหลือแค่ราวๆ 20 ดอลลาร์
วิกฤตการณ์ทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2014-2016 แต่อุตสาหกรรมหินน้ำมันยังคงสามารถอยู่รอดผ่านมาได้ด้วยวิธีการหาหนทางต่างๆ เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลงและการประหยัดอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช –แล้วก็สามารถกระเตื้องดีดตัวกลับขึ้นมาทำกำไรงามๆ ได้ในทันทีที่วิกฤตการณ์สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับคราวนี้ พวกบริษัทขุดเจาะน้ำมันจากหินน้ำมันกำลังเผชิญอุปสรรคใหญ่ๆ หลายประการอยู่ก่อนแล้ว ทั้งเรื่องปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียน และหนี้สินที่ครบกำหนดชำระไถ่ถอน จนกระทั่งเมื่อถูกซ้ำเติมจากการที่รายได้ลดลงฮวบก็สามารถขับไสให้พวกเขาถอยจมลงสู่ฐานะล้มละลายได้ทีเดียว นอกจากนั้นแล้ว ขณะที่ในครั้งก่อนปัญหามีเพียงชั้นเดียวในเรื่องราคาน้ำมันตก ทว่าเวลานี้มันยังบวกด้วยการที่ดีมานด์ทรุดหนักครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์น้ำมันอีกด้วย
ภาคอุตสาหกรรมหินน้ำมันสหรัฐฯกำลังเผชิญการถูกรุมเข่นฆ่าแบบยกครัว และเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในรูปของหลักทรัพย์ก็อาจถูกกวาดทิ้งลบหายไป มีวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 13 คนร่วมกันเขียนจดหมายส่งถึงมกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮาเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้เพื่อเร่งเร้าให้ยุติความพยายามในการเพิ่มการผลิตและทำให้ราคาลดต่ำ พวกเขาข่มขู่ที่จะลงมือเล่นงานซาอุดีอาระเบียถ้าหาก “สงครามทางเศรษฐกิจ” คราวนี้ยังคงดำเนินต่อไป
วุฒิสมาชิก เท็ด ครูซ (Ted Cruz) จากมลรัฐเทกซํส บอกกับ ซีเอ็นบีซี เมื่อวันที่ 30 มีนาคมว่า “ฝ่ายซาอุดีฯกำลังวาดหวังที่จะขับไล่ไสส่งพวกผู้ผลิตชาวอเมริกันให้ต้องออกไปจากธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตจากหินน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอ่งเพอร์เมียน (Permian Basin) ในเทกซัส และในรัฐนอร์ทดาโคตา พฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมคิดว่ามันเป็นการมุ่งเอาแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียวของประเทศหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนมิตร ... ถ้าพวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเส้นทางของพวกเขาแล้ว ความสัมพันธ์ของพวกเขากับสหรัฐฯก็จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงขั้นรากฐานลึกๆ ทีเดียว”
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายซาอุดีฯไม่ได้แสดงอาการถอยหลังถอนตัวออกจากสงครามราคาน้ำมันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดคราวนี้ อีกทั้งกำลังวางแผนการเพิ่มการส่งออกน้ำมันของตนขึ้นอีกขยักหนึ่งด้วยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เบอร์นาร์ด เฮย์เคล (commentator Bernard Haykel) นักวิจารณ์ทางสื่อ (commentator) คนสำคัญของชนชั้นนำซาอุดีฯ เขียนเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า การตัดสินของริยาดเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนในระดับยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐานอย่างมากมายยิ่งขึ้นและกว้างขวางยิ่งขึ้นซึ่งนำโดยเจ้าชายมกุฎราชกุมาร คำของเฮย์เคลที่ระบุเอาไว้ชัดๆ ในเรื่องนี้ บอกว่า “พระองค์ (เจ้าชายมกุฎราชกุมาร) ทรงริเริ่มดำเนินนโยบายต่างๆ ที่มุ่งจะเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด แทนที่จะพยายามกำหนดราคา (อย่างเมื่อก่อน)” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.project-syndicate.org/commentary/saudi-arabia-oil-production-mbs-new-strategy-by-bernard-haykel-2020-03)
ดังนั้น ระฆังเตือนภัยจึงกำลังส่งเสียงดังลั่นสำหรับอุตสาหกรรมหินน้ำมันอยู่แล้ว คนงานขุดเจาะน้ำมันจำนวนหลายหมื่นคนกำลังถูกเลย์ออฟให้ออกจากงาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ttnews.com/articles/tens-thousands-are-getting-laid-us-shale-patch) นิตยสาร “ออยล์ไพรซ์” (Oil Price) ทำนายว่า การเลย์ออฟในอุตสาหกรรมน้ำมันอาจจะสูงลิ่วถึง 200,000 ตำแหน่งงานทีเดียว
ทางด้านสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) คาดการณ์เอาไว้ในการศึกษาชิ้นหนึ่งว่า เขตมิดแลนด์-โอเดสซา (Midland-Odessa region) ของเทกซัสภาคตะวันตก (West Texas) ซึ่งบริษัทออคซิเดนทัล ปิโตรเลียม (Occidental Petroleum) และบริษัท พาร์สลีย์ เอเนอจี (Parsley Energy) เป็นเจ้าครอบครองอยู่ อาจจะได้รับความเสียหายย่อยยับ ผู้บริหารด้านน้ำมันระดับท็อปผู้หนึ่ง ได้แก่ แดน อีเบอร์ฮาร์ต (Dan Eberhart) ซีอีโอของบริษัทคาเนรี (Canary) ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองเดนเวอร์ ได้รับการอ้างอิงว่าพูดเอาไว้ดังนี้ “ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายกันอย่างแน่นอนอยู่แล้ว พวกบริษัทน้ำมันและแก๊สที่อ่อนแอที่สุด และพวกธนาคารซึ่งปล่อยกู้หนักให้แก่ภาคพลังงานอาจจะจมลงอยู่ใต้กระแสคลื่นก่อนที่วัฎจักรนี้จะสิ้นสุดลง โดยไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้อีก”
แรงกระเพื่อมที่เกิดตามมาก็ชวนให้รู้สึกตื่นตระหนก กล่าวคือ เมื่อพวกบริษัทขุดเจาะน้ำมันจากหินน้ำมันพากันล้มละลายและไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ตลาดสินเชื่อและธนาคารต่างๆ ก็เผชิญกับวิกฤต ซึ่งส่งผลกลับมาคุกคามระบบทั้งระบบของตลาดหลักทรัพย์ด้านน้ำมัน
พูดกันให้เข้าใจง่ายก็คือ จากการที่ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียต่างหันมาผลิตน้ำมันส่งเข้าสู่ตลาดกันอย่างสนุกสนาน มันก็กลายเป็นการตีกระหน่ำแบบถึงขั้นปลิดชีวิตอุตสาหกรรมขุดเจาะหินน้ำมันอเมริกันที่เติบโตมาได้สิบกว่าปี และกำลังถูก 2 ประเทศนี้มองว่าเป็นศัตรูที่จะต้องเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง สาระสำคัญของเรื่องนี้ก็คือว่าทั้งริยาดและมอสโกต่างฝ่ายต่างทำการสู้รบกับสหรัฐฯอย่างเป็นอิสระ และมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะเดินหน้าทำสงครามราคานี้เพื่อให้เรื่องที่ฝ่ายอเมริกันรุกล้ำช่วงชิงเอาส่วนแบ่งตลาดของพวกเขาไปยุติสิ้นสุดลงอย่างเด็ดขาด (ดูเพิ่มเติมที่ข้อเขียนก่อนหน้านี้ของผม เรื่อง Oil price war is more about market share https://indianpunchline.com/oil-price-war-is-more-about-market-share/ หรืออ่านที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว คือ เรื่อง “จริงๆ แล้ว ‘รัสเซีย’มุ่งรบกับ‘พวกบริษัทน้ำมันอเมริกัน’เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด” ในhttps://mgronline.com/around/detail/9630000028032 )
เมื่อเร็วๆ นี้ อีกอร์ เซชิน (Igor Sechin) ประธานของ รอสเนฟต์ (Rosneft) รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของรัสเซีย และเป็นเพื่อนร่วมงานมายาวนานของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ในทันทีที่พวกบริษัทหินน้ำมันสหรัฐฯถอนตัวออกไปจากตลาด ราคาจะดีดกลับขึ้นมา และอาจไปถึงระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว
ส่วนสำคัญที่สุดก็คือว่า สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ต้นทุนทางการเมืองกำลังสูงลิบลิ่วขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเรื่องที่เขาคุยฟุ้งว่า สหรัฐฯได้กลายเป็นเพลเยอร์รายสำคัญที่สุดในตลาดน้ำมันโลก เวลานี้มันกำลังถูกปอกเปลือกออกมาว่าไม่เป็นความจริง และวาระของเขาที่ต้องการรักษา “ฐานะครอบงำด้านพลังงาน” ของอเมริกาเอาไว้ให้มั่นคง บนพื้นฐานของความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมหินน้ำมัน ก็กำลังถูกเปิดโปงให้เห็นว่าเป็นเพียงความเพ้อฝัน
ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายที่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของทรัมป์ในเรื่องการใช้มาตรการแซงก์ชั่นเป็นอาวุธ ซึ่งถูกนำมาใช้เล่นงานทั้งอิหร่าน, เวเนซุเอลา, และอุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซีย รวมทั้งโครงการก่อสร้างสายท่อส่งแก๊ส “นอร์ดสตรีม 2” (Nord Stream 2) ซึ่งถือเป็นโครงการสำคัญที่สุดระดับ “เรือธง” ของอุตสาหกรรมนี้ของแดนหมีขาว โดยที่วัตถุประสงค์เบื้องลึกของทรัมป์ก็คือเพื่อแย่งยึดฉวยคว้าเอาส่วนแบ่งตลาดพลังงานจากประเทศเหล่านี้ ก็กำลังทำท่าจะอยู่ในอาการล้มคว่ำคะมำหงาย
ฝ่ายรัสเซียกำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อขยับขยายจาก “สงครามน้ำมัน” ให้กลายเป็นสงครามเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดแก๊สธรรมชาติในยุโรปอีกด้วย รัสเซียเฝ้ามองด้วยความไม่สบายใจจากการที่แก๊สธรรมชาติจากแหล่งหินน้ำมันของอเมริกาถูกส่งออกมายังชายฝั่งของยุโรป เนื่องจากมันมีศักยภาพที่จะบั่นทอนฐานะครอบงำบงการของรัสเซียจากการเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวในการจัดส่งแก๊สธรรมชาติไปให้แก่ยุโรป สหรัฐฯกำลังพยายามโน้มน้าวจูงใจพวกชาติยุโรป โดยโฆษณาว่า แก๊สแอลเอ็นจีที่ตนนำมาขายให้ยุโรปนั้นเป็น “แก๊สเสรีภาพ” ซึ่งจะช่วยพวกประเทศยุโรปลดการพึ่งพาอาศัยซัปพลายของรัสเซียอย่างหนักหน่วงดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้
การที่สหรัฐฯประกาศแซงก์ชั่นเล่นงานโครงการท่อส่งแก๊ส นอร์ดสตรีม 2 ซึ่งเชื่อมต่อแหล่งแก๊สธรรมชาติของรัสเซียเข้ากับเยอรมนีและยุโรปเหนือ อีกทั้งกำลังก่อสร้างคืบหน้าไปมากจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งในเรื่องนี้ มาตรการแซงก์ชั่นเหล่านี้ของสหรัฐฯพุ่งเป้าหมายเล่นงานรัฐวิสาหกิจ “กาซปรอม” (Gazprom) ของรัสเซีย เพื่อไม่ให้สามารถขยายตัวและเพิ่มอำนาจรวมศูนย์ของตนในตลาดพลังงานของยุโรป ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยสำหรับการที่มอสโกจะกำลังอยู่ในอารมณ์แบบไม่ยินดียกโทษให้วอชิงตัน อย่างน้อยก็ไม่ใช่การยกโทษกันให้อย่างง่ายๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mbs.news/a/2020/03/moodys-russian-economy-more-durable-than-most-oil-exporting-countries.html)
หลังจากที่ทรัมป์โทรศัพท์ไปหาปูตินแล้ว ทำเนียบขาวแถลงว่าผู้นำของสหรัฐฯและของรัสเซีย “เห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสำคัญของเสถียรภาพในตลาดพลังงานโลก” เชย์ลีน ไฮน์ส (Shaylyn Hynes) โฆษกของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกมาตีฆ้องร้องป่าวอย่างครึกโครมยิ่งขึ้นไปอีก โดยบอกกับสำนักข่าวทาสส์ (TASS) ของรัสเซียว่า “รัฐมนตรี (พลังงานสหรัฐฯ แดน) บรูเลตต์ (Dan Brouillette) จะหารือกับรัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย (อเล็กซานเดอร์) โนวัค (Alexander Novak) ถึงวิธีการต่างๆ ที่บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกสามารถจัดการกับการขึ้นลงอย่างวูบวาบในตลาดน้ำมันโลก ระหว่างช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนผันผวนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยเช่นนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/economy/1137795)
แต่ในบทถอดความการสนทนาที่เผยแพร่โดยวังเครมลิน กลับระบุเพียงแค่ว่า “ผู้นำทั้งสอง (ปูตินและทรัมป์) ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของตลาดน้ำมันโลก และเห็นพ้องกันว่ารัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียและของอเมริกาควรที่จะจัดการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับหัวข้อนี้” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/63086)
คำถามใหญ่อันฉกาจฉกรรจ์มีอยู่ว่า การที่ทรัมป์โทรศัพท์ไปคุยกับปูตินคราวนี้ ใช่หรือไม่ว่าคือการส่งสัญญาณแสดงถึงก้าวเดินก้าวแรกของวอชิงตันในความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์เพื่อร่วมมือกับมอสโกในการบริหารจัดการตลาดพลังงาน พูดกันอย่างปราศจากอคติใดๆ แล้ว วิกฤตการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้นมาจำเป็นที่จะต้องรับมือด้วยการที่นานาชาติจับมือกัน และน่าจะสามารถพูดได้ว่า ทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ต้องมองให้เลยไกลไปกว่า โอเปก (และโอเปกพลัส) แต่ต้องเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ โอเปกพลัสพลัส (OPEC++) ซึ่งรวมเอาสหรัฐฯเข้าไปด้วย ในทางหลักการแล้ว ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียน่าจะพึงพอใจกับไอเดียนี้ ซึ่งหมายความว่า พวกผู้ผลิตต้นทุนสูงที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกพลัส ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องยินยอมเข้ามาร่วมแบ่งปันแบกรับภาระในการทำให้ตลาดน้ำมันเกิดความสมดุล [1]
พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทรัมป์กำลังลงแรงทุ่มเทความพยายามเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งตอนปลายปีนี้ และพวกผู้สนับสนุนส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งของเขาก็คือพวกที่เกี่ยวข้องอยู่ในการผลิตน้ำมันและแก๊สจากหินน้ำมัน ดังนั้น เขาอาจจะยินยอมกลืนเลือดและกระทำสิ่งที่เขาไม่ได้ปรารถนาจะกระทำ อย่างน้อยที่สุด ถ้าหากมันเป็นการกลืนเลือดในลักษณะจำกัดเวลาและครั้งเดียวยุติ
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/trump-tiptoeing-toward-energy-market-management/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก
หมายเหตุผู้แปล
[1] หลังจาก เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้แล้ว ก็ยิ่งมีความชัดเจนว่า รัสเซียกับซาอุดีอาระเบียแสดงท่าทีอาจจะยินยอมหันกลับมาทำข้อตกลงตัดลดการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง แต่บนเงื่อนไขที่พวกผู้ผลิตรายอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขุดเจาะจากหินน้ำมันของสหรัฐฯ จะต้องเข้ามาร่วมการตัดลดการผลิตนี้ด้วย กระทั่งมีการนัดหมายที่จะประชุมหารือกลุ่มโอเปกพลัส ขึ้นมาใหม่ในวันพฤหัสบดีที่ 9 เม.ย.นี้ ถึงแม้พวกเพลเยอร์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, หรือสหรัฐฯ ต่างยังแสดงท่าทีต่อรองกันอย่างไม่ลดละ ทำให้คาดหมายได้ลำบากว่าผลการประชุมจะออกมาอย่างไร ทั้งนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานเรื่องนี้เอาไว้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมดังนี้:
ขาใหญ่ใน‘โอเปกพลัส’ระบุ ลดผลิตน้ำมันหรือไม่ อยู่ที่สหรัฐฯ-ผู้ผลิตรายอื่นเอาด้วยหรือเปล่า
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
Big OPEC+ oil output cuts depend on U.S., others joining – sources
by Reuters
07/04/2020
รอยเตอร์ – ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, และพวกผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นพันธมิตรกัน จะยินยอมตกลงลดผลผลิตน้ำมันดิบของพวกตนกันเป็นปริมาณมากๆ ในระหว่างการเจรจาสัปดาห์นี้ ก็ต่อเมื่อสหรัฐฯและรายอื่นๆ อีกหลายรายยินยอมเข้าร่วมในการหั่นการผลิตเช่นนี้ ซึ่งมุ่งที่จะช่วยพยุงราคาน้ำมันให้สูงขึ้น หลังถูกตีกระหน่ำแรงจากวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา
ดีมานด์น้ำมันของทั่วโลกได้ลดฮวบลงมากอาจจะถึง 30% หรือเท่ากับประมาณ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันทีเดียว สืบเนื่องจากมาตรการทั้งหลายซึ่งนานาประเทศนำออกมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสได้ส่งผลให้ความต้องการใช้เบนซิน, ดีเซล, หรือน้ำมันเครื่องบิน ต่างพากันตกฮวบฮาบ
ยิ่งไปกว่านั้น บนดีมานด์ซึ่งกำลังหดหายลงเรื่อยๆ นี้เอง ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียยังกำลังขนส่งน้ำมันดิบปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ให้ออกมาท่วมท้นตลาด หลังจากการล้มครืนเมื่อเดือนที่แล้วของข้อตกลงมุ่งจำกัดซัปพลายที่ใช้กันมา 3 ปีซึ่งทำกันไว้ระหว่างพวกสมาชิกขององค์การโอเปก, รัสเซียและพวกชาติพันธมิตรของแดนหมีขาว อันรู้สึกกันในชื่อว่าข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส
กลุ่มโอเปกพลัสมีกำหนดจัดการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) นี้ เวลา 14.00 จีเอ็มที (ตรงกับ 21.00 น.เวลาประเทศไทย) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ คุยเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาได้เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยจนทำให้ริยาดกับมอสโกตกลงกันได้เรื่องตัดลดผลผลิตน้ำมันลงแบบฮวบฮาบชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือวันละ 10 ถึง 15 ล้านบาร์เรลทีเดียว หรือจะเท่ากับ 10% ถึง 15^ ของซัปพลายทั่วโลกทีเดียว อย่างไรก็ดี เวลานี้ยังคงไม่ได้มีอะไรอย่างเป็นทางการในเรื่องที่ทรัมป์อ้างนี้
แหล่งข่าวโอเปกรายหนึ่งบอกสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอังคาร (7 เม.ย.) ว่า โอเปกพลัสจะหั่นผลผลิตของพวกตนมากน้อยแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับปริมาณที่พวกผู้ผลิตรายอื่นๆ เป็นต้นว่า สหรัฐฯ, แคนาดา, และบราซิล ยินดีจะลดลงมา
ทางด้านพวกแหล่งข่าวอื่นๆ ในกลุ่มโอเปกพลัส ก็บอกเล่าในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่ามันจะขึ้นอยู่กับการลงมือกระทำของสหรัฐฯ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันที่มีต้นทุนสูงของประเทศนี้ ได้พุ่งพรวดขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือจากการดำเนินการเพื่อมุ่งพยุงราคาของกลุ่มโอเปกพลัสตั้งแต่เมื่อปี 2016 “ถ้าสหรัฐฯไม่เอาด้วย ก็ไม่มีข้อตกลงใดๆ” แหล่งข่าวรายหนึ่งในโอเปกพลัส กล่าวอย่างตรงไปตรงมา
สหรัฐฯนั้นจวบจนถึงเวลานี้ยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ ในเรื่องจะร่วมตัดลดผลผลิต ขณะที่ทรัมป์พยายามอธิบายว่าในตอนนี้การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯก้ได้หดตัวลงมาอยู่แล้วตามธรรมชาติ
ภายหลังการเจรจาหารือของกลุ่มโอเปกพลัสแล้ว ในวันศุกร์ (10 เม.ย.) ซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ของรัฐมนตรีพลังงานจากกลุ่ม 20 ระบบเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก (จี20) “เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่เสถียรภาพของตลาดพลังงาน” ทั้งนี้ตามเอกสารภายในชิ้นหนึ่งที่รอยเตอร์ได้อ่าน
แหล่งข่าวอาวุโสฝ่ายรัสเซียผู้หนึ่งบอกว่า ความพยายามที่จะนำเอาสหรัฐฯเข้ามาร่วมในดีลตัดลดการผลิตด้วยนั้น จะอยู่ในระเบียบวาระสำหรับการหารือระดับ จี20 ในวันศุกร์ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นระหว่างเวลา 12.00 – 14.20 น.จีเอ็มที (ตรงกับ 17.00 น. ถึง 21.20 น.เวลาเมืองไทย
แหล่งข่าวฝ่ายรัสเซีย 2 รายบอกว่า รัสเซียพร้อมที่จะลดผลผลิตลงมาอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง แต่ไม่ได้ให้ตัวเลขที่แน่นอน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.yahoo.com/news/big-opec-oil-output-cuts-132435062.html)