เอเจนซีส์ - ทรัมป์-ปูติน ไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่พลังงานระดับสูงหารือเรื่องตลาดน้ำมันโลกทรุด ขณะที่ประมุขทำเนียบขาววิจารณ์สงครามราคาระหว่างมอสโกกับริยาด ว่า “บ้าทั้งคู่” ล่าสุด ราคาน้ำมันในตลาดเอเชียเริ่มดีดกลับ ปัจจัยบวกส่วนหนึ่ง คือ การหารือระหว่างผู้นำสองชาติมหาอำนาจคู่นี้
การตกลงดังกล่าวถือเป็นจุดพลิกผันใหม่ในแนวทางการทูตด้านน้ำมันโลก นับจากที่ข้อตกลงลดการผลิตระหว่างองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กับรัสเซียล่ม อันนำไปสู่สงครามราคาระหว่างรัสเซียกับซาอุดีอาระเบีย ผู้นำโดยพฤตินัยของโอเปก
นอกจากนั้น ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ช่วยฉุดราคาน้ำมันดำดิ่งเป็นประวัติการณ์อีกแรง เพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ผลิตน้ำมัซึ่งมีต้นทุนสูงในอเมริกาและทั่วโลกอาจต้องล้มละลาย
เครมลินแถลงเมื่อวันจันทร์ (30 มี.ค.) ภายหลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ผู้นำทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันในปัจจุบัน และเห็นพ้องว่า รัฐมนตรีพลังงานของสองประเทศควรหารือกันในเรื่องนี้
ด้าน จัดด์ เดียร์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า ทรัมป์และปูตินเห็นพ้องเกี่ยวกับความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพตลาดพลังงานโลก ขณะที่ เชย์ลีน ไฮเนส โฆษกกระทรวงพลังงาน เสริมว่า แดน บรุยแยตต์ รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐฯ จะหารือกับ อเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย เกี่ยวกับวิธีจัดการการผันผวนในตลาดน้ำมันโลกของเหล่าผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก
แม้ไม่ได้เปิดเผยประเด็นที่แน่นอนที่สองรัฐมนตรีจะถกกัน แต่ก่อนหน้านี้ มอสโกเคยส่งสัญญาณว่า ต้องการให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมมือในการรักษาสมดุลตลาดน้ำมันโลก
ก่อนการหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ไม่นาน ทรัมป์วิจารณ์ว่า ริยาดและมอสโก “บ้าทั้งคู่” ที่ทำสงครามราคากัน เพราะขณะที่ราคาน้ำมันทรุดดิ่ง ทั้งสองฝ่ายกลับต่อสู้กันเรื่องการจัดจำหน่ายและปริมาณน้ำมันที่จะปล่อยออกสู่ตลาด
ปัจจุบัน อเมริกาก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลกจากเทคโนโลยีการกลั่นจากแหล่งหินน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันในขณะนี้ถือว่าอยู่ต่ำกว่าระดับต้นทุนของพวกโรงกลั่นในอเมริกา จึงกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันจากแหล่งหินน้ำมันของสหรัฐฯอย่างมาก
นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ความต้องการน้ำมันจากสายการบินและผู้ที่ต้องใช้ยานพาหนะในการเดินทาง ซึ่งมีประมาณ 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจไม่มีทางฟื้นคืนสู่ระดับก่อนหน้านี้
ในวันจันทร์ ราคาสัญญาซื้อล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสของอเมริกาได้ตกลงจนต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ร่วงลงทำสถิติต่ำสุดในรอบ 18 ปี
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสในตลาดเอเชียวันอังคาร (31 มี.ค.) ทะยานขึ้น 7.3% อยู่ที่ 21.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบชนิดเบรนต์บวก 3.3% อยู่ที่ 23.5 ดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการหารือระหว่างทรัมป์กับปูติน
นอกจากหว่านล้อมรัสเซียแล้ว คณะบริหารของทรัมป์ยังพยายามโน้มน้าวให้ซาอุดีฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุด ลดกำลังผลิตน้ำมันดิบ และเตรียมส่งวิกตอเรีย โคตส์ ผู้แทนพิเศษด้านพลังงาน ไปริยาด
ในการสนทนากันระหว่างทรัมป์กับปูตินคราวนี้ นอกจากประเด็นน้ำมันและไวรัสโคโรนาแล้ว ข่าวกล่าวว่าทั้งคู่ยังคุยกันเรื่องการค้าและการแซงก์ชันที่อเมริกาบังคับใช้เพื่อลงโทษที่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียในยูเครน และที่พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ ว่า ปูตินพยายามขอให้อเมริกายกเลิกมาตรการแซงก์ชันมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และอาจย้ำเรื่องนี้อีกครั้งในการหารือวันจันทร์
ทว่า ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกเครมลิน ปฏิเสธว่า ผู้นำรัสเซียไม่เคยทำอย่างที่ทรัมป์อ้าง แม้ว่าเมื่อวันพฤหัสฯ ที่แล้ว (26 มี.ค.) ปูตินจะกล่าวกับผู้นำ จี20 ระหว่างการประชุมทางไกลว่า ต้องการพักการแซงก์ชันใน “สถานการณ์ความเป็นความตาย” ของการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ก็ตาม