(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Kremlin confident it can win oil price war
by Giovanni Pigni
10/03/2020
ทั้งรัสเซียและรอสเนฟต์ต่างพิจารณาว่า พวกเขาสามารถเอาชนะพายุสงครามตัดราคาน้ำมัน ที่เปิดศึกสู้รบกับซาอุดีอาระเบียได้ ทว่าใช่ว่าทุกๆ ฝ่ายจะเห็นพ้องกับความคิดเห็นเช่นนี้
วันจันทร์ที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เป็น “วันจันทร์ทมิฬ” (Black Monday) สำหรับรัสเซีย เมื่อประเทศนี้ตื่นนอนขึ้นมาแล้วพบว่าค่าเงินรูเบิลลดวูบลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ภายหลังการพังครืนลงมากว่า 25% ของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งถือเป็นการดำดิ่งครั้งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษนี้
การควงสว่านปักหัวลงของราคาน้ำมันคราวนี้ เป็นผลลัพธ์โดยตรงของการที่รัสเซียประสบความล้มเหลวไม่สามารถที่จะทำความตกลงกับ องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่มอสโกได้ร่วมมือกับกลุ่มนี้มาหลายปีในกรอบโครงที่เรียกกันว่า “โอเปกพลัส” (OPEC+)
ในการประชุมหารือกันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.) ที่แล้ว มอสโกปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอของซาอุดีอาระเบียที่ให้ช่วยกันลดการผลิตน้ำมันลงไปอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการเพิ่มเติมจากที่ได้ตัดลดกันอยู่แล้วในปริมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ฝ่ายซาอุดีฯอ้างเหตุผลที่ว่าอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันของทั่วโลกกำลังลดต่ำลงท่ามกลางการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”
เมื่อรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอนี้ ซาอุดีอาระเบียก็ประกาศว่าจะลดราคาน้ำมันที่ตนเองจำหน่าย รวมทั้งเพิ่มการผลิตขึ้นมาโดยเร็วที่สุดในทันทีที่ข้อตกลงฉบับปัจจุบันของกลุ่มโอเปกพลัส หมดอายุลงในวันที่ 1 เมษายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-saudi-oil-prices/saudi-arabia-slashes-april-crude-oil-prices-after-opecs-supply-pact-collapsed-idUSKBN20U0Y4?il=0)
การประกาศเช่นนี้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการล้มครืนของความเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัสเซียกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้ช่วยพยุงให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นของการทำสงครามตัดราคากัน
ผลพวงต่อเนื่องของมันจะออกมาอย่างไรบ้าง ยังยากลำบากที่จะพยากรณ์ในเวลานี้
เมื่อตลาดเปิดทำการขึ้นในวันจันทร์ (9 มี.ค.) น้ำมันดิบประเภท “เบรนต์” (Brent) ซึ่งเป็นตัวที่นิยมใช้เป็นมาตรวัดสำหรับอ้างอิงความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลก ได้หล่นดิ่งลงมากว่า 30% สู่ระดับ 31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นการตกแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกสิ้นสุดลงในปี 1991 และผลลัพธ์โดยตรงประการหนึ่งก็คือ ค่าของเงินรูเบิล ซึ่งผูกพันอยู่กับราคาน้ำมันอย่างเหนียวแน่น ได้ไหลฮวบลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีเมื่อแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
วันอังคาร (10 มี.ค.) อาจจะเป็นวันที่เลือดไหลนองลดน้อยลงมา โดยในช่วงเที่ยงวันตามเวลาของแถบเอเชีย เบรนต์ได้ดีดตัวกลับมาอยู่ในระดับ 36 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดการเงินทั่วโลกพากันสูญเสียหนักหน่วงภายหลังการพังครืนของราคาน้ำมันเช่นนี้ ทว่าพวกที่เจ็บหนักที่สุดนั้น ได้แก่เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย โดยที่ธนาคารแห่งรัฐของรัสเซีย อย่าง วีทีบี (VTB) และ สเบอร์แบงก์ (Sberbank) ราคาหุ้นลบหายไป 20% ในตลาดหุ้นของแ ถบยุโรปเมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) ส่วนยักษ์ใหญ่พลังงานแดนหมีขาว อย่าง รอสเนฟต์ (Rosneft) และ กาซปรอม (Gazprom) หล่นฮวบลง 22.5% และ 15.4% ตามลำดับ
เหตุผลวิธีคิดของฝ่ายรัสเซีย
ถึงแม้ราคาน้ำมันไหลดิ่งลงมาอย่างชวนช็อกเช่นนี้ แต่พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียยังคงแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า การก้าวออกมาจากข้อตกลงกับโอเปกนั้น เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และพวกเขาส่วนใหญ่ต่างพากันประณามหุ้นส่วนฝ่ายโอเปกของพวกเขาที่ปฏิเสธไม่ยอมประนีประนอมด้วย
ตามคำแถลงอย่างเป็นทางการฉบับหนึ่งระบุว่า ฝ่ายรัสเซียได้เสนอให้รักษาการตัดลดการผลิตที่ตกลงกันเอาไว้แล้วไปพลางก่อนจนกระทั่งถึงครึ่งหลังของปี 2020 “เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจกันให้ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและต่ออุปสงค์น้ำมันของโลก” อย่างไรก็ดี คำแถลงกล่าวต่อไปว่า “พวกหุ้นส่วนโอเปกของเรากลับตัดสินใจที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันและเริ่มต้นการสู้รบเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://government.ru/news/39112/)
ความเคลื่อนไหวของรัสเซียครั้งนี้ ได้รับการตีความอย่างกว้างขวางว่า เป็นมาตรการที่ผ่านการคาดคำนวณเอาไว้ก่อนแล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันไม่ให้พวกผู้ผลิตน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดาน (shale-oil) สัญชาติสหรัฐฯ สามารถช่วงชิงแย่งยึดส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นไปอีก
“พวกบริษัทสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโอเปกพลัส ต่างเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะเพิ่มการผลิต (เมื่อโอเปกพลัสลดการผลิตลง) นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่มีเหตุผลเอาเสียเลียเมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของผลประโยชน์ของรัสเซีย” มีฮาอิล เลออนตีฟ (Mikhail Leontiev) โฆษกของ รอสเนฟต์ ยักษ์ใหญ่รัฐวิสาหกิจน้ำมันของรัสเซีย กล่าว
รอสเนฟต์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมน้ำมันของรัสเซียประมาณ 40% ได้ส่งเสียงคัดค้านมานานแล้วไม่เห็นด้วยกับการตัดลดการผลิตของกลุ่มพันธมิตรโอเปกพลัส
ตามรายงานของ เดอะ เบลล์ (The Bell) สื่อด้านข่าวสารของรัสเซีย อีกอร์ เซชิน (Igor Sechin) ซีอีโอของรอสเนฟต์ ซึ่งเป็นคนสนิทใกล้ชิดคนหนึ่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กำลังพยายามล็อบบี้ด้วยตัวเองเพื่อให้รัสเซียถอนตัวออกจากข้อตกลงโอเปกพลัส เพื่อจะได้โจมตีเล่นงานพวกบริษัทผลิตน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดานของสหรัฐฯได้อย่างถนัดถนี่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://thebell.io/vot-sejchas-my-im-pokazhem-kak-kreml-razvyazal-tsenovuyu-vojnu-na-neftyanom-rynke/?utm_source=tg.daily&utm_medium=social&utm_campaign=tsenovaya-voyna-mezhdu-rossiey-i-saudovskoy )
ในความเห็นของเซชิน ราคาน้ำมันในระดับต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะเป็นราคาที่พวกผู้ผลิตน้ำมันแหล่งหินดินดาลของสหรัฐฯอยู่ไม่ได้ ทว่ารอสเนฟต์ยังสามารถที่จะผลิตน้ำมันออกมาด้วยราคาระดับดังกล่าว
อย่างที่บลูมเบิร์กรายงานเอาไว้ รอสเนฟต์ประกาศว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันของตนอีกราววันละ 300,000 บาร์เรล ในทันทีที่ข้อตกลงโอเปกพลัสฉบับปัจจุบันหมดอายุลงในวันที่ 1 เมษายน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-03-09/rosneft-plans-to-increase-output-as-russia-digs-in-for-price-war)
รัสเซียเตรียมพร้อมอยู่แล้ว
รัสเซียเป็นผู้ริเริ่มการสู้รบคราวนี้ขึ้นมา ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าวังเครมลินได้มีการคาดคำนวณต่างๆ ที่จำเป็นเอาไว้แล้ว และหลายๆ ฝ่ายยอมรับว่าพวกนโยบายแบบอนุรักษนิยมที่ปูตินเอาออกมาใช้ในระยะเวลาไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เป็นการเตรียมตัวให้รัสเซียมีความพรักพร้อมขึ้นมากสำหรับรับมือราคาน้ำมันขาลง
เมื่อปี 2014 ถึงปี 2016 ประเด็นปัญหาน้ำมันเป็นตัวนำพาให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียและตลาดหลักทรัพย์รัสเซียตกฮวบฮาบ จนนำไปสู่สภาพที่ผลผลิตและรายได้ทั่วประเทศต่างลดถอยลง ทว่าทุกวันนี้ แดนหมีขาวดูอยู่ในฐานะที่ดีขึ้นมาก รายได้ภาครัฐบาลจำนวนมากอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าการลดค่าของเงินรูเบิลกลับยิ่งสร้างความได้เปรียบ เวลาเดียวกันนั้น ยอดรายจ่ายทางงบประมาณก้อนสำคัญๆ ยังคงอิงอยู่กับเงินรูเบิล
อัตราเงินเฟ้อของรัสเซียกำลังอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ นี่หมายความว่าธนาคารกลางแดนหมีขาวอาจยินดีที่จะให้ขึ้นไปถึงระดับ 3.5 – 4%
ขณะเดียวกัน เซชินแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า เขาสามารถที่จะเบียดขับพวกผู้เล่นที่เป็นบริษัทน้ำมันแหล่งหินดินดาลอเมริกันได้ ทั้งนี้ตามความเห็นของนักวิเคราะห์บางราย นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าในการทำสงครามราคากับซาอุดีอาระเบีย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-opec-oil-policies/russia-vs-saudi-how-much-pain-can-they-take-in-oil-price-war-idUSKBN20W21S)
กล่าวคือ จุดคุ้มทุนในทางการคลัง (fiscal break even) ซึ่งหมายถึงระดับราคาน้ำมันที่ยังคงทำให้รักษาฐานะสมดุลของงบประมาณแผ่นดินเอาไว้ได้ ทั้งนี้ตามตัวเลขซึ่งเป็นที่นิยมเชื่อถืออ้างอิงกันมากนั้น จุดคุ้มทุนทางการคลังของรัสเซียจะอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นครึ่งเดียวของซาอุดีอาระเบียที่ต้องอยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามแนวทางการวิเคราะห์เช่นนี้หมายความว่า เมื่อพูดกันเรื่องการลดราคาน้ำมันให้ต่ำลงแล้ว มอสโกจะมีความสามารถในการหยุ่นตัวได้สูงกว่าริยาด และนั่นส่อเป็นนัยต่อไปด้วยว่า ฝ่ายซาอุดีจะเป็นฝ่ายที่ถูกบีบคั้นให้ต้องหวนกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาต่อรอง
พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียพากันแสดงความมั่นอกมั่นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ภายหลังราคาน้ำมันตกฮวบฮาบครั้งนี้
รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โนวัค (Alexander Novak) ประกาศว่า สถานการณ์ปัจจุบันในตลาดน้ำมัน กำลังสะท้อนถึงสิ่งที่ทางกระทรวงคาดการณ์เอาไว้แล้ว “อุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซียมีฐานทางทรัพยากรที่มีคุณภาพ และมีส่วนเกินเพื่อรักษาความปลอดภัยทางการเงินในปริมาณเพียงพอที่จะยังคงได้เปรียบในการแข่งขัน ณ ระดับราคาตามที่มีการคาดการณ์กันเอาไว้แล้ว” เขากล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://government.ru/news/39112/)
ทางด้านสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency ใช้อักษรย่อว่า IEA ) คาดหมายว่า อุปทานความต้องการด้านน้ำมันจะดีดตัวกลับคืนสู่ระดับปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นี้ –ซึ่งเป็นกำหนดเวลาที่ยังอยู่ภายในพื้นที่รับมือได้อย่างสบายของรัสเซีย
ตามตัวเลขข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลังรัสเซีย ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของแดนหมีขาวซึ่งรวบรวมสะสมเอาไว้ในกองทุนเพื่อการลงทุนภาครัฐ ที่มีชื่อว่า “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” (National Wealth Fund) มีปริมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 9.2% ของจีดีพีรัสเซีย อันเพียงพอสำหรับใช้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณถ้าหากราคาน้ำมันหล่นลงไปอยู่ในระดับ 25 – 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระยะเวลา 6 – 10 ปีทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.minfin.ru/ru/press-center/?id_4=36986-informatsionnoe_soobshchenie )
เวลาเดียวกันนั้น ธนาคารกลางของรัสเซียประกาศว่า จะระงับการขายเงินตราสกุลต่างประเทศในตลาดท้องถิ่นของรัสเซีย เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการลดแรงกดดันขาลงที่มีต่อเงินรูเบิล
การถดถอยอย่างยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ซึ่งมองการณ์ในแง่สดใสน้อยกว่านี้ โดยหยิบยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้ไม่มีอันไหนเลยซึ่งเพียงพอสำหรับการชดเชยในกรณีที่ราคาน้ำมันเกิดถดถอยบอย่างยืดเยื้อยาวนาน
“กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จะสามารถอุดหนุนชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปได้สักเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น” นี่เป็นความเห็นของ โอเล็ก วูย์กิน (Oleg Vyugin) ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ทื่ สถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์ (High School of Economics) ในกรุงมอสโก ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของบีบีซี ตามทัศนะของผู้เชี่ยวชาญรายนี้ หากราคาน้ำมันยังคงอยู่แถวๆ 30 ดอลลาร์ไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี 2020 เศรษฐกิจของรัสเซียก็จะประสบกับภาวะถดถอย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/russian/news-51800006)
ยังมี ดมิตริ มาร์เชนโค (Dmitry Marchenko) หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านน้ำมันและแก๊ส ที่ บริษัทเครดิตเรตติ้ง “ฟิตช์” (Fitch) ซึ่งมีความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองเดียวกัน เขาบอกกับ “เวโดมอสตี” (Vedomosti) หนังสือพิมพ์ธุรกิจของรัสเซียว่า การตัดสินใจของรัสเซียที่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงกับโอเปกคราวนี้ คือ “ความผิดพลาดครั้งใหญ่” ในทัศนะของมาร์เชนโค ผลด้านบวกต่างๆ ของการที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันจะเติบโตเพิ่มขึ้นนั้น “จะเหือดหายไปในท่ามกลางราคาที่กำลังหล่นฮวบลงมา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.vedomosti.ru/business/articles/2020/03/06/824696-opek)
นอกจากนั้นแล้ว เวลานี้ตลาดน้ำมันยังกำลังเผชิญหน้ากับ “หงส์ดำ” (black swan) เข้าตัวหนึ่ง นั่นคือ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” (ในโลกการเงิน หงส์ดำหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีใครคาดคิด และสร้างผลกระทบในวงกว้าง แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในภายหลัง ก็อาจจะพิจารณาหาคำตอบและหาทางคาดการณ์ต่อไปได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.investopedia.com/terms/b/blackswan.asp และ https://techsauce.co/tech-and-biz/black-swan -ผู้แปล) ซึ่งการคลี่คลายขยายตัวของมันยังแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายพยากรณ์กันในเวลานี้
อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นพ้องต้องกันว่า ผลงานของอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซีย ตลอดจนผลงานของเศรษฐกิจโดยรวมของรัสเซียในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะต้องขึ้นอยู่กับว่า โรคระบาดโควิด-19 จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อตลาดทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อจีน ที่เป็นหุ้นส่วนชั้นนำระดับโลกของรัสเซีย และเป็นประเทศซึ่งถูกไวรัสร้ายนี้เล่นงานหนักที่สุด ตามรายงานของ ไออีเอ อุปทานน้ำมันของทั่วโลกจะตกฮวบลงในปี 2020 ส่วนใหญ่ทีเดียวเนื่องจากผลกระทบของไวรัสที่มีต่อตลาดจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iea.org/reports/oil-market-report-march-2020)
ทั้งนี้มีการคาดการณ์สร้างฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์แบบเลวร้ายที่สุดกันขึ้นมา อย่างเช่นในความเห็นของพวกนักวิเคราะห์ที่รายงานโดยบลูมเบิร์ก พากันทำนายวา ถ้ารัฐบาลต่างๆ ของโลกล้มเหลวไม่สามารถสกัดกั้นวิกฤตไวรัสโคโรนาให้อยู่หมัดแล้ว รัสเซียก็มีความเสี่ยงที่จีดีพีของตนจะหดหายไปถึง 4.8% ภายในระยะเวลา 1 ปี และทุ่มเหวี่ยงเศรษฐกิจแดนหมีขาวให้จมลึกลงไปในภาวะถดถอย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://meduza.io/feature/2020/03/09/rubl-ruhnul-do-75-za-dollar-v-rossii-snova-krizis)