xs
xsm
sm
md
lg

‘ไอเอ็มเอฟ’ ยันเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ แล้วจากพิษ COVID-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
เอเจนซีส์ - คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยวานนี้ (27 มี.ค.) ว่าเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ ‘ภาวะถดถอย’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นผลจากแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ‘โควิด-19’ พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬารเพื่อป้องกันการล้มละลายของภาคธุรกิจและการผิดนัดชำระหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่

กอร์เกียวา ชี้ว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งลำพังเงินทุนสำรองและความสามารถในการกู้ยืมอาจจะไม่เพียงพอ

“เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเราได้เข้าสู่ภาวะถดถอยซึ่งอาจจะเลวร้ายพอๆ กับเมื่อปี 2009 หรือแย่กว่านั้น” กอร์เกียวา ระบุในงานแถลงข่าว

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกใช้เวลาฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากวิกฤตการเงินเมื่อช่วงปี 2008-2009 ผู้นำไอเอ็มเอฟเชื่อว่าคราวนี้เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2021 “หากเราสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสในทุกๆ พื้นที่ได้สำเร็จ และป้องกันไม่ให้วิกฤตสภาพคล่องลุกลามไปสู่การล้มละลาย”

จนถึงขณะนี้มี 81 ประเทศที่ร้องขอหรือสอบถามเกี่ยวกับการขอรับเงินทุนช่วยเหลือฉุกเฉินจากไอเอ็มเอฟ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มประเทศรายได้น้อย 50 ประเทศ และรายได้ปานกลางอีก 31 ประเทศ เช่น ปากีสถาน, กานา, อิหร่าน และคีร์กีซสถาน เป็นต้น

“เราทราบดีว่าทรัพยากรภายในประเทศของพวกเขาอาจจะไม่เพียงพอ” กอร์เกียวา ระบุ พร้อมยืนยันว่าไอเอ็มเอฟจะยกระดับมาตรการตอบสนอง “ให้มากขึ้น ดีขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา”

ทั้งนี้ ผู้นำหญิงไอเอ็มเอฟเคยประกาศเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ว่าพร้อมที่จะปล่อยกู้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กอร์เกียวา ยังกล่าวชื่นชมแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยระบุว่า “นี่คือสิ่งจำเป็นที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกต้องเผชิญการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อค่ำวานนี้ (27) โดยแพ็กเกจช่วยเหลือ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ถือว่าเป็นมาตรการบรรเทาทุกข์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สภาคองเกรสเคยอนุมัติมา ในนั้นรวมถึงเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สำหรับช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด และ 290,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับจ่ายเงินโดยตรงถึงชาวอเมริกันหลายล้านครอบครัว สูงสุดครอบครัวละไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์

เงินจำนวนนี้จะเป็นการจ่ายครั้งเดียวโดยตรงถึงชาวอเมริกันที่บรรลุนิติภาวะทั้งหมด และพลเมืองสหรัฐฯ ที่มีหมายเลขประกันสังคม โดยแบ่งเป็น 1,200 ดอลลาร์สำหรับคนโสดที่มีรายได้สูงสุดไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์ต่อปี และ 2,400 ดอลลาร์ สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีรายได้รวมกันไม่เกิน 150,000 ดอลลาร์ แต่จะได้เพิ่มอีก 500 ดอลลาร์ต่อบุตรหนึ่งคน

นอกจากนี้แล้ว แพ็กเกจดังกล่าวจะจัดสรรเงิน 350,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะให้ธุรกิจขนาดเล็กกู้ยืม 250,000 ล้านดอลลาร์สำหรับขยายความช่วยเหลือแก่คนว่างงาน และอีกอย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์ที่จะมอบแก่โรงพยาบาลทั้งหลายและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น