(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Trump is the real threat to the West not Huawei
by George Koo
19/02/2020
ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงแรงพยายามอย่างหนักที่จะกล่าวหาว่า เครือข่าย 5 จีของ หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทเลคอมสัญชาติจีน จะบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติ ทว่าดูจะไม่มีใครรับฟังข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยเช่นนี้
แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เดินทางไปยังเมืองมิวนิก ทางตอนใต้ของเยอรมนี เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมกับคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมปป์ ในการรุมเล่นงานโจมตี หัวเว่ย บริษัทด้านสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน เธอบอกกับเวทีการประชุมระหว่างประเทศที่นั่นว่า 5จี (เทคโนโลยีสื่อสารเจเนอเรชั่นที่ 5) ของหัวเว่ย เป็นเครื่องมือบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติ, คุกคามสิทธิมนุษยชนและค่านิยมต่างๆ ทางประชาธิปไตย, รวมทั้งแย่งยึดริบเอาความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจไป
มาดาม ฟู่ อิง (Fu Ying) อดีตรองรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ซึ่งอยู่ในหมู่ผู้ฟังผู้เข้าร่วมการประชุมความมั่นคงแห่งมิวนิก (Munich Security Conference) ครั้งที่ 56 คราวนี้ด้วย ได้ชี้ให้ เปโลซี เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศของเธอได้อิมพอร์ตนำเข้าเทคโนโลยีทุกอย่างทุกประเภทจากพวกประเทศตะวันตก และไม่เคยเลยที่รู้สึกว่าถูกคุกคามจากการใช้เทคโนโลยีต่างประเทศเหล่านี้
ฟู่ ตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัทเพียงแค่แห่งหนึ่งแห่งเดียวจึงสามารถที่จะกลายเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยตะวันตกได้มหาศาลถึงขนาดนั้น? คุณต้องมีความมั่นอกมั่นใจน้อยนิดเหลือเกินในเสถียรภาพของรัฐบาลของคุณเองนั่นแหละจึงจะสามารถวิตกกังวลได้ถึงเพียงนั้น เธอกล่าวเสนอแนะ
คำตอบอย่างค่อนข้างละล่ำละลักจาก เปโลซี ก็คือว่า หัวเว่ยเป็นมากกว่าแค่บริษัทเพียงแห่งหนึ่งแห่งเดียว โดยที่บริษัทนี้ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพปลดแอกประชาชนอันเกรียงไกรอีกด้วย นี่คือข้อกล่าวหาที่ชอบหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างแพร่หลายบ่อยครั้งซึ่งอิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ครั้งหนึ่งเคยเป็นนายทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เขาได้ออกจากกองทัพและก่อตั้งหัวเว่ยขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว กระนั้นอดีตของเขาก็ยังถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เล่นงานเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง
การขุดคุ้ยพวกข้อกล่าวหาเก่าๆ และรุมโยนใส่หัวเว่ย แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังกระทำอยู่ ในการสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้แก่การกล่าวหาบริษัทแห่งนี้ว่ากระทำความผิดอันชั่วร้ายต่างๆ นานา โดยที่บางอย่างฟังแล้วก็ให้รู้สึกว่าน่าขบขัน เป็นต้นว่า ระบุว่าหัวเว่ยทำตัวเป็นแก๊งฉ้อโกงต้มตุ๋น (racketeering) แม้กระทั่งคดีพิพาทฟ้องร้องเก่าๆ กับบริษัทซิสโก้ (Cisco) เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ซึ่งได้มีการตกลงยอมความกันไปนมนานแล้ว ก็ยังถูกเปิดฝาโลงแงะงัดกันขึ้นมาใช้โจมตีหัวเว่ย
หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทนานาชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่กำลังทำธุรกิจมูลค่าสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จู่ๆ จึงกลายเป็นบริษัทบังหน้าของพวกแก๊งฉ้อโกงต้มตุ๋นไปเสียฉิบ นี่แหละคือสิ่งที่พวกเราถูกคาดหวังว่าควรจะต้องเชื่อถือ
เห็นได้ชัดทีเดียวว่า นี่คืองานฝีมือประดิษฐ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency หรือ CIA) ผู้กล่าวยอมรับในระหว่างการไปพูดที่มหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม รัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2019 ว่า “เราโกหก, เราคดโกง, เราโจรกรรม” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=qfrhATD4nM0) ในมิวนิก เขาเรียก หัวเว่ย ว่าเป็นม้าไม้เมืองทรอยของจีนซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะบ่อนทำลายอธิปไตยของรัฐบาลในทุกๆ ระดับในยุโรป
แน่นอนว่า ไม่มีประเทศไหนอีกแล้วที่รู้ดียิ่งกว่าสหรัฐฯเกี่ยวกับวิธีการในการโจรกรรมข่าวกรองจากชาติอื่นๆ อย่างที่มีรายงานข่าวในวอชิงตันโพสต์ว่า ซีไอเอเป็นเจ้าของร่วมอย่างลับๆ ในบริษัท “คริปโต เอจี” (Crypto AG) ผู้พัฒนาและผู้ผลิตอุปกรณ์เข้ารหัสซึ่งเข้าสู่ตลาดเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว และจำหน่ายไปยัง 120 ประเทศทั่วโลก อุปกรณ์ของ คลิปโต นี่แหละได้นำเอาไปใช้ในการเข้ารหัสรับส่งข้อมูลข่าวสารลับสุดยอดภายในของพวกประเทศเหล่านี้ [1]
สิ่งที่พวกประเทศผู้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งบางรายเป็นเพื่อนมิตรของอเมริกา ไม่ทราบกันเอาเลยก็คือว่า ซีไอเอกำลังอ่านข้อมูลข่าวสารลับที่กำลังรับส่งของพวกเขา ในเวลาเดียวกันกับที่พวกเขาได้รับกันทีเดียว
ฝ่ายอเมริกันมีความรู้เป็นอย่างดีในเรื่องวิธีการโจรกรรมข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นคุณจึงอาจไม่อยากประณามพวกเขาที่กำลังระแวงสงสัยคนอื่นๆ อย่างเช่นจีน ว่าจะกำลังกระทำอย่างเดียวกับที่พวกเขาทำอยู่
พอมเพโอกำลังใช้ความพยายามมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการโทรศัพท์พูดจากับพวกผู้นำของประเทศต่างๆ เพื่อชักจูงโน้มน้าวพวกเขาไม่ให้ยอมรับ 5จี จากหัวเว่ยมาใช้งาน แต่ดูเหมือนว่าชื่อเสียงเกียรติภูมิอันลือฉาวของเขาได้ทอดเงาทะมึนนำหน้าตัวเขาเองด้วยซ้ำไป และการคะยั้นคะยอของเขาจึงแทบไม่ค่อยมีใครรับฟัง ผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับหากปักหลักไปด้วยกันกับ หัวเว่ย รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอันสมบูรณ์สำเร็จรูปแล้วของบริษัทจีนแห่งนี้ ดูจะมีน้ำหนักมากกว่าผลดีต่างๆ ที่จะได้จากการกระทำตามการเกลี้ยกล่อมของพอมเพโอ
ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น อย่างที่ เดวิด โกลด์แมน (David Goldman) นักเขียนของเอเชียไทมส์ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ที่จะต้องยิ่งลงแรงเพิ่มความพยายามบรรยายพรรณนาความชั่วร้ายต่างๆ ทุกๆ อย่างเท่าที่สามารถนึกคิดจินตนาการกันออกมาได้ มากระหน่ำใส่ หัวเว่ย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/02/why-the-us-is-losing-its-war-against-huawei/) บทวิเคราะห์ของโกลด์แมนยังสรุปด้วยว่า การรณรงค์ของฝ่ายอเมริกันที่จะปราบปรามกวาดล้าง หัวเว่ย นั้น กำลังประสบความล้มเหลวอย่างชัดเจน
บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ของ โกลด์แมน ยังระบุอ้างอิงว่า ทีมทรัมป์ยังกำลังพิจารณาที่จะห้ามการขายเครื่องยนต์ไอพ่นของ จีอี ให้แก่จีน เพื่อใช้ในเครื่องบินโดยสารไอพ่นทางการพาณิชย์ที่แดนมังกรกำลังพัฒนาอยู่ มองกันในระยะสั้นแล้ว เรื่องนี้จะทำลายแผนการของจีนในการมุ่งแข่งขันชิงชัยกับ แอร์บัส และ โบอิ้ง
ทว่าก็อย่างที่เอเชียไทมส์ได้ชี้เอาไว้ให้เห็น ความหายนะทางเศรษฐกิจที่จะบังเกิดขึ้นมานั้น จะเป็นสิ่งซึ่งต้องเจอกันทั้งสองฝ่าย จากการถูกเพิกถอนสิทธิที่จะเข้าสู่ตลาดจีนเช่นนี้ ผลตอบแทนของ จีอี จากการลงทุนของตนในการพัฒนาดีไซน์เครื่องยนต์อันก้าวหน้า ก็จะต้องหดหายไปอย่างมหาศาล
ในเวลาเดียวกัน จีนก็จะถูกบีบบังคับให้ต้องหาทางเป็นหุ้นส่วนจัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์ขึ้นมาในรัสเซียหรือไม่ก็ยูเครน หรือบางทีอาจแสวงหาข้อตกลงกับหุ้นส่วนชาวฝรั่งเศสของ จีอี เลยด้วยซ้ำ และไม่ว่ามันจะต้องใช้เวลายาวนานเท่าใด ในท้ายที่สุดจีนก็จะกลายเป็นคู่แข่งรายหนึ่ง และช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดเครื่องยนต์เครื่องบินไอพ่น
เวลาเดียวกันนั้น จีนจะซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสเพิ่มมากขึ้น และหากยังไม่ถึงกับเลิกซื้อจาก โบอิ้ง ไปเลย ก็จะซื้อหาลดน้อยลงไป --นี่เป็นการตอบโต้อย่างชัดเจนต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน
กระบวนวิธีทำนองเดียวกันนี้ได้เคยถูกนำมาใช่เล่นงาน หัวเว่ย และ แซดทีอี ซึ่งได้แก่การออกข้อจำกัดการขายส่วนประกอบสำคัญๆ ของเซมิคอนดักเตอร์ ที่อเมริกันเป็นผู้ผลิต ไปให้แก่พวกบริษัทจีนที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ 2 รายนี้
การณ์กลับกลายเป็นว่า สหรัฐฯได้บังคับให้ หัวเว่ย ต้องพัฒนา ชิปเซ็ต และ กราฟฟิกโปรเซสเซอร์ ของตนเองขึ้นมา ผลต่อเนื่องระยะยาวก็คือโอกาสความเป็นไปได้ที่พวกซัปพลายเออร์อเมริกันดั้งเดิมจะต้องสูญเสียยอดขายลงอย่างสำคัญ และกระทั่งพวกเขาอาจถูกเบียดขับให้ต้องออกจากธุรกิจไปเลยด้วยซ้ำ
ทีมเรื่องจีนของทรัมป์นั้น ถ้าหากไม่โง่เขลาก็เป็นพวกที่มีชีวิตอยู่ในอดีตกาลนานไกล ถ้าหากพวกเขาคิดว่าความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีของอเมริกายังคงสามารถที่จะกดจีนให้จมอยู่ใต้น้ำได้ต่อไป สำหรับชาติอื่นๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมิตรหรือเป็นพวกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต่างมีทัศนะที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า และกำลังเคลื่อนไหวโยกย้ายออกมาจากแวดวงเขตอิทธิพลของสหรัฐฯ เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ต้องรู้สึกช็อกไม่ใช่เล่นทีเดียว ตอนที่ฟิลิปปินส์ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะยุติการร่วมมือประสานงานกับกองทัพเรือสหรัฐฯ
ตั้งแต่ที่ เปโลซี ซึ่งเวลานั้นยังเป็น ส.ส.หน้าใหม่ในสภา ชูธงประกาศเชิดชูสิทธิมนุษยชนในกรณีการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1992 เธอก็มีแรงจูงใจอันซ่อนเร้นของเธอเองในการมุ่งเล่นงานต่อต้านจีน อย่างไรก็ดี การก้าวขึ้นนอนบนเตียงเดียวกันกับทรัมป์ในเรื่องจีนนั้นดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาดอย่างเลวร้ายยิ่ง ดังที่ ฟู่ อิง ได้ตั้งคำถามที่มิวนิกว่า ทำไม เปโลซี จึงต้องการที่จะสวมกางเกงตัวเดียวกันกับทรัมป์?
เปโลซีต้องไม่ลืมว่า ชายที่ปัจจุบันพำนักอาศัยอยู่ในทำเนียบขาวผู้นี้แหละ คือผู้นำซึ่งมุ่งมั่นที่จะฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ คือผู้ที่มองตนเองว่าอยู่เหนือกฎหมาย และพยายามที่จะปกป้องไม่ให้พรรคพวกบริวารซึ่งชั่วร้ายของเขาต้องติดคุก ไม่มีใครอีกแล้วที่เป็นภัยคุกคามอันใหญ่โตมโหฬารต่อเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐอเมริกายิ่งไปกว่า โดนัลด์ ทรัมป์
แน่นอน เปโลซีต้องเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่าอะไรคือเดิมพันที่วางพนันกันอยู่ในเวลานี้ และการเลือกที่จะโจมตีเล่นงานจีน แทนที่จะทุบกระหน่ำความประพฤติชั่วร้ายต่างๆ ของทำเนียบขาวของทรัมป์นั้น ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรอก
หมายเหตุผู้แปล
เรื่องราวพฤติการณ์ของบริษัทคริปโต เอจี สำนักข่าวเอเอฟพีมีรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้
‘สายลับสหรัฐฯ-เยอรมัน’เจาะล้วงจากความลับทั่วโลกผ่านบริษัทเข้ารหัสสัญชาติสวิส
โดย สำนักข่าวเอเอฟพี
US, German spies plundered global secrets via Swiss encryption firm: report
By AFP
12/02/2020
สำนักงานข่าวกรองของสหรัฐฯและของเยอรมนี สามารถสืบเสาะเจาะเข้าไปในการสื่อสารลับสุดยอดของรัฐบาลชาติต่างๆ รอบโลกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี โดยอาศัยการที่พวกเขาแอบควบคุมบริษัทเข้ารหัสลับระดับท็อปแห่งหนึ่ง ซึ่งก็คือ บริษัทคริปโต เอจี (Crypto AG) ทั้งนี้ตามการเสนอข่าวของสื่อทั้งจากสหรัฐฯ, เยอรมนี, และสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
คริปโต เอจี ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสวิตเซอร์แลนด์ เป็นซัปพลายเออร์ระดับท็อปในเรื่องเครื่องอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารแบบเข้ารหัสลับ โดยนับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงตอนเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ ได้ขายเครื่องชนิดนี้ให้แก่ประเทศต่างๆ ประมาณ 120 ประเทศ รวมไปถึงอิหร่าน, ชาติในอเมริกาใต้, ตลอดจนอินเดีย และปากีสถาน
รัฐบาลเหล่านี้ไม่เคยทราบเลยว่า ผู้เป็นเจ้าของบริษัทคริปโตร่วมกันอย่างลับๆ ก็คือ สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (US Central Intelligence Agency หรือ CIA) และ สำนักงานข่าวกรองสหพันธรัฐ BRD (BND Federal Intelligence Service) ของเยอรมนี
พวกเขาได้ร่วมกันใช้แผนการกลวิธี ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเจาะรหัสลับที่เครื่องของคริสโตเข้ารหัสเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย และอ่านข่าวสารทั้งหลายซึ่งรัฐบาลนั้นๆ ส่งผ่านไปมา รายงานข่าวหลายชิ้นซึ่งจัดทำโดย วอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ, สถานีโทรทัศน์เยอรมนี แซดทีอี, และ เอสอาร์เอฟ สื่อภาครัฐของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุ
“ความสำเร็จยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ”
รายงานข่าวเหล่านี้ระบุว่า ตอนช่วงทศวรรษ 1980 ดอกผลที่เก็บเกี่ยวได้จากเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ของคริปโต มีสัดส่วนอย่างคร่าวๆ เป็นประมาณ 40% ของการสื่อสารของต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งพวกนักแกะรหัสของสหรัฐฯนำมาเข้ากระบวนการเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นข่าวกรอง ทั้งนี้รายงานข่าวเหล่านี้ได้อ้างอิงเอกสารว่าด้วยประวัติศาสตร์ภายในของซีไอเอที่ยังถือเป็นความลับอยู่ ซึ่งได้กล่าวถึงการปฏิบัติการที่ตอนต้นใช้ชื่อว่า การปฏิบัติการ “ธีซอรัส” (Thesaurus) แล้วต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า “รูบิคอน” (Rubicon)
ปรากฏว่าเวลาเดียวกันนั้นเอง คริปโต เอจี ยังสามารถทำกำไรได้เป็นหลายล้านดอลลาร์ ซึ่งไหลเข้าสู่กระเป๋าของ ซีไอเอ และบีเอ็นดี
“มันการความสำเร็จยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษของการดำเนินการทางด้านข่าวกรองทีเดียว” เอกสารประวัติศาสตร์ดังกล่าวระบุ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์
“พวกรัฐบาลต่างประเทศกำลังจ่ายเงินดีๆ ซึ่งนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ให้แก่สหรัฐฯและเยอรมันตะวันตก เพื่ออภิสิทธิ์ของการที่การสื่อสารระดับลับที่สุดของพวกเขาจะถูกอ่านโดยประเทศอื่นอย่างน้อยที่สุด 2 ราย (และเป็นไปได้ว่า มากที่สุดอาจจะเป็น 5 หรือ 6 ประเทศ)
เมื่อถูกสอบถามขอความเห็น บีเอ็นดีไม่ได้แสดงปฏิกิริยาในทันทีใดๆ ต่อรายงานข่าวนี้ ขณะที่โฆษกของซีไอเอ ทิโมธี แบร์เรตต์ (Timothy Barrett) ปฏิเสธไม่ขอให้ความคิดเห็น
เครื่องเข้ารหัสแบบพกพา
คริปโต เอจี ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการที่กำเนิดในรัสเซีย ผู้มีนามว่า บอริส ฮาเจลิน (Boris Hagelin) เขาหลบหนีจากสแกนดิเนเวียไปยังสหรัฐฯในปี 1940 เมื่อพวกนาซีเข้ายึดครองนอร์เวย์
เขาได้จัดสร้างเครื่องกลเข้ารหัสแบบเคลื่อนย้ายพกพาได้ขึ้นมาเครื่องหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในภาคสนามได้ แล้วระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการผลิตเครื่องเช่นนี้จำนวนราว 140,000 เครื่องให้แก่พวกทหารสหรัฐฯ โดยผู้ผลิตคือ บริษัทผลิตพิมพ์ดีด สมิธ โคโรนา (Smith Corona) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในนิวยอร์ก
ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ฮาเจลินได้โยกย้ายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ และเริ่มต้นการผลิตเครื่องเข้ารหัสที่มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งทำให้พวกสายลับอเมริกันวิตกกังวลว่า มันจะเปิดทางให้รัฐบาลในทุกหนทุกแห่งสามารถปกป้องการสื่อสารต่างๆ ของพวกเขา จนซีไอเอเจาะเข้าไปไม่ได้
แต่แล้ว วิลเลียม ฟรีดแมน (William Friedman) แห่งสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Security Agency หรือ NSA) ซึ่งถือเป็นนักวิทยาการเข้ารหัสคนสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ได้เกลี้ยกล่อมโน้มน้าวฮาเจลินให้จำกัดการขายเครื่องรุ่นก้าวหน้าที่สุดของเขา เฉพาะแก่พวกประเทศซึ่งได้รับอนุมติจากวอชิงตันเท่านั้น ขณะที่เครื่องรุ่นเก่ากว่า (ซึ่งสามารถแอบเจาะรหัสได้) จะขายให้แก่ชาติอื่นๆ
กีดกันฝรั่งเศสออกไป
เมื่อถึงช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่ง แผงวงจรรวม (integrated circuits) เข้าแทนที่การเข้ารหัสแบบเครื่องกล ทาง NSA ได้ช่วยเหลือ ฮาเจลิน ในการออกแบบเครื่องรุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีการเข้ารหัสที่พวกนักวิทยาการเข้ารหัสของสหรัฐฯทราบวิธีที่จะเจาะเข้าไป
ครั้นถึงเวลาที่ ฮาเจลิน ต้องการที่จะเกษียณอายุตนเอง สหรัฐฯก็เข้าขัดขวางความพยายามของรัฐบาลฝรั่งเศสที่จะซื้อบริษัทคริปโต เอจี และหาทางดำเนินการเทคโอเวอร์เอาไว้เสียเอง
ในปี 1970 สหรัฐฯกับเยอรมนีบรรลุข้อตกลงที่จะเข้าครอบครองบริษัทแห่งนี้ในราคา 5.75 ล้านดอลลาร์ โดยที่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องกีดกันฝ่ายฝรั่งเศสออกไป
ครั้นแล้วพวกเขาก็เข้าควบคุมการดำเนินงานทั้งหมดของ คริปโต เอจี ในทางเป็นจริง และจัดแจงว่าจ้างพนักงาน, ออกแบบเทคโนโลยี, และดำเนินการจำหน่าย
อันที่จริง การปฏิบัติการหาข่าวกรองซึ่งซ่อนอยู่เบื้องลึกของ คริปโต เอจี ที่ตั้งสำนักงานอยู่ในเมืองซุก (Zug) ได้ถูกสงสัยมานานแล้ว รวมทั้งถูกพูดพาดพิงเป็นนัยๆ ทว่าไม่เคยมีใครสามารถพิสูจน์ให้เห็นความจริง ทั้งนี้ตามเอกสารต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าของแท้ทรูของบริษัทก็ถูกสวมแมสก์ปกปิดไว้โดยบริษัทบังหน้าหลายแห่งซึ่งจดทะเบียนที่ลิกเตนสไตน์
เวลาเดียวกัน ถึงแม้มีหลายสิบประเทศซื้อเครื่องเข้ารหัสของคริปโตมาใช้งานกัน แต่พวกศัตรูตัวท็อปของฝ่ายตะวันกอย่าง รัสเซีย และจีน กลับไม่เคยไว้วางใจเครื่องของบริษัทแห่งนี้เลย
ดูเหมือนด้วยความหงุดหงิดว้าวุ่นใจว่ากำลังถูกเปิดโปงความจริง รวมทั้งรู้สึกไม่สบายใจกับวิธีการของซีไอเอซึ่งมีความแข็งกร้าวกระตือรือร้นในการใช้การขายเครื่องคริปโตเข้าเจาะล้วงความลับไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายที่เป็นมิตรหรือฝ่ายที่เป็นศัตรู บีเอ็นดีจึงได้ถอนตัวออกไปจากสายสัมพันธ์นี้ โดยที่ซีไอเอเข้าซื้อหุ้นส่วนที่เป็นของฝ่ายเยอรมนีเอาไว้ในช่วงทศวรรษ 1990
แบรนด์ ชมิดบาวเออร์ (Bernd Schmidbauer) อดีตผู้ประสานงานด้านสืบราชการลับให้แก่รัฐบาลเยอรมนี ได้ยืนยันกับโทรทัศน์แซดทีอีว่า ข่าวเรื่องนี้เป็นความจริง
“เห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติการรูบิคอน มีคุณูปการแก่การทำให้โลกมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” เขากล่าว
กลายเป็นของล้าสมัยเมื่อแข่งกับ “แอปป์” ไม่ได้
เมื่อถึงยุคปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งมีทั้งพวกแอปป์เข้ารหัสที่ก้าวหน้า และทรงพลังยิ่งกว่าเครื่องจักรไม่ว่ารุ่นไหนก็ตามที่ คริปโต เอจี เคยผลิตออกมา ในที่สุดซีไอเอจึงตัดสินใจขายบริษัทนี้ทิ้งไปในปี 2018 รายงานของวอชิงตันโพสต์ระบุ
หลังจากนั้นมันก็ถูกแยกออกมาเป็น 2 บริษัท โดยธุรกิจส่วนที่ลูกค้าเป็นชาวสวิส ยังคงอยู่ในเมืองซุก ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “ไซวัน” (CyOne) แต่สำหรับธุรกิจระหว่างประเทศและชื่อบริษัทเดิม ได้ถูกเทคโอเวอร์โดย อันเดียรส ลินเด (Andreas Linde) นักลงทุนชาวสวีเดน
บริษัทสวีเดนดังกล่าว ซึ่งเวลานี้ใช้ชื่อว่า คริปโต อินเตอร์เนชั่นแนล (Crypto International) พูดถึงรายงานข่าวที่ถูกเสนออกมาครั้งนี้ว่า “ทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง”
“เวลานี้เราไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับ ซีไอเอ หรือ บีเอ็นดี และในอดีตเราก็ไม่เคยมีความเชื่อมโยงใดๆ ทั้งสิ้น” บริษัทนี้ระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของตน
“ขณะนี้เรากำลังประเมินสถานการณ์ และจะออกมาแสดงความเห็นในทันทีที่เรามีภาพซึ่งสมบูรณ์แล้ว”
สำหรับ แคโรไลนา โบห์เรน (Carolina Bohren) โฆษกของกระทรวงกลาโหมสวิตเซอร์แลนด์ แถลงว่ารัฐบาลได้รับแจ้งเรื่องราวของคริปโต เอจี มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และได้แต่งตั้งผู้พิพากษาส่วนกลางของสวิสที่เกษียณอายุแล้วผู้หนึ่งเข้าสอบสวนเรื่องนี้ เวลาเดียวกันนั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังได้ระงับใบอนุญาตส่งออกของพวกบริษัทที่เป็นทายาทของคริปโต เอจี
“เหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเป็นปัญหากันนี้ เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1945 และมาถึงวันนี้ก็มีความยากบลำบากที่จะประติดประต่อเรื่องขึ้นมาใหม่ หรือที่จะตีความกัน” โบห์เรน กล่าว
(อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.timesofisrael.com/us-german-spies-plundered-global-secrets-via-swiss-encryption-firm-report/ )