อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ คว้าชัยชนะครั้งใหญ่ในศึกเลือกตั้งขั้นต้น “ซูเปอร์ทิวสเดย์” เมื่อวันอังคารที่ 3 มี.ค. พลิกสถานการณ์จากที่เคยทำผลงานได้ย่ำแย่ในสนามเลือกตั้งรัฐแรกๆ กลับมาเป็นตัวเต็งที่มีโอกาสคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ ขณะที่มหาเศรษฐีคนดัง ไมเคิล บลูมเบิร์ก แพ้ราบคาบและตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขันไปอีกราย
แคมเปญหาเสียงของ ไบเดน ส่อแววซวนเซหลังจากที่แพ้ถึง 3 รัฐรวดในการหยั่งเสียงขั้นต้นเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกวัย 78 ปี ซึ่งชนะที่นิวแฮมป์เชียร์และเนวาดากวาดจำนวนผู้แทนลงคะแนน (delegates) ได้มากที่สุดในเวลานั้น กระทั่ง ไบเดน มาตีตื้นเก็บชัยชนะได้เซาท์แคโรไลนา และผลหยั่งเสียงซูเปอร์ทิวสเดย์ซึ่งเป็นการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมกัน 14 รัฐและอีก 1 ดินแดนในวันเดียวก็ยิ่งช่วยให้อดีตรองประธานาธิบดีในยุค บารัค โอบามา กลับมาผงาดในฐานะผู้สมัครเต็งหนึ่งของเดโมแครต
ด้วยแรงสนับสนุนจากชาวอเมริกันผิวสีซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของเดโมแครต รวมถึงผู้ออกเสียงสายกลางและคนวัยผู้ใหญ่ ไบเดนกวาดชัยชนะในการหยั่งเสียงรอบนี้รวมทั้งสิ้น 10 รัฐ ได้แก่ เวอร์จิเนีย, นอร์ทแคโรไลนา, แอละแบมา, โอกลาโฮมา, เทนเนสซี, อาร์คันซอ, แมสซาชูเซตส์, มินนิโซตา, เมน รวมถึง ‘เทกซัส’ ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่มีสัดส่วนผู้แทนลงคะแนน 228 คน ขณะที่ แซนเดอร์ส แม้จะชนะเพียง 4 รัฐแต่ก็คว้าเพชรยอดมงกุฎอย่าง ‘แคลิฟอร์เนีย’ ซึ่งมีผู้แทนออกเสียงมากที่สุด 415 คนไปได้ รวมถึงโคโลราโด, ยูทาห์ และเวอร์มอนต์ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของเขาเอง
“มันช่างเป็นค่ำคืนที่ดี และดูเหมือนว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เสียแรงที่ถูกขนานนามว่าซูเปอร์ทิวสเดย์” ไบเดน กล่าวต่อผู้สนับสนุนที่นครลอสแองเจลิส
การเข้าสู่สนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คราวนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 สำหรับ ไบเดน ซึ่งเคยพ่ายแพ้มาแล้วในปี 1988 และ 2008 เขาประกาศว่าตนเองคือผู้ที่จะนำพาสหรัฐอเมริกากลับสู่ “ความดีงาม” (decency) และ “ทางสายกลาง” อีกครั้ง หลังจากที่ถูกครอบงำด้วยนโยบายประชานิยมขวาจัดของ ทรัมป์ และเผชิญเรื่องอื้อฉาวซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
14 รัฐและ 1 ดินแดนที่จัดการหยั่งเสียงในวันที่ 3 มี.ค. มีจำนวนผู้แทนลงคะแนนรวมกันมากถึง 1,357 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ซึ่งจากการคำนวณผู้แทนลงคะแนนคร่าวๆ หลังศึกซูเปอร์ทิวสเดย์พบว่า ไบเดน ก้าวขึ้นมาเป็นฝ่ายนำ แซนเดอร์ส อยู่ราว 566 ต่อ 501 คน
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนลงคะแนนอย่างน้อย 1,991 คน เพื่อให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรคที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ค.
ไบเดน ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ‘เอสแทบลิชเมนต์’ ภายในพรรคเดโมแครต และยังได้แรงเชียร์จากอดีตผู้สมัครสายกลางอย่าง เบโต โอรูร์ค, เอมี โคลบูชาร์ และ พีท บุตติเจจ ซึ่งตัดสินใจถอนตัวออกจากการแข่งขันไปก่อนหน้านี้
ผลเลือกตั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียบ่งบอกว่า ไบเดน อาจจะยังเข้าไม่ถึงฐานเสียงชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกมากเท่าที่ควร ทว่าชัยชนะที่เทกซัสซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหลากหลาย รวมถึงอีก 5 รัฐทางตอนใต้ ก็สะท้อนว่าอดีตประธานาธิบดีผู้นี้มีศักยภาพพอที่จะดึงดูดฐานเสียงในวงกว้างได้
แซนเดอร์ส ฉลองความสำเร็จที่น่าพอใจของตัวเองด้วยการออกมาโจมตี ทรัมป์ ว่าเป็น “ประธานาธิบดีที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ” แถมยังขุดคุ้ยเรื่องที่ ไบเดน เคยสนับสนุนให้อเมริกาบุกอิรักเมื่อปี 2002 และยังได้รับเงินทุนอุดหนุนจากพวกมหาเศรษฐี
“เราจะต้องคว่ำพวกนักการเมืองสายเอสแทบลิชเมนต์ คุณไม่ทางชนะ ทรัมป์ ได้ถ้ายังพึ่งพาการเมืองแบบเก่าๆ อยู่” แซนเดอร์ส กล่าว
ด้าน ไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์กวัย 78 ปี ประกาศยุติการหาเสียงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันพุธ (4) พร้อมบอกว่าจะหันไปสนับสนุน โจ ไบเดน เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต หลังพ่ายแพ้ยับเยินใน 14 รัฐที่จัดเลือกตั้ง และได้เพียงดินแดน ‘อเมริกันซามัว’ มาเป็นรางวัลปลอบใจ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวที่น่าผิดหวังสำหรับมหาเศรษฐีคนดังซึ่งยอมทุ่มเงินถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 15,000 ล้านบาทซื้อโฆษณาปูพรมทั่วประเทศ
การถอนตัวของ บลูมเบิร์ก ช่วยให้ ไบเดน ประสบความสำเร็จในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพวกสายกลางเพื่อเปลี่ยนการแข่งขันหลายขั้วไปสู่การชิงชัยแบบตัวต่อตัวกับ เบอร์นี แซนเดอร์ส
ไบเดน ได้ทวีตข้อความขอบคุณ บลูมเบิร์ก ที่ให้การสนับสนุนตน พร้อมระบุว่า “การแข่งขันครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าตัวผู้สมัครและยิ่งใหญ่กว่าการเมือง เพราะมันคือการเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะทำได้”
เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกสายลิเบอรัลผู้คาดหวังจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ก็ทำผลงานได้ย่ำแย่ และได้คะแนนเป็นที่ 3 แม้กระทั่งในแมสซาชูเซตส์ซึ่งเป็นรัฐของเธอเอง ล่าสุดมีคำยืนยันจากผู้ช่วยของเธอว่า วอร์เรน กำลังปรึกษากับทีมงานว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
ทั้งนี้ คาดว่าผู้สนับสนุน วอร์เรน จะหันไปเทคะแนนให้กับ แซนเดอร์ส หาก ส.ว.หญิงตัดสินใจถอนตัว
ทรัมป์ ซึ่งติดตามผลการหยั่งเสียงทางโทรทัศน์ได้ทวีตข้อความเยาะเย้ย วอร์เรน ที่แพ้ในบ้านตัวเอง และยังบอกด้วยว่า แซนเดอร์ส คงจะทำผลงานในซูเปอร์ทิวสเดย์ได้ดีกว่านี้หากไม่มี วอร์เรน มาแย่งคะแนน ขณะที่ ไบเดน ทวีตท้าท้ายผู้นำสหรัฐฯ ว่า “รอเจอกันเดือน พ.ย. เราจะทำให้คุณพ่ายแพ้”
แกนนำเดโมแครตหลายคนพยายามสกัด แซนเดอร์ส ไม่ให้คว้าตัวแทนพรรคได้สำเร็จ เนื่องจากเชื่อว่า ส.ว.หัวเอียงซ้ายผู้นี้ไม่มีโอกาสที่จะชนะทรัมป์ และยังอาจตกเป็นเป้าให้ผู้นำสหรัฐฯ โจมตีว่าเป็นพวกสังคมนิยมที่จะเข้ามาทำลายวิถีอเมริกันชน
การหยั่งเสียงขั้นต้นของพรรคเดโมแครตจะยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้ โดยการแข่งขันรอบต่อไปจะเกิดขึ้นที่รัฐไอดาโฮ มิชิแกน มิสซิสซิปปี มิสซูรี นอร์ทดาโกตา และวอชิงตันในวันที่ 10 มี.ค. ตามมาด้วยการหยั่งเสียงใน 11 รัฐในช่วงปลายเดือน