xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : อเมริกามีหวังเจอ ‘ระเบิดเวลา’ ถ้า ‘โควิด-19’ เกิดระบาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ป่วยคนหนึ่งถูกนำขึ้นเปลไปยังรถพยาบาลที่รออยู่เพื่อส่งโรงพยาบาลเมื่อวันเสาร์ (29 ก.พ.) ในเมืองเคิร์คแลนด์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐฯ ผู้ป่วยคนนี้มาจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ล้มป่วยมากกว่า 50 คน และกำลังถูกทดสอบว่ามีเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่
เหมือนๆ กับชาวอเมริกันจำนวนมาก ดันเจเล วิลเลียมส์ สาวบาร์เทนดี้ รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ของโรคติดต่อจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”

สิ่งที่ทำให้หญิงสาววัย 22 ปีซึ่งพำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันผู้นี้ยิ่งหวาดกลัวมากขึ้นไปอีก ก็คือการขบคิดไปถึงบิลค่ารักษาพยาบาลซึ่งเธอไม่สามารถจ่ายได้หวาดไหว เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้คนเกือบๆ 27.5 ล้านคนในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองจากการมีประกันสุขภาพ

“ฉันคงจะต้องลังเลคิดกลับไปกลับมาแน่ๆ เลยก่อนที่จะไปหาหมอ เพราะค่าหมอนะแพงระยับจริงๆ” เธอกล่าว “ถ้ามันมาถึงตอนนั้นจริงๆ ฉันคงไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะทำให้ฉันหายป่วยกลับมาแข็งแรงได้หรอก”

ขณะที่โรคติดต่อจากไวรัสนี้กำลังเริ่มระบาดอยู่ทางซีกตะวันตกของสหรัฐฯ โดยมีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นรายแรกเป็นเมื่อวันเสาร์ (29 ก.พ.) ที่ผ่านมา พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขก็พากันกล่าวเตือนว่า ประเทศนี้มีลักษณะพิเศษหลายๆ ประการซึ่งแตกต่างไปจากเหล่าชาติร่ำรวยอื่นๆ ของโลก โดยเป็นลักษณะพิเศษที่กลายเป็นจุดอ่อนเปราะเมื่อเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงเช่นนี้

หนึ่งในนั้นได้แก่ การที่ประชากรจำนวนใหญ่โตและทำท่าเพิ่มขยายขึ้นทุกที เป็นพวกที่ไม่มีประกันสุขภาพ นอกจากนั้นยังมีผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ จำนวนราวๆ 11 ล้านซึ่งมีความรู้สึกหวาดกลัวที่จะออกมาติดต่อกับพวกเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวัฒนธรรมความคิดความเชื่อแบบ “ต้องฝ่าฟันผ่านไปให้สำเร็จ” เมื่อเกิดเจ็บป่วย เนื่องจากเกรงกลัวว่าการไปทำงานไม่ได้จะทำให้ต้องตกงาน

“ลักษณะเหล่านี้ทุกๆ อย่างเลย สามารถที่จะทำให้ระยะเวลาการขยายตัวของเชื้อไวรัส ยืดยาวออกไปทั้งนั้น” นี่เป็นความเห็นของ แบรนดอน บราวน์ นักระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์

จำนวนของคนอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพเคยเริ่มลดต่ำลงมาจากช่วงขึ้นไปสูงสุดที่ 46.7 ล้านคนเมื่อปี 2010 ภายหลังมีการออกกฎหมาย “รัฐบัญญัติการดูแลสุขภาพที่สามารถแบกรับไหว” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โอบามาแคร์” ในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทว่าตัวเลขนี้กลับเริ่มสูงขึ้นมาใหม่ในระยะเวลา 2 ปีแห่งยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งเขาและพรรครีพับลิกันของเขาต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “โอบามาแคร์” และพยายามใช้วิธีการต่างๆ นานาเพื่อกำจัดแผนการนี้

ตามตัวเลขในปัจจุบัน ชาวอเมริกันที่ไม่มีประกันสุขภาพมีจำนวนคิดเป็นประมาณ 8.5% ของประชากร

หมอน่ะมี แต่ไม่มีเงินค่ารักษา

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมักห่วงใยกันเกี่ยวกับความเป็นได้ที่การเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ในระดับระบาดไปทั่ว (pandemic) จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงขนาดไหนในส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนของโลก เป็นต้นว่า แอฟริกาส่วนที่อยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา (sub-Saharan Africa) และ เอเชียใต้

ภูมิภาคที่จ่อมจมอยู่ในความยากจนเหล่านี้ มีโรงพยาบาลซึ่งบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ย่ำแย่ไม่เพียงพอจะหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโรคติดต่อ หรือที่จะสามารถให้การดูแลอย่างเหมาะสมแก่พวกผู้ป่วยซึ่งจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยหายใจ อย่างที่คนไข้อาการหนักจากโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ต้องการ

ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ นั้นมีโรงพยาบาลบางแห่งและบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนซึ่งอยู่ในระดับดีเยี่ยมที่สุดในโลก ทว่าพวกที่ไม่ได้มีประกันสุขภาพอย่างดีโดยผ่านทางบริษัทนายจ้างของพวกเขา และขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยากจนพอที่จะมีคุณสมบติ/ได้รับการประกันจากรัฐ บ่อยครั้งทีเดียวมักถูกคัดออกไปจากระบบการดูแลสุขภาพอย่างสิ้นเชิง

การไปหาหมอโดยปกติแล้วอาจเสียค่าใช้จ่ายหลายร้อยดอลลาร์สำหรับพวกที่ไม่มีประกันสุขภาพ หรือเงื่อนไขการประกันไม่ครอบคลุม

“ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ ถ้าหากคราวนี้เกิดการระบาดที่ยืดเยื้อยาวนาน ว่ามันอาจจะไฮไลต์ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมบางอย่างบางประการในเรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งพวกเราทราบกันดีอยู่แล้วและกำลังพยายามหาทางจัดการกัน ทว่ายังค้นไม่พบวิธีการที่จะแก้ไข” ไบรอัน การิบัลดี ผู้อำนวยการหน่วยจำกัดควบคุมทางชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ให้ความเห็น

นี่ไม่ใช่บอกว่าคนที่ไม่มีประกันสุขภาพเลยจะไม่มีทางขอความช่วยเหลือใดๆ ได้ ถ้าหากพวกเขาล้มป่วยหนักหนาสาหัส

กฎหมายของสหรัฐฯ นั้นกำหนดเอาไว้ว่า คนที่ป่วยจริงๆ จะต้องได้รับการรักษาซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องได้รับ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องความสามารถในการชำระเงินค่ารักษา

แอบิเกล แฮนสเมเยอร์ ชาวมลรัฐมินเนโซตา ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพเช่นเดียวกับสามีของเธอ บอกว่าถ้าเธอล้มป่วยจริงๆ “เราก็อาจจะหาทางเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อรับการรักษา”

แต่การได้รับการบำบัดรักษาเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรักษาฟรี และผู้ที่ไม่มีประกันก็อาจถูกตามเก็บเงินก้อนมหึมาในเวลาต่อไป

“ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาอย่างระวังมากเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในทุกๆ สถานการณ์” หญิงวัย 29 ปีผู้นี้บอก

ลอรา เดอ ลา ครูซ ผู้ตรวจการของเขตการศึกษาเลคออสเวโก ในเมืองเลคออสเวโก รัฐออริกอน แถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ (29 ก.พ.) กรณีตรวจพบไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในลูกจ้างผู้หนึ่งของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งของเขตการศึกษานี้ โรงเรียนประถมแห่งนั้นถูกสั่งปิดไปจนถึงวันพุธ (4 มี.ค.) ขณะที่โรงเรียนทุกแห่งและรถโดยสารรับส่งนักเรียนทุกคันในเขตการศึกษาซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองพอร์ตแลนด์ ได้รับการทำความสะอาดอย่างเข้มข้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
เจ็บป่วยก็ยังต้องไปทำงาน

หนึ่งในข้อความสำคัญที่ศูนย์กลางเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ นำมาเผยแพร่เสนอนัเกี่ยวกับเชื้อไรวัสโคโรนา ก็คือ ควรอยู่บ้านถ้าคุณมีอาการโรคทางเดินหายใจอย่างอ่อนๆ ยกเว้นเมื่อคุณเดินทางไปพบแพทย์ในทันทีที่คุณติดต่อสอบถามและถ้าหากแพทย์เห็นว่าคุณจำเป็นต้องไป

“แต่มีคนมากมายเลยล่ะ ไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานที่พวกเขาทำอยู่, ตำแหน่งของพวกเขา, และอภิสิทธิ์ของพวกเขา” บราวน์กล่าว

สหรัฐฯ เป็นเพียงรายเดียวในหมู่ประเทศก้าวหน้าทั้งหลายที่ไม่มีกฎข้อบังคับออกโดยรัฐบาลกลางให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเมื่อลูกจ้างขอลาป่วย

ถึงแม้บริษัทเอกชนโดยทั่วไปอนุมัติให้ลาป่วยได้โดยเฉลี่ยปีละ 8 วัน แต่เอาเข้าจริงคนงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุดนั้นมีเพียง 30%เท่านั้น ซึ่งสามารถลาป่วยโดยได้รับเงิน ทั้งนี้ตามข้อมูลของสถาบัน อีโคโนมิก โพลิซี อินสติติว

ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้คนเหล่านี้จำนวนมากแล้ว การหยุดทำงานแม้แค่เพียงวันเดียวก็อาจทำให้รายรับขาดหายไปแล้ว

ในการสำรวจคนงาน 2,800 คนทั่วสหรัฐฯ ซึ่งทำกันในเดือนตุลาคม 2019 โดยสำนักงานบัญชี โรเบิร์ต ฮาร์ฟ พบว่า 57% บางครั้งยังคงไปทำงานขณะที่เจ็บป่วย ขณะที่ 33%ไปทำงานเสมอเมื่อเจ็บป่วย

วัคซีนน่ะมี แต่เฉพาะผู้ที่จ่ายไหว

ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในทั่วโลกกำลังเข้าสู่หลัก 3,000 คน และสหรัฐฯ ก็เผชิญกับการระบาดที่รุนแรงกว้างขวางขึ้น การพัฒนาวัคซีนป้องกันและวิธีบำบัดรักษาจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำแข่งกับเวลา

พิจารณาจากไทม์ไลน์ในปัจจุบันแล้ว ประมาณการกันว่าวัคซีนเจ้าแรกๆ ที่จะออกมาได้คงต้องใช้เวลาอีกสัก 12-18 เดือน ทว่ามันจะเป็นวัคซีนที่ทุกผู้คนสามารถเข้าถึงได้หรือไม่? คำถามนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาสอบถามรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ อเล็ก อาซาร์ ในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

คำตอบของเขาคือ “เราย่อมต้องการทำให้เกิดความแน่ใจว่า เราทำงานเพื่อให้มันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถจ่ายไหว แต่เราไม่สามารถควบคุมเรื่องราคาได้ เพราะเราจำเป็นต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน”

เอด ซิลเวอร์แมน คอลัมนิสต์ที่เขียนให้กับ “ฟาร์มาล็อต” (Pharmalot) เว็บไซต์ข่าวของอุตสาหกรรมยา โพสต์ความเห็นระบุว่า คำพูดของรัฐมนตรีสาธารณสุขทำให้ “รู้สึกเลวร้ายมาก”

“ไม่มีใครบอกว่ากำไรเป็นเรื่องต้องห้าม” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “แต่ควรหรือไม่ที่เราจะปล่อยให้ชาวอเมริกันบางคนที่อาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาต้องล้มตายไป เพราะราคาของมัน (วัคซีน) สูงเกินกว่าที่จะซื้อหาไหว?”

(เก็บความจากเรื่อง Coronavirus time bomb: America's uninsured and brutal work culture ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น