xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ยังมีใครอยากขึ้น ‘เรือสำราญ’ ไหม จากข่าวการระบาดของ ‘ไวรัสโควิด-19’ ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือสำราญ “ไดมอนด์ ปรินเซสส์” ที่ถูกกักกันโรค จอดอยู่ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในเมืองโยโกฮามา เมื่อวันศุกร์ (21 ก.พ.) ที่ผ่านมา
ไวรัสที่มีฤทธิ์เดชถึงทำให้เสียชีวิต, อีสุกอีใสระบาด, และท้องร่วงที่มีผู้ป่วยกันระนาว ฯลฯ บางครั้งการพักผ่อนเที่ยวเตร่บนเรือสำราญหรูหรา ก็ไม่ใช่ทริปแห่งความทรงจำระดับครั้งหนึ่งในชีวิต อย่างที่เป็นความคาดหวังของพวกผู้โดยสารวัยอาวุโสจำนวนไม่น้อยซึ่งยอมควักกระเป๋าเสียค่าใช้จ่ายกันคนละหลายพันดอลลาร์

กรณีเรือสำราญหลายลำที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา “โควิด-19” โดยเฉพาะเรือ “ไดมอนด์ ปรินเซสส์” ที่ญี่ปุ่น กลายเป็นข่าวใหญ่เกรียวกราวอยู่ในเวลานี้ ทว่าในอดีตที่ผ่านมา เรื่องที่ผู้เดินทางไปกับเรือสำราญแล้วต้องล้มป่วยกันจำนวนมากก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“พวกเรือสำราญมีความโน้มเอียงสูงมากที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อ อย่างพวก ไข้หวัด และไวรัสที่ทำให้เกิดการอาเจียน” จอห์น ออกซ์ฟอร์ด อาจารย์ทางไวรัสวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร บอก

“เรือพวกนี้ไม่ค่อยแตกต่างอะไรกันนักหรอก ในเรื่องมีคนแออัดเกินไป และเมื่อมีผู้โดยสารมากมายอย่างนั้น ระดับสุขอนามัยก็ย่อมมีโอกาสเกิดการบกพร่องได้”

ศูนย์กลางเพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของสหรัฐฯ (ซีดีซี) บันทึกเอาไว้ว่า เมื่อปีที่แล้วมีโรคอันเกิดจากเชื้อไวรัสโนโร (norovirus) ซึ่งติดต่อกันระหว่างคนกับคนได้ง่าย และทำให้เกิดอาการอยากอาเจียนกับท้องร่วง ระบาดบนเรือสำราญต่างๆ รวม 8 ครั้ง เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พวกผู้โดยสารรวมเอาไว้ในการพักผ่อนในฝันของพวกตนแน่ๆ

หรือสาวย้อนให้ไกลออกไปนิดนึง ระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคหัด, เชื้อ อี.โคไล ที่ทำให้อาหารเป็นพิษ, โรคอีสุกอีใส, และเชื้อ ซัลโมเนลลา ที่ทำให้ท้องร่วง ระบาดบนเรือสำราญอยู่หลายครั้ง

“โชคไม่ดีเลยที่ประชากรสูงวัยซึ่งมักพบเห็นกันมากตามเรือสำราญแบบฉบับ เป็นผู้ที่น่าจะมีความอ่อนไหวมากกว่า เมื่อเจออะไรก็ตามซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาท้าทายทางสุขภาพที่ร้ายแรงขึ้นมาได้” นี่เป็นคำเตือนของ น.พ.ไซมอน คลาร์ก รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ในสหราชอาณาจักร

ขณะที่ทั่วโลกมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็มีชายชราและหญิงชราชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) โดยทั้งคู่เป็นผู้โดยสารอยู่บนเรือสำราญ “ไดมอน ปรินเซสส์” ซึ่งถูกกักกันโรคอยู่ที่ท่าเรือในเมืองโยโกฮามา ใกล้ๆ กับกรุงโตเกึยว

เรือลำนี้กำลังกลายเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสูงที่สุด นอกเหนือจากพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในประเทศจีน มีบางคนบางฝ่ายชี้นิ้วกล่าวโทษพวกผู้รับผิดชอบของญี่ปุ่น เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่พวกเขาเห็นว่าหละหลวมมีช่องโหว่ ในเวลาดำเนินการกักกันโรคผู้โดยสารและลูกเรือรวมแล้วกว่า 3,000 คนเป็นเวลา 14 วัน

มาถึงตอนนี้ ทางการรับผิดชอบในสหรัฐฯได้ออกคำแนะนำแล้วว่า ผู้เดินทางควรที่จะ “พิจารณาใหม่” ในการโดยสารเรือสำราญที่จะไปยังเอเชียหรือที่แล่นอยู่ในเอเชีย พร้อมกับอ้างอิงถึงความเสี่ยงของการถูกจำกัดการเดินทางและการถูกกักกันโรค สืบเนื่องจากความเสี่ยงของไวรัสโคโรนา

ทารา ซี. สมิธ ผู้เป็นอาจารย์ด้านระบาดวิทยา อยู่ที่มหาวิทยาลัยเคนต์สเตท ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นฝ่ายที่มีความเห็นอยู่ใน “ทีมขยาดเรือสำราญ” อย่างชัดเจน

“ฉันยอมรับนะ ว่าฉันมีโอกาสล้มป่วยได้เหมือนกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้วิธีการเดินทางประเภทไหนก็ตาม หรือแม้กระทั่งเมื่อพักผ่อนอยู่เฉยๆ กับลูกวัยอนุบาลของฉัน” สมิธ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาในทางจุลชีววิทยา และโรคระบาด กล่าว

“แต่พวกเรือสำราญนั้นนอกจากรับความเสี่ยงทำนองเดียวกันกับที่อื่นๆ จากโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว มันยังขยายให้ใหญ่โตขึ้นไปอีกเนื่องจากการที่ผู้เดินทางต้องพักอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันเสมอเมื่ออยู่บนเรือ”

สมิธยอมรับว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจจะถือเป็น “ตัวอย่างระดับสุดโต่ง” และผู้โดยสารเรือสำราญส่วนใหญ่ที่สุดแล้วจะไม่พบปัญหาต้องเจอะเจอประสบการณ์เลวร้ายอะไรเลย

“แต่โดยส่วนตัวแล้ว ฉันก็ไม่ขอรับความเสี่ยงดีกว่า” เธอบอก

“ไม่มีใครรู้หรอกว่าเชื้อโรคติดต่อจะเข้ามาในเรือสำราญเมื่อไหร่ และมันเป็นสถานที่ซึ่งคุณจะต้องติดอยู่แบบไปไหนไม่ได้ พร้อมๆ กับเพื่อนผู้โดยสารของคุณทั้งหมด

“สำหรับฉันแล้ว มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเป็นการหยุดพักผ่อนที่สนุกสนานอะไรเลย”

ผู้โดยสารของเรือสำราญ “ไดมอนด์ ปรินเซสส์” เตรียมตัวขึ้นรถบัส ภายหลังขึ้นมาจากเรือที่ถูกกักกันโรค  ณ ท่าเรือในเมืองโยโกฮามา เมื่อวันศุกร์ (21 ก.พ.)
ขณะที่ สตวร์ต ชีรอน ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำคนหนึ่งของอุตสาหกรรมเรือสำราญโต้แย้งว่า เรือสำราญนั้นไม่ได้มีอะไรเหมือนกับเป็นแหล่งเพาะเชื้อไวรัสอย่างที่กำลังถูกป้ายสีเลย และพวกบริษัทผู้ประกอบการสายเดินเรือสำราญ ต่าง “ใช้ความระแวดระวังอย่างเต็มที่เพื่อรักษาให้เรืออยู่ในสภาพที่สะอาด”

“เมื่อเกิดไวรัสระบาดขึ้นมา พวกสายเดินเรือสำราญต่างใช้ระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติหลายหลากเพื่อทำความสะอาดเรือ และป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายออกไปอีก” เขากล่าวต่อ

ชีรอนซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯบอกว่า การวาดภาพลักษณ์ให้เห็นไปว่ามีคนเป็นพันๆ อยู่ด้วยกันอย่างแออัดบนเรือ ซึ่งก็คือเป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมเหลือเกินแก่การแพร่กระจายของความเจ็บป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ระบายสีเกินความจริงไปมาก

“พวกเรือสำราญนะมีขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าที่ผู้คนส่วนมากตระหนักกัน ในเรือมีพื้นที่มากมายสำหรับให้ผู้โดยสารกระจัดกระจายตัวกันออกไปเพื่อหาประสบการณ์ต่างๆ ที่สนุกสนานและเป็นผลดีแก่สุขภาพ” เขากล่าว

ชีรอนยังอ้างอิงตัวเลขจากซีดีซี ที่บอกว่าเมื่อปีที่แล้วมีผู้คนมากกว่า 31 ล้านคนเดินทางพักผ่อนเที่ยวเตร่ไปกับเรือสำราญ แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโนโรมีเพียง 1,038 ราย หรือเท่ากับ 0.003% เท่านั้น

ชีรอนและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ มองว่า อุตสาหกรรมเรือสำราญเคยประสบความสำเร็จมาแล้วนักต่อนัก ในการลดทอนลบเลือนพาดหัวข่าวที่เป็นผลลบเมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา และสำหรับคราวนี้ก็จะสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้ใหม่โดยเร็ว ในทันทีที่เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ผ่านพ้นไป

ทางด้านสมาคมสายการเดินเรือสำราญระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดในโลกของอุตสาหกรรมนี้ แถลงว่า เมื่อปี 2009 มีผู้โดยสารเรือสำราญท่องเที่ยวไปในท้องทะเลมหาสมุทรต่างๆ รวม 17.8 ล้านคน เปรียบเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีถึง 31 ล้านคน นี่เป็นการสาธิตให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความนิยมชมชื่นที่กำลังเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ผู้โดยสารประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเป็นพวกที่มาจากอเมริกาเหนือ และเหล่านักวิเคราะห์มองว่าผู้คนเหล่านี้ไม่น่าที่จะรู้สึกกังวลใจจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเรือสำราญในเอเชีย

“เหมือนกับวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา มันอาจจะมีการจองห้องรายใหม่ๆ ชะลอตัวลงมา ขณะที่ผู้คนรู้สึกลังเลจากข่าวการระบาดครั้งใหม่ๆ” ชีรอน บอก

“แต่ในทันทีที่ช่วงระยะเช่นนี้หมดสิ้นไป การจองห้องก็จะกลับพุ่งพรวดขึ้น และแบบแผนการจองก็จะกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ”

(เก็บความตัดต่อจากเรื่อง Floating Petri dishes? Coronavirus puts cruise industry in the dock ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น