สธ.เผยความรุนแรงโรคลดลงแค่ไหนยังตอบยาก เหตุไม่มีตัวเลขผู้ป่วยไม่รุนแรงในจีนชัดเจน ส่วนเฝ้าระวังยังอีกยาวนาน ยกไข้หวัดใหญ่ใช้เวลา 6-9 เดือนจึงถึงจุดพีคแล้วค่อยลดลง ระบุมี 5 ขั้นมาตรการรับมือการระบาดในไทย ย้ำต้องชะลอการมีผู้ป่วยไปถึงจุดพีคให้นานที่สุด เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องทำ ช่วยลดผู้ป่วยล้น รพ.
วันนี้ (30 ม.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 จะลดลงหรือไม่ ว่า จากข้อมูลที่มีตอนนี้ยังตอบได้ยาก และยังมีหลายกระแส ซึ่งต้องอาศัยข้อูลจากจีนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาประมาณ 5 พันคน เสียชีวิตเกือบ 200 ราย อาจรู้สึกค่อนข้างสูง แต่ตัวเลขนี้ก็นับเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง เหมือนเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะเท่าที่ทราบจีนไม่ได้เฝ้าระวังและติดตามคนไข้อาการอ่อน น้อย หรือไม่มีอาการ เพราะตรวจเฉพาะคนอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไม่รุนแรงมีเท่าไร ตอนนี้เป็นตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น ก็มีบางหน่วยงานคาดการณ์ว่าอาจจะมีประมาณแสนคน หากอนุมานจากตัวเลขนี้อัตราเสียชีวิตก็จะประมาณ 2 ต่อพัน แต่ทุกอย่างยังเป็นการคาดเดา แต่คิดว่าคงไม่สูง 2-4% เหมือนที่จีนบอกแต่แรก ก็ขึ้นกับนักวิทยาศาสตร์จะพยากรณ์แม่นแค่ไหน
ถามต่อถึงการเฝ้าระวังโรคนี้จะใช้เวลาอีกมานานเท่าใด นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ใช้เวลาระบาดประเทศใดประเทศหนึ่งใช้เวลา 6-9 เดือน จะเข้าสู่จุดสูงสุดหรือจุดพีคที่มีผู้ป่วยมากที่สุด จากนั้นจะคงที่และรอวันลดลง และจะระบาดเป็นช่วงๆ สำหรับประเทศจีนตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น และเดือนนี้เพิ่งเดือนแรก เรื่องนี้หนังชีวิตแน่นอน อยากให้ใจเย็น อีกนานกว่าสถานการณ์ในจีนดีขึ้น ส่วนการใช้มาตรการปิดเมือง ห้ามคนออกมานอกบ้านนั้นทำแค่ไม่กี่เมือง แต่การระบาด หากดูจากแผนที่ไปมากกว่า 1 จังหวัด ก็จะค่อยๆ แพร่ระบาดในจังหวัดอื่นๆ ไป ถ้ามาตรการดี ไม่ได้แปลว่า จะหยุดเร็วลง แต่จะยืดระยะเวลาออกไป การทำงานได้ดี ระยะเวลากว่าจะถึงช่วงพีคจะช้าลง หมายถึงเราสามารถชะลอการระบาดได้
"ประเทศใดๆ ก็ตามที่เริ่มมีการแพร่กระจายโรค ถ้าไม่สามารถนำกลับไปสู่จุดที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศได้ และการแพร่ระบาดจะค่อยๆ เดินต่อไปอาจใช้ 6-9 เดือน หรือยาวนานกว่านั้นถ้าฝีมือเราดีกว่าที่จะพีค สำหรับทุกประเทศและประเทศไทยเราก็เตรียมการไปในทิศทางนั้น เพราะนับวันสถาบันด้านการสาธารณสุขจะยิ่งออกมาพยากรณ์สอดคล้องกันเรื่อยๆ ว่าทุกประเทศมีความเสี่ยงระดับปานกลางที่จะมีผู้ป่วยแพร่กระจายของโรคในประเทศ แม้กระทั่งสหภาพยุโรป แม้แต่รายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหภาพยุโรป หรือยูโรซีดีซีก็พยากรณ์ว่า ยุโรปอาจมีการแพร่ระบาดได้" นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การชะลอจุดพีคของโรคจะมีผลดีคือ ชะลอจำนวนผู้ป่วยไปที่ออกันที่โรงพยาบาล แทนที่จะมีวันละพันคนก็อาจจะมีแค่ร้อยคน บุคลากรโรงพยาบาลก็ทำงานง่ายขึ้น ประสิทธภาพการดูแลรักษาพยาบาลก็ดีมากขึ้น อย่างเครื่องมือต่างๆ เราไม่ใช่ประเทศร่ำรวย และเรามีข้อจำกัด หลายโรงพยาบาลก็แน่นมาก การชะลอเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดถ้ามีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งทุกประเทศคิดเหมือนกันทำเหมือนกัน เพราะเราเผชิญเรื่องนี้มานักต่อนักแล้ว จุดนี้จะมีความสำคัญสูงมาก ไม่ใช่การชะลอออกไปไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นต้องทำให้ได้ มิเนั้นจะเกิดสภาพคนเต็มแน่นโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงพอ สำหรับการรับมือการระบาดในประเทศเรามีแผนการรับมือเป็นขั้นอยู่แล้ว เช่น มีการระบาดภายในวงจำกัดของบางจังหวัด การแพร่ออกไปเป็นวงกว้างในจังหวัด การแพร่ข้ามจังหวัด หรือการแพร่ระบาดไปทั่ว ซึ่งการจะแพร่ไปเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับความสามารถและศักยภาพในการบริหารจัดการ แต่แย่างที่บอกว่าหากเราทำได้ดี ก็จะช่วยชะลอไม่ให้มีผู้ป่วยไปล้นแน่นโรงพยาบาล และที่สำคัญคือต้องปกป้องเจ้าหน้าที่บุคลากรไม่ให้ป่วย เพราะหากมีการป่วยหรือเสียชีวิตก็จะหมดกำลังใจในการดำเนินงานได้