หลังช่วงเวลา 2 สัปดาห์ในการกักกันเรือสำราญ “ไดมอนด์ ปรินเซส” ที่ญี่ปุ่นผ่านพ้นไป นักวิทยาศาสตร์หลายคนเริ่มออกมาชี้ว่านี่อาจเป็นปฏิบัติการที่เรียกได้ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะดูเหมือนว่าเรือลำนี้จะหลายเป็น “แหล่งเพาะเชื้อ” สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” มากกว่าจะเป็นสถานกักโรคที่ช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเตือนทั่วโลกให้เตรียมรับมือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสชนิดนี้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสิงคโปร์ซึ่งเริ่มปรากฏสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ไวรัสคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่อุบัติขึ้นในภาคกลางของจีนเมื่อปลายปีที่แล้วได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วจนทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 70,000 คน ทว่ายอดผู้ติดเชื้อกว่า 500 คนบนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซสที่มีผู้โดยสาร 3,711 คนถือว่ามากที่สุดนอกดินแดนจีน
เรือสำราญลำนี้ยังเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนง่ายที่สุดนอกประเทศจีน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่ามาตรการกักกันโรคที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพพอ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นทำอาจจะยังไม่เข้มงวดรัดกุมเท่าที่ควร
หนึ่งในสัญญาณชี้ชัดถึงความหละหลวมก็คือการที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่นถึง 3 คนติดโรคจากผู้โดยสารบนเรือ
“สภาพแวดล้อมบางอย่างมีส่วนทำให้โรคระบาดแพร่กระจายได้เร็วขึ้น” ดร.ไมเคิล ไรอัน ประธานโครงการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ พร้อมชี้ว่าเรือสำราญเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเกิดโรคระบาดอยู่แล้ว เนื่องจากมีคนจำนวนมากอาศัยอยู่รวมกันและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน
“น่าเสียใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นบนเรือ แต่เราเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นและรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่กำลังพาพลเมืองกลับบ้านคงจะมีมาตรการเฝ้าติดตามบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม” ไรอัน กล่าว
คัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (18 ก.พ.) ว่า เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสุขภาพผู้โดยสารที่เหลืออยู่บนเรือทั้งหมดแล้ว และผู้ที่มีผลตรวจเป็น “ลบ” สามารถลงจากเรือได้ตั้งแต่วันพุธที่ 19 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกักกันโรค
“พวกเขาทุกคนล้วนต้องการกลับบ้านเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเราก็หวังจะช่วยให้การเดินทางของพวกเขาราบรื่น” คาโตะ กล่าว
อย่างไรก็ มหากาพย์เรื่องนี้อาจไม่จบง่ายอย่างที่คิด ล่าสุดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอังคาร (18) ว่า ชาวอเมริกันซึ่งไม่ประสงค์เดินทางกลับประเทศด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำของรัฐบาลในช่วงสุดสัปดาห์จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน หลังจากที่ลงจากเรือไดมอนด์ปรินเซส
“เห็นได้ชัดว่าการกักกันโรคไม่ได้ผล และเรือลำนี้ได้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปแล้ว” ดร. นาตาลี แมคเดอร์มอตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน ระบุ
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจกลไกการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างถ่องแท้ รู้แต่เพียงว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม แต่ในความเป็นจริงอาจมีช่องทางอื่นๆ ที่เชื้อจะแพร่จากคนสู่คนได้อีก
“เราต้องทำความเข้าใจวิธีการกักผู้โดยสารบนเรือลำนี้ รวมไปถึงระบบกรองอากาศ การเชื่อมต่อระหว่างห้องพักต่างๆ และวิธีกำจัดสิ่งปฏิกูล” แมคเดอร์มอตต์ กล่าว พร้อมย้ำว่าควรมีการทำความสะอาดเรือไดมอนด์ปรินเซสทั้งลำ “อย่างล้ำลึก” เพื่อป้องกันไม่ให้คนไปสัมผัสพื้นผิวที่อาจมีเชื้อโรคแฝงอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2002-2003 จีนเคยเผชิญการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันหรือ ‘ซาร์ส’ และปรากฏว่ามีชาวฮ่องกงกว่า 300 คนติดเชื้อไวรัสจาก “ท่อระบายน้ำ” ที่ออกแบบมาอย่างบกพร่อง ซึ่ง แมคเดอร์มอตต์ ชี้ว่ากรณีของเรือไดมอนด์ปรินเซสก็อาจมีสาเหตุคล้ายๆ กัน
“ไม่มีเหตุผลเลยที่มาตรการกักกันโรคบนเรือจะไม่ได้ผล ถ้าหากพวกเขาทำมันอย่างถูกต้อง” เธอกล่าว
ก่อนหน้านี้เคยมีประวัติเกิดโรคระบาดบนสำราญจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) มาแล้ว โดยไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่คับแคบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้โดยสารสูงอายุซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ
ผู้โดยสารบางคนเล่าว่าเรือลำนี้ไม่ต่างอะไรกับ “คุกลอยน้ำ” ซึ่งพวกเขาได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินเล่นตามทางเดินได้ทุกวันโดยสวมหน้ากากอนามัย แต่จะต้องมีระยะห่างกับผู้โดยสารคนอื่นๆ
ดร. พอล ฮันเตอร์ อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียในสหราชอาณาจักร ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บนเรือไดมอนด์ปรินเซสอาจไม่ได้ถูกแยกออกจากผู้โดยสารคนอื่นๆ อย่างเด็ดขาด และสาเหตุที่ไวรัสยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นเพราะมีผู้โดยสารบางคนไม่เคารพกฎ
“การกักกันโรคในสภาพแวดล้อมแบบเรือสำราญเป็นเรื่องที่ยาก และผมค่อนข้างมั่นใจว่ามีผู้โดยสารบางคนที่ไม่ชอบถูกสั่งให้ทำหรือไม่ทำอะไร” เขากล่าว
ฮันเตอร์ ให้ความเห็นว่า หากญี่ปุ่นนำผู้โดยสารทั้งหมดลงจากเรือและส่งไปกักกันโรคตามสถานพยาบาลต่างๆ อาจจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้ แต่ก็ยอมรับว่าในทางโลจิสติกส์ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาสถานที่รองรับคนกว่า 3,000 คนที่อาจมีเชื้อโรคในตัว และหลังจากนี้คาดว่าผู้โดยสารบางส่วนอาจถูกสั่งกักโรคอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดินทางกลับไปยังประเทศของตน
“ในเมื่อยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม เราจึงต้องอนุมานว่าทุกๆ คนที่ลงจากเรือมีสิทธิ์เป็นผู้ติดเชื้อได้ทั้งสิ้น และจำเป็นต้องถูกกักโรคอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์... ถ้าไม่ทำก็จะเป็นการประมาทเกินไป” ฮันเตอร์ กล่าว
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขญี่ปุ่นยืนยันว่าการกักโรค 14 วันบนเรือสำราญนั้นเพียงพอแล้ว และย้ำว่าพลเมืองญี่ปุ่นกว่า 500 คนที่เดินทางกลับจากมณฑลหูเป่ยและมีผลตรวจไวรัสเบื้องต้นเป็น “ลบ” ล้วนได้รับการยืนยันว่าไม่ติดเชื้อหลังสิ้นสุดการกักโรคนาน 14 วัน
ญี่ปุ่นยังออกมาชี้แจงปกป้องมาตรการยับยั้งการระบาดบนเรือ โดยระบุว่าลูกเรือราว 1,000 คนได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ผ่าตัด, ล้างมือ, ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อ ขณะที่ห้องอาหาร บาร์ และสถานบันเทิงทั้งหมดบนเรือปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. หลังจากที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก 10 ราย และทางการญี่ปุ่นประกาศเริ่มต้นกักโรค
ผู้โดยสารทุกคนได้รับคำสั่งให้เก็บตัวอยู่แต่ในห้องพักของตนเอง ห้ามออกมาเดินเพ่นพ่านหรือติดต่อกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ส่วนผู้ที่ห้องพักไม่มีหน้าต่างได้รับอนุญาตให้ออกมาเดินเล่นบนดาดฟ้าได้เพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ถูกบังคับใช้เฉพาะกับผู้โดยสารเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ลูกเรือยังจำเป็นต้องแชร์ห้องพัก รับประทานอาหารในห้องรวม ออกไปเสิร์ฟอาหาร ส่งจดหมาย และส่งสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้โดยสาร รวมถึงเข้าไปทำความสะอาดห้องพักของผู้โดยสารด้วย
“นี่คือสาเหตุว่าทำไมถึงยังมีลูกเรือติดเชื้อเพิ่ม ทั้งที่เริ่มใช้มาตรการกักกันโรคแล้ว” ชิเงรุ โอมิ อดีตผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกของ WHO ระบุ
โอมิ ยอมรับว่าการกักกันโรคอาจใช้ได้ผลในช่วงแรกๆ แต่เวลานี้ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่กระจายเข้าสู่ชุมชนทั่วญี่ปุ่น และมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นควรทำนอกเหนือไปจากการคุมเข้มด่านพรมแดนก็คือหาวิธียับยั้งการแพร่ระบาดในท้องถิ่น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหากสามารถยุติการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการ IMF กล่าวในงานประชุม โกลบัล วีเมนส์ ฟอรัม ที่นครดูไบเมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.พ.) โดยแสดงความหวังว่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจลดลงเพียง 0.1-0.2% แต่ก็เตือนว่าผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าจีนและทั่วโลกจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้เร็วแค่ไหน โดยหากยุติการระบาดได้เร็ว เศรษฐกิจก็อาจดิ่งแรงและฟื้นตัวไวมากในลักษณะกราฟรูปตัว V
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลง 0.1% อยู่ที่ 3.3% เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2.9% อันถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบทศวรรษ
บอสหญิงไอเอ็มเอฟสำทับว่าจีนพยายามอย่างมากที่จะควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ให้ได้ รวมถึงอัดฉีดสภาพคล่องมูลค่าถึง 115,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควร แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องเฝ้าจับตาภาวะชะลอตัวจากความไม่แน่นอนอื่นๆ
เธอย้ำว่าเศรษฐกิจจีนเคยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 8% ของเศรษฐกิจโลกเมื่อตอนที่ไวรัสซาร์สระบาดเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน ทว่าในปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มเป็น 19% แล้ว
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์” ประกาศลดการคาดการณ์จีดีพีจีนประจำปีนี้ลงมาอยู่ที่ 5.2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 5.7% ที่รัฐบาลจีนต้องการเพื่อตอบสนองแผนการกระตุ้นการเติบโตเป็น 2 เท่าภายในระยะ 10 ปีที่จะถึงกำหนดในปีนี้
อีกหนึ่งประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตไวรัสโคโรนาก็คือ “สิงคโปร์” ซึ่งมีจีนเป็นแหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุด และยังเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่สำคัญด้วย โดยล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับลดการคาดการณ์จีดีพีปีปัจจุบันลง 0.5% มาอยู่ที่ 1.5% ขณะที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ก็ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 อาจรุนแรงยิ่งกว่าซาร์ส เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)
ในส่วนของญี่ปุ่นมีรายงานว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วหดตัวลงถึง 1.6% ซึ่งถือว่าดิ่งแรงสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลปรับขึ้นภาษีการขาย และพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสที่ซัดถล่มแดนอาทิตย์อุทัยในช่วงเวลาดังกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มจับตาว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเวลานี้อุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างจัง ทำให้มีความหวังน้อยมากที่ญี่ปุ่นจะฟื้นการเติบโตได้ในไตรมาสปัจจุบัน ทั้งนี้หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันถึง 2 ไตรมาสก็จะถือเป็นสัญญาณภาวะถดถอยในทางเทคนิค