เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในวันนี้ (17 ก.พ.) ระบุผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 หดตัวแรงสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส และนโยบายขึ้นภาษีการขาย
ตัวเลขจีดีพีของญี่ปุ่นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ปีที่แล้วหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 1.6% ซึ่งรูปการณ์ที่น่ากังวลนี้เกิดขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในจีนด้วยซ้ำ
รัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการขายจากอัตรา 8% เป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็เผชิญความเสียหายอย่างหนักจากไต้ฝุ่นฮากิบิสซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน
ทั้งนี้ ตัวเลข 1.6% นับว่าเลวร้ายกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าจีดีพีญี่ปุ่นในไตรมาส 4 จะหดตัวเพียงแค่ราวๆ 1% และยังถือว่าดิ่งแรงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2014 ซึ่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยหดตัวลงถึง 1.9% ตามหลังมาตรการขึ้นภาษีการขายจาก 5% เป็น 8% สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
“แม้จะมีภัยธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ลดลงจากการขึ้นภาษี แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบแล้วก็ตาม” ทาเกชิ มินามิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยโนรินชูคิน (Norinchukin Research Institute) ระบุ
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบหนักสุด โดยลดลงถึง 2.9% ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ขณะที่การลงทุนในด้านโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ลดลง 3.7%
นักเศรษฐศาสตร์ยังเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ว่าจะมีส่วนบั่นทอนเศรษฐกิจแดนปลาดิบที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกมากน้อยเพียงใด
มินามิ ยอมรับว่า กิจกรรมการผลิตและจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ลดลงทำให้ญี่ปุ่น “หมดหวัง” ที่พลิกสถานการณ์กลับมาเติบโตได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ และแม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากช่วงไตรมาสก่อน แต่จะมากแค่ไหนนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
“ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากจีนก็ยังกระทบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อการส่งออกด้วย” มินามิ กล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ยังระบุว่า “มีความเป็นไปได้” ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส ซึ่งในทางเทคนิคถือเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession)
คัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ออกมาเรียกร้องวานนี้ (16) ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือ “การชุมนุมกันโดยไม่จำเป็น” ซึ่งรวมถึงการโดยสารรถไฟ เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัส
อย่างไรก็ดี นาโอยะ โอชิคุโบะ นักเศรษศาสตร์อาวุโสจาก SuMi Trust ได้ออกมาเผยคาดการณ์ที่แตกต่างออกไป โดยเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่น่าจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2020
“อุปสงค์ภายนอกน่าจะยังคงขยายตัวในไตรมาส 1 ปี 2020 แม้จะมีการระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งเราประเมินว่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวขาเข้า (inbound tourism industry) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของจีดีพี” โอชิคุโบะ ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการแถลงตัวเลขจีดีพีจากรัฐบาลญี่ปุ่นในวันนี้ (17)
โอชิคุโบะ ยังเชื่อว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัย “ได้อย่างไม่ต้องสงสัย”
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณ 15,300 ล้านเยนเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงเพิ่มมาตรการคุมเข้มผู้โดยสารตามสนามบินต่างๆ และเพิ่มศักยภาพในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัส