xs
xsm
sm
md
lg

‘นาโต้’ซ้อมรบในพื้นที่ซึ่งอาจกลายเป็นสมรภูมิล่าสุดของ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล แคลร์


<i>เรือดำน้ำรัสเซียยิงขีปนาวุธจากทะเลแบเร็นตส์ ใกล้ๆ นอร์เวย์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย) </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

World War III’s newest potential battlefield
By MICHAEL KLARE
10/02/2020

วันที่ 12-18 มีนาคมนี้ องค์การนาโต้จัดการซ้อมรบภาคสนามขึ้นที่บริเวณภาคเหนือสุดของนอร์เวย์ โดยมีทหารอเมริกันและทหารชาติพันธมิตรอื่นๆ กว่าหมื่นคนเข้าร่วม พื้นที่แถบนี้ซึ่งอยู่เหนือเส้นวงกลมอาร์กติก ตั้งประชิดกับคาบสมุทรโคลา ที่ทรงความสำคัญในทางยุทธศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ของรัสเซีย และถูกจับตาว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอาจกลายเป็นสมรภูมิแห่งล่าสุดที่จะทำให้สงครามโลกครั้งที่ 3 ระเบิดขึ้นมา

ในต้นเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้ กำลังทหารหน่วยสู้รบของอเมริกันจำนวนประมาณ 7,500 คนจะเดินทางไปยังนอร์เวย์ เพื่อสมทบกับทหารอีกหลายพันคนจากประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) รายอื่นๆ ในการร่วมซ้อมรบครั้งใหญ่โตโดยสมมุติว่าเป็นทำสงครามกับกองทหารผู้รุกรานที่จินตนาการเอาว่ามาจากรัสเซีย การฝึกซ้อมสู้รบในลักษณะจำลองสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาในอนาคตคราวนี้ –โดยใช้ชื่อรหัสว่า การฝึกซ้อม “โคลด์ เรสปอนซ์ 2020” (Cold Response 2020 การตอบโต้ความหนาวเย็นปี 2020)— เหล่ากองทหารพันธมิตรนาโต้จะ “ดำเนินการฝึกซ้อมร่วมในระดับหลายๆ ชาติ ภายใต้ฉากทัศน์การสมมุติสถานการณ์การสู้รบที่มีความตึงเครียดสูง และในเงื่อนไขของช่วงฤดูหนาวซึ่งเรียกร้องให้ต้องกระทำการต่างๆ จำนวนมากมาย” นี่จะเป็นจริงเป็นจังแค่ไหนนั้นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยมันก็เป็นถ้อยแถลงที่กองทัพนอร์เวย์กล่าวอ้างเอาไว้

เมื่อเหลือบมองดูในครั้งแรก นี่อาจจะดูเหมือนๆ กับการเอ็กเซอร์ไซส์ฝึกซ้อมครั้งอื่นๆ อะไรสักครั้งหนึ่งของนาโต้ แต่ว่าขอให้ลองพิจารณาให้ดีกันใหม่อีกหนหนึ่งนะครับ มันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “การตอบโต้ความหนาวเย็นปี 2020” อย่างสามัญธรรมดาแน่นอน เริ่มต้นตั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า มันกำลังจะจัดขึ้นในพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือเส้นวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) ห่างไกลจากสมรภูมิตามประเพณีในอดีตที่เคยผ่านมาของนาโต้ รวมทั้งมันยังสร้างความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นการยกระดับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจใหญ่ให้ขึ้นสู่ระดับใหม่ ซึ่งอาจจบลงในการตอบโต้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์และการทำลายล้างสร้างความวิบัติหายนะให้แก่กันและกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ... ขอต้อนรับเข้าสู่สมรภูมิแห่งใหม่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 3

สำหรับทหารที่กำลังเข้าร่วมการซ้อมรบครั้งนี้ มิติความเป็นไปได้ในด้านเทอร์โมนิวเคลียร์ของการซ้อมรบ โคลด์ เรสปอนซ์ 2020 อาจจะมองเห็นได้ไม่ถนัดชัดเจน ในช่วงเริ่มต้น กองทหารนาวิกโยธินจากสหรัฐฯและจากสหราชอาณาจักรจะฝึกปฏิบัติการยกพลขึ้นบนด้วยกำลังสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดมหึมา ตรงบริเวณแนวชายฝั่งของนอร์เวย์ ซึ่งก็จะดูคล้ายๆ กับการเอ็กเซอร์ไซส์ทำนองเดียวกันที่พวกเขาได้เคยทำกันมาแล้วตามสถานที่อื่นๆ ในโลก อย่างไรก็ตาม ในทันทีที่ขึ้นบกแล้ว ฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ก็จะมีความโดดเด่นเฉพาะอย่างแตกต่างกับครั้งอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากไปจัดแจงรวบรวมเอาพวกรถถังและอาวุธหนักชนิดอื่นๆ ซึ่ง “ถูกจัดเตรียมเอาไว้ก่อนตามจุดที่กำหนด” (prepositioned) [1] ตามถ้ำต่างๆ ซึ่งอยู่ในดินแดนตอนในของนอร์เวย์ มาได้แล้ว นาวิกโยธินเหล่านี้ก็จะเคลื่อนที่มุ่งไปยังเขตฟินน์มาร์ก (Finnmark region) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือไกลสุดของประเทศนี้ เพื่อช่วยเหลือกองทหารนอร์เวย์ขับไล่กองทหารรัสเซียที่สมมุติกันว่ากำลังบุกทะลวงทะลักข้ามชายแดนเข้ามา ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะทำศึกกัน --ซึ่งถ้าหากจะใช้ศัพท์แสงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ก็ต้องพูดว่า – ในยุทธการสู้รบที่มีความเข้มข้นสูง ภายใต้สภาพเงื่อนไขของเขตอาร์กติก (อันเป็นสงครามชนิดที่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันโดยเฉพาะในระดับใหญ่โตเช่นนี้ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา)

และทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่คงไม่ทราบหรอกว่าเขตฟินน์มาร์กของนอร์เวย์ และดินแดนรัสเซียที่อยู่ประชิดกันนั้น กำลังกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะกลายเป็นสมรภูมิแรกซึ่งมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามความขัดแย้งใดๆ ระหว่างนาโต้กับรัสเซียที่จะระเบิดขึ้นมาในอนาคต เพราะมอสโกได้รวมศูนย์นำเอาส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสมรรถนะในการตอบโต้ทางนิวเคลียร์ของตนมาประจำการรักษาไว้ที่คาบสมุทรโคลา (Kola Peninsula) [2] ดินแดนผืนกว้างใหญ่อันไกลโพ้นที่อยู่ติดกับภาคเหนือของนอร์เวย์ ดังนั้นจึงหมายความว่า หากกองทหารสหรัฐฯ-นาโต้ประสบความสำเร็จใดๆ ในการสู้รบจริงๆ กับกองทหารรัสเซียในพื้นที่ใกล้ๆ อาณาบริเวณดังกล่าว ย่อมจะกลายเป็นอันตรายต่อส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย และจึงอาจกลายเป็นตัวเร่งให้มีการนำเอาอาวุธมหาประลัยเหล่านี้ออกมาใช้กันเสียเลยตั้งแต่เนิ่นๆ แม้กระทั่งชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการจำลองการสู้รบ (ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่คาดหมายได้อยู่แล้วของการซ้อมรบ โคลด์ เรสปอนซ์ 2020) ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะทำให้พวกผู้มีอำนาจควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเกิดความวิตกกังวล

เพื่อให้เข้าใจซาบซึ้งยิ่งขึ้นว่า หากเกิดการปะทะกันใดๆ ระหว่างนาโต้กับรัสเซียขึ้นมาในบริเวณภาคเหนือไกลพ้นของนอร์เวย์แล้ว มันจะมีความเสี่ยงอย่างฉกาจฉกรรจ์ขนาดไหน ขอให้เราลองพิจารณาสภาพทางภูมิศาสตร์และปัจจัยต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ของเขตดังกล่าวนี้ ซึ่งได้นำพารัสเซียให้รวมศูนย์แสนยานุภาพทางทหารเอาไว้ที่นั่นอย่างมากมายถึงเพียงนี้ และนอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังมีปัจจัยประการหนึ่งซึ่งจะแสดงบทบาทออกมาภายในบริบทของอันตรายอันใหญ่หลวงต่อการดำรงคงอยู่อีกแบบหนึ่ง นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การที่น้ำแข็งซึ่งปกคลุมย่านอาร์กติกกำลังละลายอย่างรวดเร็ว และการที่อาร์กติกกำลังถูกขุดค้นหาประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ในอัตราเร่งตัว [3] เหล่านี้กำลังทำให้อาณาบริเวณนี้ยิ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ


การขุดค้นทรัพยากรพลังงานในภาคเหนืออันไกลโพ้น

เมื่อเรามองดูแผนที่ของทวีปยุโรปไม่ว่าฉบับไหนก็ตามที คุณย่อมจะสังเกตเห็นได้อย่างเตะตาว่า ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) นั้นอยู่ในลักษณะถ่างกว้างออกในช่วงลงมาทางใต้ จนกระทั่งเข้าสู่พื้นที่ส่วนต่างๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดของเดนมาร์ก, ฟินแลนด์, นอร์เวย์, และสวีเดน อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมองขึ้นไปทางเหนือ ลักษณะพื้นที่จะหดแคบลงมา ขณะที่จำนวนประชากรก็ลดน้อยลงมาก ตรงส่วนเหนือสุดๆ ของสแกนดิเนเวียนั้น มีดินแดนแถบบางๆ ของนอร์เวย์เท่านั้นที่ยื่นออกมาทางตะวันออกและแตะกับคาบสมุทรโคลาของรัสเซีย ถัดขึ้นไปอีกทางเหนือจะเป็นทะเลแบเร็นตส์ (Barents Sea) ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาของมหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) และตั้งประชิดทั้งกับนอร์เวย์และรัสเซีย เขตบริเวณอันห่างไกลนี้ (อยู่ห่างจากกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์ราวๆ 1,300 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซียประมาณ 1,450 กิโลเมตร) ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมสำคัญแห่งหนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทางทหารอันคึกคักวุ่นวาย

พื้นที่อันไกลโพ้นแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่ามีคุณค่าเนื่องจากมันเป็นแหล่งที่มาของแร่ธาตุสำคัญๆ หลายชนิด โดยเฉพาะพวกนิเกิล, สินแร่เหล็ก, และฟอสเฟต แต่เวลานี้มันกลายเป็นศูนย์กลางของการขุดเจาะสูบน้ำมันและแก๊สธรรมชาติไปแล้ว จากการที่อุณหภูมิในเขตอาร์กติกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระดับสองเท่าตัวของสถานที่อื่นๆ บนดาวเคราะห์ดวงนี้[4] แล้วผืนน้ำแข็งในทะเลกำลังละลายอย่างว่องไวและถดถอยหลังขึ้นไปทางเหนือไกลออกไปทุกๆ ปี [5] การขุดเจาะค้นหาเชื้อเพลิงฟอสซิลบริเวณนอกชายฝั่งจึงยิ่งกลายเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้อย่างคุ้มค่าการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ก็คือ มีการค้นพบแหล่งสำรองของน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ –ซึ่งแท้ที่จริงก็เป็นเชื้อเพลิงที่การสันดาปของพวกมันเป็นตัวการรับผิดชอบทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น— ในบริเวณใต้ทะเลแบเร็นตส์ และทั้งนอร์เวย์กับรัสเซียต่างกำลังขุดเจาะสูบขึ้นมาใช้ประโยชน์

นอร์เวย์เป็นฝ่ายนำหน้าในเรื่องนี้[6] ด้วยการจัดตั้งโรงงานแห่งแรกซึ่งอยู่เหนือเส้นวงกลมอาร์กติกขึ้นมาที่เมืองแฮมเมอร์เฟสต์ (Hammerfest) ในเขตฟินน์มาร์ก เพื่อส่งออกแก๊สธรรมชาติเหลว ในทำนองเดียวกัน รัสเซียก็ริเริ่มใช้ความพยายามในการขุดเจาะสูบแก๊สธรรมชาติจากแหล่งแก๊ส สต็อคมาน (Shtokman gas field) [7] อันใหญ่โตมหึมา ซึ่งตั้งอยู่ใต้ทะเลแบเร็นตส์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแดนหมีขาว ถึงแม้จวบจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถที่จะทำให้แผนการดังกล่าวบังเกิดผลขึ้นมาให้ชื่นใจ

อย่างไรก็ดี สำหรับรัสเซียแล้ว ลู่ทางโอกาสซึ่งสำคัญยิ่งไปกว่านี้อีกในเรื่องน้ำมันและแก๊สนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ไกลออกไปทางด้านตะวันออก นั่นคือที่ทะเลคารา (Kara Sea) และทะเลเปโชรา (Pechora Sea) ตลอดจนบนคาบสมุทรยามัล (Yamal Peninsula) ซึ่งเป็นแผ่นดินส่วนที่ยื่นยาวออกไปในทะเลของดินแดนไซบีเรีย ในความเป็นจริง พวกบริษัทพลังงานของแดนหมีขาวได้เริ่มต้นผลิตน้ำมันแล้วด้วยซ้ำ [8] จากแหล่งปริราซลอมโนเย (Prirazlomnoye field) ในทะเลเปโชรา และแหล่งโนโวปอร์ตอฟสโกเย (Novoportovskoye field) บนคาบสมุทรดังกล่าว (และก็รวมไปถึงแก๊สธรรมชาติที่ตรงนั้นด้วย) แหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้ความหวังอย่างมากมายแก่รัสเซีย ที่ถึงแม้แสดงออกซึ่งคุณสมบัติทุกๆ อย่างของการเป็นรัฐน้ำมัน (petro-state) [9] รัฐหนึ่งอยู่แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาอันใหญ่โตอยู่ประการหนึ่ง ได้แก่ การมีหนทางที่ใช้การได้ดีในทางปฏิบัติเพียงหนทางเดียวเท่านั้น ในการนำเอาผลผลิตจากอาณาบริเวณนี้ออกไปสู่ตลาด นั่นคือ การอาศัยพวกเรือบรรทุกน้ำมัน-เรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker-tanker) [10] ซึ่งต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ แล่นตัดข้ามทะเลแบเร็นตส์ โดยผ่านพื้นที่นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของนอร์เวย์

เรื่องการขุดเจาะทรัพยากรน้ำมันและแก๊สแถบอาร์กติก และการลำเลียงขนส่งผลผลิตเหล่านี้ออกไปสู่ตลาดต่างๆ ในยุโรปและเอเชีย ได้กลายเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงสำหรับมอสโกไปแล้ว เนื่องจากแหล่งสำรองไฮโดรคาร์บอนของพวกตนในอาณาบริเวณใต้เส้นวงกลมอาร์กติกนั้นกำลังเริ่มเหือดแห้งแล้ว ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องภายในประเทศให้เดินหน้าไปสู่ความหลากหลายกระจายตัวในทางเศรษฐกิจอย่างมากมายใหญ่โตยิ่งกว่านี้ แต่ระบอบปกครองของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ยังคงยืนกรานต่อไปว่า การผลิตไฮโดรคาร์บอนคือแกนกลางแห่งอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมองจากบริบทดังกล่าว การผลิตน้ำมันและแก๊สในอาร์กติกย่อมกลายเป็นวัตถุประสงค์แห่งชาติที่สำคัญมากประการหนึ่ง [11] ซึ่งในทางกลับกันก็เรียกร้องต้องการให้สร้างความแน่ใจขึ้นมาว่า การลำเลียงผ่านทะเลแบเร็นตส์และน่านน้ำนอกชายฝั่งของนอร์เวย์เพื่อออกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นสิ่งที่จะต้องสามารถกระทำได้โดยไม่สะดุดติดขัด

เปรียบเทียบไปแล้ว เส้นทางขนส่งทางทะเลดังกล่าวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจแห่งพลังงานของรัสเซีย ในทำนองเดียวกันกับที่ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) [12] ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซีย กับ มหาสมุทรอินเดีย มีความสำคัญเหลือเกินต่อซาอุดีอาระเบีย และเหล่าชาติผู้ผลิตพลังงานฟอสซิลรายอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนั้น

มิติทางทหาร

ไม่เฉพาะเพียงแค่พวกบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียเท่านั้น เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเลยที่กองทัพเรือของรัสเซียก็จะต้องสามารถแล่นเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกโดยผ่านทะเลแบเร็นตส์และชายฝั่งภาคเหนือของนอร์เวย์เช่นเดียวกัน เวลานี้นอกเหนือจากพวกท่าเรือริมทะเลบอลติกและทะเลดำแล้ว การที่นาวีแดนหมีขาวจะเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกก็จะต้องผ่านไปตามพวกช่องทางซึ่งอาจถูกนาโต้เข้าขัดขวางได้อย่างง่ายดาย ท่าเรือรัสเซียอีกเพียงแห่งเดียวเท่านั้นซึ่งมีเส้นทางเข้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างเป็นอิสระ ได้แก่ที่เมืองมูรมันสก์ (Murmansk) บนคาบสมุทรโคลา [13] ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย สำหรับการที่เมืองท่าแห่งนี้ยังกลายเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของทัพเรือภาคเหนือ (Northern Fleet) (ซึ่งเป็นกองเรือที่ทรงอำนาจที่สุด) ของรัสเซียอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของฐานทัพอากาศ, ฐานของทหารราบ, ขีปนาวุธ, และเรดาร์ นอกเหนือไปจากมีอู่เรือนาวีและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันถูกจัดให้เป็นหนึ่งในเขตพื้นที่ทหารที่มีการระแวดระวังมากที่สุดในรัสเซียทุกวันนี้

พิจารณาจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว ก็เป็นคำอธิบายที่ว่าทำไมประธานาธิบดีปูตินจึงได้ทุ่มเทชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างทัพเรือกองนี้ขึ้นมาใหม่ในทางสาระสำคัญ [14] หลังจากที่มันได้ตกต่ำทรุดโทรมถึงขั้นเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รวมทั้งยังกำลังเพิ่มแสนยานุภาพให้แก่ทัพเรือนี้ด้วยเรือรบจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระดับก้าวหน้าที่สุดของประเทศ ตามข้อมูลของ “เดอะ มิลิทารี บาลานซ์” (The Military Balance) สิ่งพิมพ์ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (International Institute for Strategic Studies) [15] อันเป็นองค์กรคลังความคิดชื่อดัง เมื่อปี 2018 ทัพเรือภาคเหนือนี้ได้ครอบครองเรือลาดตระเวน และเรือพิฆาตอันทันสมัยเอาไว้เป็นจำนวนมากที่สุด (10 ลำ) ยิ่งกว่าทัพเรือรัสเซียอื่นใดทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นก็มีเรือดำน้ำโจมตีจำนวน 22 ลำ และเรือสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่แถบเมืองมูรมันสก์ ยังมีเครื่องบินขับไล่ “มิก” ระดับก้าวหน้าอีกหลายสิบลำ ตลอดจนมีพวกระบบป้องกันที่ใช้ต่อสู้อากาศยานหลายๆ ระบบคละเคล้ากันอยู่และครอบคลุมพื้นที่อันกว้างขวาง สุดท้าย ขณะที่ปี 2019 ปิดฉากลง พวกเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซีย ได้บ่งบอกเป็นครั้งแรกว่า พวกเขาได้นำเอาขีปนาวุธนำวิถีชนิดยิงจากอากาศแบบ “คินซัล” (Kinzhal air-launched ballistic missile) มาติดตั้งประจำการในแถบอาร์กติกแล้ว [16] ระบบอาวุธนี้มีศักยภาพเคลื่อนที่ในอัตราความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ความเร็วมากกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) ทั้งนี้เป็นที่สันนิษฐานกันอีกว่าน่าจะประจำการอยู่ที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในเขตมูรมันสก์นี่แหละ ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ห่างแค่ 200 กิโลเมตรจากเขตฟินน์มาร์กของนอร์เวย์ อันเป็นสถานที่ซึ่งจะจัดการซ้อมรบภาคสนามของนาโต้ในต้นเดือนมีนาคมนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ทรงความสำคัญยิ่งไปกว่านี้เสียอีก ย่อมได้แก่หนทางที่มอสโกกำลังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนในภูมิภาคแถบนี้ เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐฯนั่นแหละ รัสเซียก็มีการคงระบบส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าสู่เป้าหมายเอาไว้ทั้ง 3 แบบ ได้แก่ ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (intercontinental ballistic missiles ใช้อักษรย่อว่า ICBMs), เครื่องบินทิ้งระเบิด “ขนาดหนัก” พิสัยไกล, และขีปนาวุธทิ้งตัวที่ยิงจากเรือดำน้ำ (submarine-launched ballistic missiles ใช้อักษรย่อว่า SLBMs)

ตามเงื่อนไขของ สนธิสัญญาลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (New Strategic Arms Reduction Treaty เรียกกันย่อๆ ว่า New START) [17] ซึ่งประเทศทั้งสองลงนามกันเอาไว้เมื่อปี 2010 ฝ่ายรัสเซียสามารถติดตั้งประจำการระบบส่งได้ไม่เกิน 700 ระบบ ซึ่งรวมๆ แล้วมีขีดความสามารถในการส่งหัวรบสู่เป้าหมายได้ไม่เกิน 1,550 หัวรบ (อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ยกเว้นแต่ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงเห็นพ้องให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ออกไปอีก ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากลำบากขึ้นทุกทีในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ [18]) ตามข้อมูลของสมาคมการควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) ฝ่ายรัสเซียในเวลานี้เป็นที่เชื่อกัน [19] ว่ากำลังติดตั้งประจำการหัวรบเป็นจำนวนสูงกว่าที่ได้รับอนุญาตตามสนธิสัญญา New START โดยที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก 66 ลำ, ขีปนาวุธ ICBMs 286 ระบบ, และเรือดำน้ำ 12 ลำที่ติดตั้งขีปนาวุธ SLBMs 160 ระบบ ในความเป็นจริงแล้ว เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้จำนวน 8 ลำ ได้รับมอบหมายให้เข้าสังกัดทัพเรือภาคเหนือ ซึ่งหมายความว่า ขีปนาวุธจำนวนรวม 110 ระบบ และหัวรบอาจจะมากถึง 500 หัวรบ (ตัวเลขที่ถูกต้องแน่นอนยังคงถูกปกปิดเป็นความลับ) ถูกติดตั้งประจำการอยู่ในพื้นที่แถบมูรมันสก์

สำหรับพวกนักยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ชาวรัสเซียแล้ว เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์เช่นนี้แหละที่ได้รับการพิจารณาว่า เป็นระบบตอบโต้ของแดนหมีขาวซึ่งมี “ความสามารถที่จะอยู่รอดได้” สูงที่สุด ในเหตุการณ์ที่มีการยิงอาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้กันกับสหรัฐฯ พวกเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก และขีปนาวุธ ICBMs นั้น อาจถูกพิสูจน์ให้เห็นว่า โดยเปรียบเทียบแล้วมีความอ่อนเปราะสูงกว่าที่จะถูกสหรัฐฯถล่มทำลายทิ้งเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเปิดฉากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งยังอาจตกเป็นเป้าหมายทำลายโดยพวกระเบิดและขีปนาวุธอเมริกันที่มีความแม่นยำระดับสูงมากๆ แต่สำหรับเรือดำน้ำเหล่านี้แล้ว พวกมันสามารถที่จะละทิ้งมูรมันสก์ และหนีหายเข้าไปในมหาสมุทรแอตแลนติกอันกว้างขวาง ตั้งแต่ตอนเริ่มเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นมา และดังนั้นจึงอาจสันนิษฐานได้ว่าจะยังคงสามารถหลบซ่อนตัวจากสายตาสอดแนมสืบความลับทั้งหลายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี การที่จะทำเช่นนี้ได้ จำเป็นที่เรือดำน้ำเหล่านี้จะต้องแล่นผ่านทะเลแบเร็นตส์ ขณะหลบหลีกกองกำลังนาโต้ซึ่งกำลังดักซุ่มอยู่ใกล้ๆ [20] พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สำหรับมอสโกแล้ว ความเป็นไปได้ของการป้องปรามการโจมตีทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯนั้น เป็นเรื่องที่อิงอาศัยความสามารถของรัสเซียเองในการป้องกันคุ้มครองที่มั่นทางนาวีของตนในมูรมันสก์ เวลาเดียวกับที่ยักย้ายเคลื่อนเรือดำน้ำของตนผ่านเขตฟินมาร์กของนอร์เวย์ [21] เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าพิศวงอะไร ในการที่พื้นที่บริเวณนี้ถูกพวกนักวางแผนทางทหารของฝ่ายรัสเซีย ถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมหาศาล – และจึงเป็นการแน่นอนว่า การซ้อมรบ โคลด์ เรสปอนซ์ 2020 ที่นาโต้กำลังจะจัดขึ้นมา จะถูกมองว่าคือการท้าทายพวกเขา

<i>แผนที่แสดงพื้นที่ทำการซ้อมรบ “โคลด์ เรสปอนซ์ 2020” ในนอร์เวย์ (ภาพจากเว็บไซต์ https://forsvaret.no/en/exercise-and-operations/exercises/cold-response) </i>
วอชิงตันสั่งสมกำลังทหารในเขตอาร์กติก

ระหว่างยุคสงครามเย็น วอชิงตันมองอาร์กติกเป็นสังเวียนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และได้ก่อสร้างฐานที่ตั้งทางทหารขึ้นมาชุดหนึ่งกระจายไปในเขตนี้ จุดมุ่งหมายหลักของฐานที่ตั้งเหล่านี้ได้แก่ การสกัดขัดขวางไม่ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดและขีปนาวุธของฝ่ายโซเวียตสามารถข้ามขั้วโลกเหนือตามเส้นทางเพื่อเข้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในอเมริกาเหนือ แต่หลังจากสหภาพโซเวียตพังทลายลงในปี 1991 วอชิงตันก็ได้ทอดทิ้งฐานที่ตั้งเหล่านี้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี มาในตอนนี้เพนตากอนกำลังระบุชี้ชัดอีกครั้งหนึ่งว่า “การแข่งขันกับมหาอำนาจรายใหญ่” นั่นคือกับรัสเซียและจีนนั้น เป็นคุณลักษณะซึ่งกำหนดสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน [22] และฐานที่ตั้งเหล่านี้จำนวนมากจึงกำลังมีการเปิดใช้งานกันขึ้นมาใหม่ [23] รวมทั้งมีการจัดตั้งแห่งใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย อาร์กติกจึงกำลังถูกจับตามองอีกคำรบหนึ่งว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกับรัสเซีย และผลจากทัศนะมุมมองเช่นนี้ก็คือ กองทหารสหรัฐฯกำลังถูกสั่งให้เตรียมการพรักพร้อมไว้สำหรับการสู้รบทำสงครามที่นั่น

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ เป็นเจ้าหน้าที่อเมริกันระดับสูงคนแรกที่ออกมาอธิบายขยายความเกี่ยวกับมุมมองทางยุทธศาสตร์อย่างใหม่นี้ เมื่อเขาไปพูดบนเวทีประชุมว่าด้วยอาร์กติก (Arctic Forum) ซึ่งจัดขึ้นที่ฟินแลนด์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ในคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ซึ่งถูกเรียกขานในทำนองว่าเป็น “ลัทธิพอมเพโอ” (Pompeo Doctrine) [24] เขาพูดเป็นนัยบ่งชี้ว่าสหรัฐฯกำลังปรับตัวเปลี่ยนแปลงจากการเพิกเฉยเพียงแค่มุ่งดูแลภูมิภาคนี้อย่างมีไมตรีจิต มาเป็นการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันด้วยอย่างแข็งกร้าวเชิงรุก รวมทั้งการเดินหน้าสั่งสมเพิ่มพูนแสนยานุภาพทางทหาร

“เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในเชิงยุทธศาสตร์ในเขตอาร์กติก” เขากล่าวยืนยัน [25] “สมบูรณ์พรักพร้อมไปถึงการเกี่ยวข้องพัวพันกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่มีต่ออาร์กติกและต่อทรัพย์สินของมัน และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นผลประโยชน์ของเราในภูมิภาคแถบนี้” เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นในเวลาที่รัสเซียกำลังสั่งสมเพิ่มพูนกำลังทางทหารขึ้นที่นี่ “เรากำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่การปรากฏตัวทางด้านความมั่นคงและทางการทูตของอเมริกาในภูมิภาคนี้ ... กำลังเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมทางทหาร, เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การปรากฏตัวของกองกำลังของเรา, จัดสร้างกองเรือตัดน้ำแข็งของเราขึ้นมาใหม่, ขยายเพิ่มพูนเงินทุนสำหรับกองกำลังยามฝั่ง, และกำหนดจัดวางตำแหน่งนายทหารระดับอาวุโสตำแหน่งใหม่ๆ ทำหน้าที่ประจำการดูแลกิจการอาร์กติกขึ้นมาภายในกองทัพของเรา”

เพนตากอนนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียดอะไรมากมาย แต่จากการติดตามอ่านสื่อของฝ่ายทหารอย่างใกล้ชิด บ่งบอกให้ทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเหล่านี้กำลังเน้นหนักโฟกัสเป็นพิเศษไปที่บริเวณภาคเหนือของนอร์เวย์และน่านน้ำต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เป็นต้นว่า เหล่าทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ (US Marine Corps) ได้สถาปนาการปรากฏตัวในนอร์เวย์อย่างเป็นทางถาวร ถือเป็นครั้งแรกที่มีกองทหารต่างชาติตั้งประจำอยู่ในประเทศนั้นภายหลังจากที่กองทหารเยอรมันเข้ายึดครองประเทศนั้นเอาไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ กองกำลังนาวิกโยธินอเมริกันส่วนแยก (detachment) กองหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกำลังพลราว 330 คน ตอนแรกทีเดียวได้เข้าประจำการตรงบริเวณใกล้ๆ กับเมืองท่า ทรอนด์เฮม (Trondheim) เมื่อปี 2017 [26] ด้วยเหตุผลที่อ้างกันว่าเพื่อช่วยเหลือการรักษาความปลอดภัยให้แก่ถ้ำต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นที่เก็บรักษารถถังและยานสู้รบของสหรัฐฯเอาไว้จำนวนหลายร้อยคัน อีก 2 ปีต่อมา กองกำลังขนาดใกล้เคียงกันนี้ได้ถูกส่งออกไปยังเขต ทรอมส์ (Troms) [27] ที่อยู่เหนือเส้นวงกลมอาร์กติก และประชิดเข้าใกล้ชายแดนรัสเซียขึ้นอีกมาก

จากทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซียแล้ว เรื่องที่ถือเป็นภัยคุกคามยิ่งกว่านี้มากมายนัก ได้แก่การก่อสร้างสถานีเรดาร์สหรัฐฯแห่งหนึ่งขึ้นมาบนเกาะวาร์โด (Vardø) ของนอร์เวย์ ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 65 กิโลเมตรจากคาบสมุทรโคลา สถานีแห่งนี้ซึ่งมีการดำเนินงานโดยร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรองของนอร์เวย์ มีหลักฐานชัดเจนว่ามุ่งโฟกัสอยู่ที่การสอดแนมจับตาดูพวกเรือดำน้ำรัสเซียที่สามารถติดตั้งขีปนาวุธได้ [28] โดยเป็นที่สันนิษฐานกันว่าเพื่อคอยเล็งเป้าใส่เรือดำน้ำเหล่านี้เอาไว้ และจัดการกำจัดทิ้งไปตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการสู้รบขัดแย้งใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา

เรื่องที่มอสโกมีความหวาดกลัวว่าจะเกิดผลลัพธ์ดังที่กล่าวมาเหล่านี้ ปรากฏหลักฐานชัดๆ จากการแกล้งโจมตีหลอกๆ [29] ต่อสถานีเรดาร์วาร์โดของฝ่ายสหรัฐฯ-นาโต้เมื่อปี 2018 ด้วยการจัดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดความเร็วเหนือเสียงแบบ “ซู-24” (Su-24) จำนวน 11 ลำ บินไปตามเส้นทางมุ่งตรงสู่เกาะแห่งนี้ ก่อนที่จะเบนออกไปข้างๆ ในนาทีสุดท้าย นอกจากนั้นรัสเซียยังโยกย้ายระบบขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นสู่ภาคพื้นหน่วยหนึ่ง มาประจำตรงจุดซึ่งอยู่ห่างจากเกาะวาร์โด 65 กิโลเมตร [30]

ความเคลื่อนไหวของฝ่ายอเมริกันยังไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ในเดือนสิงหาคม 2018 กองทัพเรือสหรัฐฯได้ตัดสินใจฟื้นฟูปลุกชีพ “กองเรือที่ 2” (Second Fleet) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลน่านน้ำในย่านแอตแลนติกเหนือขึ้นมาใหม่ หลังจากปลดประจำการไปก่อนหน้านี้ “กองเรือที่ 2 ใหม่ จะเพิ่มพูนความยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ของเราในการตอบโต้รับมือ –ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) (ของสหรัฐฯ) ไปจนถึงทะเลแบเร็นตส์” จอห์น ริชาร์ดสัน (John Richardson) ผู้บัญชาการทหารเรือ (Chief of Naval Operations) สหรัฐฯ กล่าวในเวลานั้น [31] และเมื่อปี 2018 สิ้นสุดลง กองเรือนี้ก็ได้รับการประกาศว่าสามารถปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่แล้ว

ถอดรหัสการซ้อมรบ “โคลด์ เรสปอนซ์ 2020”

การซ้อมรบ“โคลด์ เรสปอนซ์ 2020” จะต้องมองกันภายในบริบทของพัฒนาการต่างๆ ที่กล่าวหาทั้งหมดเหล่านี้ รายละเอียดของแนวความคิดเบื้องหลังเกมสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ยังแทบไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนกันเลย แต่มันไม่ใช่เรื่องยากหรอกที่จะจินตนาการได้ว่า ฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ของการซ้อมรบนี้อย่างน้อยที่สุดก็จะประกอบด้วย: เกิดการปะทะกันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในบางรูปแบบขึ้นมา จนนำไปสู่การเข้าโจมตีของฝ่ายรัสเซียซึ่งมุ่งหมายที่จะยึดสถานีเรดาร์บนเกาะวาร์โด และกองบัญชาการการป้องกันของนอร์เวย์ที่ โบโด (Bodø) ซึ่งตั้งอยู่ตรงชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ กองทหารที่รุกรานเข้ามาจะถูกชะลอแต่ยังไม่อาจถูกหยุดยั้งเอาไว้ได้ โดยกองทหารนอร์เวย์ (และพวกนาวิกโยธินอเมริกันซึ่งประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว) ขณะที่กำลังหนุนจำนวนหลายพันคนจากฐานทัพนาโต้ตามที่ต่างๆ ในยุโรปก็เริ่มต้นยกกันเข้ามาช่วย แน่นอนแหละว่าในท้ายที่สุดก็จะสามารถสกัดขัดขวางกระแสคลื่นแห่งการรุกรานเอาไว้ได้ โดยฝ่ายรัสเซียจะถูกบังคับให้ต้องถอยกลับไป

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์อย่างเป็นทางการจะกำหนดเอาไว้อย่างไร มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก สำหรับพวกนักวางแผนของเพนตากอนแล้ว สถานการณ์ยังจะเดินหน้าไปไกลต่อจากนี้อีกเยอะ มีการคาดการณ์สันนิษฐานกันเอาไว้แล้วว่า ไม่ว่าฝ่ายรัสเซียจะเข้าโจมตีสถานที่ตั้งทางทหารซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดของนอร์เวย์แห่งไหนๆ ก็ตามที จะต้องเริ่มต้นปูพื้นก่อนด้วยการถล่มโจมตีทางอากาศและด้วยขีปนาวุธอย่างหนักหน่วง รวมทั้งมีการเคลื่อนกองเรือรบขนาดใหญ่ๆ ออกมาเป็นกำลังส่วนหน้า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ย่อมส่งผลกลายเป็นตัวเร่งให้สหรัฐฯและนาโต้ต้องมีการเคลื่อนไหวตอบสนองในลักษณะสมน้ำสมเนื้อกันอย่างรวดเร็ว โดยบางทีอาจส่งผลทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง และการสูญเสียทรัพย์สินสำคัญๆ ของทุกๆ ฝ่าย ในกระบวนการเช่นนี้ กำลังเพื่อเตรียมไว้เพื่อการตอบโต้ทางนิวเคลียร์ที่ทรงความสำคัญยิ่งของรัสเซีย ย่อมจะตกอยู่ในความเสี่ยง และถูกสั่งให้อยู่ในความระมัดระวังเตรียมพร้อมระดับสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสเข้าประจำปฏิบัติการในโหมดที่ชวนให้ขนหัวลุก

หากเกิดการก้าวพลาดใดๆ ขึ้นมา มีหวังนำไปสู่สิ่งที่มนุษยชาติบังเกิดความหวาดกลัวกันเรื่อยมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1945 นั่นก็คือ เกิดความพินาศหายนะทางนิวเคลียร์บนดาวเคราะห์นามว่าโลก

ไม่มีทางเลยที่เราจะทราบว่าข้อพิจารณาทำนองนี้ถูกนำเข้าไปรวมอยู่ในฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ของการเอ็กเซอร์ไซส์ โคลด์ เรสปอนซ์ 2020 เวอร์ชั่นจริงซึ่งมีการปกปิดจัดชั้นความลับกันมากน้อยแค่ไหน แต่มันไม่น่าที่จะจะขาดหายไม่ได้รับการพิจารณาเอาเลยหรอก อันที่จริงแล้ว การซ้อมรบนี้ในเวอร์ชั่นซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2016 ได้มีการนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-52 ซึ่งสามารถใช้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ได้จำนวน 3 ลำจากกองบัญชาการยุทธศาสตร์ทางอากาศสหรัฐฯ (US Strategic Air Command) เข้าร่วมการฝึกในปีนั้นด้วย [32] เรื่องนี้ย่อมเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า กองทัพอเมริกันมีความตระหนักเป็นอันดีถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการบานปลายขยายตัวจากการเผชิญหน้าทางทหารขนาดใหญ่ใดๆ ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในเขตอาร์กติก

สรุปแล้ว สิ่งที่ช่างดูเหมือนกับเป็นการเอ็กเซอร์ไซส์ฝึกซ้อมกันตามกิจวัตรปกติในดินแดนส่วนที่อยู่ไกลโพ้นของโลก แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่กำลังปรากฏขึ้นมาใหม่ของสหรัฐฯที่ต้องการเอาชนะรัสเซียในพื้นที่แห่งการป้องกันซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นแนวปฏิบัติที่อาจส่งผลทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย แน่นอนทีเดียวว่าฝ่ายรัสเซียมีความตระหนักเป็นอย่างดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ และดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะกำลังเฝ้าจับตา โคลด์ เรสปอนซ์ 2020 ด้วยความหวั่นหวาดกังวลใจกันจริงๆ ความกลัวของพวกเขานั้นเป็นเรื่องที่สามารถเข้าอกเข้าใจได้ –ทว่าเราทั้งหมดก็ควรที่จะต้องมีความห่วงใยเกี่ยวกับการวางยุทธศาสตร์ซึ่งดูเหมือนจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างสูงที่จะเกิดการบานปลายขยายตัวขึ้นในอนาคต

นับแต่ที่ฝ่ายโซเวียตสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในความครอบครองของตนเองเมื่อปี 1949 เป็นต้นมา พวกนักยุทธศาสตร์ต่างแสดงความสงสัยว่าสงครามนิวเคลียร์แบบใหญ่โตเต็มพิกัด –พูดง่ายๆ ก็คือ สงครามโลกครั้งที่ 3 นั่นแหละ –จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและปะทุขึ้นที่ไหน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์มหาประลัยดังกล่าว เป็นที่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดโดยเกี่ยวข้องพัวพันกับการปะทะกันเพื่อชิงนครเบอร์ลินที่ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน หรือไม่ก็ตามแนวชายแดนแบ่งเขตตะวันออก-ตะวันตกในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว ความกลัวที่จะเกิดการเผชิญหน้าอันเลวร้ายเช่นนั้นก็เหือดระเหยหายไป และแทบไม่มีใครแล้วที่ขบคิดอะไรมากมายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เมื่อเรามองไปข้างหน้า ลู่ทางโอกาสที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อันวิบัติหายนะ กำลังกลับมาเป็นเรื่องซึ่งสามารถคาดคิดจินตนาการได้อีกครั้งหนึ่ง และในคราวนี้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นมาในเขตอาร์กติก อาจกลายเป็นชนวนนำไปสู่โลกาวินาศก็เป็นได้

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ “ทอมดิสแพตช์” หาอ่านข้อเขียนดั้งเดิมนี้ได้ที่ http://www.tomdispatch.com/post/176661/tomgram%3A_michael_klare%2C_war_in_the_arctic/#more)

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (peace and world security studies) ณ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) ในเมืองแอมเฮิร์สต์ รัฐแมสซาชูเซตส์ และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะอาวุโส ณ สมาคมการควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) เขาเขียนหนังสือมาแล้ว 15 เล่ม รวมทั้งเล่มล่าสุดที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ คือเรื่อง All Hell Breaking Loose: The Pentagon’s Perspective on Climate Change (สำนักพิมพ์ Metropolitan Books)

เชิงอรรถ

[1] https://www.stripes.com/news/a-cave-in-cold-hell-has-everything-a-marine-brigade-needs-to-fight-1.510256
[2] https://csis-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/legacy_files/files/publication/150826_Conley_NewIceCurtain_Web.pdf
[3] https://www.amazon.com/dp/0805091262/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20
[4] https://www.upi.com/Science_News/2018/12/12/NOAA-Arctic-warming-at-twice-the-rate-of-the-rest-of-the-planet/5141544580754/
[5] https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-07-19/arctic-summer-melt-shows-ice-is-disappearing-faster-than-normal
[6]https://www.eia.gov/international/content/analysis/countries_long/Norway/archive/pdf/norway_2016.pdf
[7] https://en.wikipedia.org/wiki/Shtokman_field
[8] https://www.eia.gov/international/content/analysis/countries_long/Russia/russia.pdf
[9] https://www.amazon.com/dp/0195398637/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20
[10] https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-07-09/russia-is-building-320-million-icebreakers-to-carve-new-arctic-routes
[11] https://csis-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/legacy_files/files/publication/150826_Conley_NewIceCurtain_Web.pdf
[12] https://www.eia.gov/international/analysis/special-topics/World_Oil_Transit_Chokepoints
[13] https://en.wikipedia.org/wiki/Murmansk
[14] https://csis-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/legacy_files/files/publication/150826_Conley_NewIceCurtain_Web.pdf
[15] https://www.iiss.org/
[16] https://thebarentsobserver.com/en/security/2019/12/russias-top-general-indirectly-confirms-arctic-deployment-unstoppable-missile
[17] https://www.armscontrol.org/factsheets/NewSTART
[18]https://www.tomdispatch.com/post/176491/tomgram%3A_james_carroll%2C_entering_the_second_nuclear_age/
[19] https://www.armscontrol.org/factsheets/Russian-Strategic-Nuclear-Forces-Under-New-START
[20] https://www.stripes.com/news/navy-and-allies-conduct-anti-submarine-drill-in-north-atlantic-1.535716
[21] https://www.nytimes.com/2017/06/13/world/europe/arctic-norway-russia-radar.html
[22] https://dod.defense.gov/Portals/1/Documents/pubs/2018-National-Defense-Strategy-Summary.pdf
[23] https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/cast-off-by-the-united-states-a-decade-ago-keflavik-is-again-a-key-lookout/
[24] https://www.tomdispatch.com/blog/176603/
[25] https://www.state.gov/looking-north-sharpening-americas-arctic-focus/
[26] https://www.reuters.com/article/us-norway-us-russia/norway-to-invite-more-u-s-marines-for-longer-and-closer-to-russia-idUSKBN1J8149
[27] https://www.marinecorpstimes.com/news/your-military/2019/03/29/new-marine-rotation-arrives-in-norway-as-corps-preps-for-a-cold-weather-fight/
[28] https://www.nytimes.com/2017/06/13/world/europe/arctic-norway-russia-radar.html
[29] https://nationalinterest.org/blog/buzz/early-2018-11-russian-bombers-flew-mock-attack-norwegian-radar-site-44647
[30] https://thebarentsobserver.com/en/security/2019/08/russia-deploys-bastion-missile-system-70-km-norways-vardo-radar
[31] https://news.usni.org/2018/08/24/cno-new-2nd-fleet-boundary-will-extend-north-edge-russian-waters
[32] https://www.stratcom.mil/Media/News/News-Article-View/Article/983856/b-52s-deploy-in-support-of-exercise-cold-response/
กำลังโหลดความคิดเห็น