xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เรียกร้อง ‘จีน’ เข้าร่วมวงเจรจาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ – สหรัฐฯ เริ่มกดดันจีนอีกครั้งเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) ให้เข้าร่วมวงเจรจาว่าด้วยการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์กับวอชิงตันและมอสโก หลังจากที่ปักกิ่งยืนกรานเสียงแข็งเรื่อยมาว่าไม่ต้องการมีส่วนร่วมในข้อตกลงลักษณะนี้

“จีนประกาศมานานว่าจะไม่แข่งขันด้านอาวุธ และไม่คิดเพิ่มขนาดคลังแสงให้เทียบชั้นสหรัฐฯ และรัสเซีย ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องทำตามที่พูด และพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นผู้เล่นระดับสากลที่มีความรับผิดชอบ” เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุ

เจ้าหน้าที่ผู้นี้เป็นหนึ่งในหลายคนที่ยอมให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวโดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ

แม้สหรัฐฯ และรัสเซียจะเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าจีนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การสยายอิทธิพลทางทหารของปักกิ่งในเอเชีย-แปซิฟิกก็ทำให้ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ และผู้วางนโยบายทั้งหลายอดที่จะกังวลไม่ได้

ทรัมป์ พยายามดึงจีนให้เข้าร่วมเจรจาจำกัดอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ และรัสเซีย เพื่อจัดทำข้อตกลงใหม่มาทดแทนสนธิสัญญา New START ระหว่างวอชิงตันกับมอสโกซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในเดือน ก.พ. ปี 2021

อย่างไรก็ตาม จีนแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เอาด้วย โดยอ้างกองกำลังนิวเคลียร์ของตนยังมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐฯ และรัสเซียมาก ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อป้องกันตนเอง ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชาติใด

“การที่จีนนิ่งเงียบทำให้เราไม่รู้ว่าพวกเขามีเจตนาอย่างไรแน่ และยิ่งทำให้สหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องป้องปรามและยกระดับความพร้อมทางการทหาร” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว

สนธิสัญญา New START เป็นข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียเพียงฉบับเดียวที่ยังเหลืออยู่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกสภาคองเกรสบางคนมองว่า ข้อเสนอของ ทรัมป์ ที่ให้รวมจีนเข้าไว้ในข้อตกลงฉบับใหม่ด้วยนั้นเป็นเพียงยุทธศาสตร์ “ยาพิษ” ที่มุ่งทำลาย New START และเปิดช่องให้สหรัฐฯ ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ทั้งนี้ สนธิสัญญา New START กำหนดห้ามสหรัฐฯ และรัสเซียนำหัวรบนิวเคลียร์เข้าประจำการเกิน 1,550 หัวรบ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ทั้งยังจำกัดจำนวนขีปนาวุธภาคพื้นดินและขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วย

สนธิสัญญาฉบับนี้สามารถต่ออายุได้สูงสุดครั้งละ 5 ปีหากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบ ซึ่งรัสเซียประกาศแล้วว่าพร้อมที่จะต่ออายุทันที ส่วนสหรัฐฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าเวลานี้จีนน่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองประมาณ 300 หัวรบ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้ว่า ในฐานะที่จีนก็เป็นมหาอำนาจทางทหารรายหนึ่ง จึงจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างมากด้วยเช่นกัน

“คุณจะเรียกร้องสถานะในเวทีโลกโดยปฏิเสธความรับผิดชอบต่อระเบียบสากลนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาควบคุมอาวุธเช่นเดียวกับสหรัฐฯ”
กำลังโหลดความคิดเห็น