รอยเตอร์ - มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เรียกร้องวันนี้ (15 พ.ย.) ให้รัฐบาลเกาหลีใต้จ่ายเงินอุดหนุนทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในแดนโสมเพิ่มขึ้น และล้มเลิกแผนฉีกสัญญาแบ่งปันข่าวกรองกับญี่ปุ่น
ภายหลังการหารือด้านนโยบายกับ จอง คยองดู (Jeong Kyeong-doo) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ เอสเปอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จำเป็นที่จะต้องปรับแผนการซ้อมรบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเจรจากับเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ดี เอสเปอร์ ไม่ได้ระบุว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะเปลี่ยนแปลงกำหนดการซ้อมรบร่วมที่จะมีขึ้นในเดือนหน้าหรือไม่
เกาหลีเหนือระบุวานนี้ (14) ว่าได้ปฏิเสธคำขอเจรจาของสหรัฐฯ ก่อนจะถึงกำหนดเส้นตายปลายปีที่ผู้นำ คิม จองอึน เรียกร้องให้วอชิงตันหันมาใช้นโยบายยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์โสมแดง
วอชิงตันและโซลอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่ที่ว่าด้วยวงเงินอุดหนุนในปีหน้าสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ 28,500 นายที่ช่วยคุ้มกันเกาหลีใต้จากภัยคุกคามโสมแดง
เอสเปอร์ ชี้ว่า เกาหลีใต้ “เป็นประเทศร่ำรวย และสมควรที่จะเพิ่มงบสนับสนุนมากกว่านี้”
“จำเป็นอย่างยิ่งที่เราทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงที่เกาหลีใต้ยอมรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปี”
จอง ระบุว่า ตนและ เอสเปอร์ เห็นตรงกันว่าการแชร์ค่าใช้จ่ายควรที่จะมีความเป็นธรรม และเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าทั้งสองคิดตรงกันหรือไม่ในเรื่องของจำนวนเงิน
ส.ส.เกาหลีใต้คนหนึ่งเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ เรียกร้องเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 5 เท่าของวงเงินที่โซลตกลงจะจ่ายให้ในปีนี้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เอ่ยย้ำหลายครั้งว่าเกาหลีใต้ควรจะแบกรับค่าใช้จ่ายมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่สหรัฐฯ ใช้ต่อรองกับพันธมิตรรายอื่นๆ ด้วย
จอง และ เอสเปอร์ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองกรณีที่เกาหลีใต้จะยกเลิกข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองกับญี่ปุ่น หรือ GSOMIA และยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามลดความขัดแย้งก่อนที่สนธิสัญญาจะหมดอายุลงในวันที่ 23 พ.ย. นี้
ความสัมพันธ์เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ขาลง หลังจากที่ศาลสูงเกาหลีใต้มีคำพิพากษาเมื่อปีที่แล้วให้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นหลายแห่งต้องจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นก็ตอบโต้ด้วยการคุมเข้มส่งออกวัตถุดิบที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมไฮเทคของเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา