xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้าอีกขั้น!ทีมวิจัยเริ่มทดสอบวัคซีนรักษาไวรัสโคโรนากับสัตว์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - คณะนักวิทยาศาสตร์อังกฤษเชื่อว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆที่เริ่มทดสอบวัคซีนรักษาโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธฺุ์ใหม่กับสัตว์ ในขณะที่ไวรัสชนิดคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 1,000 รายและแพร่กระจายไปทั่วโลก

เหล่านักวิจัยแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ระบุว่าเป้าหมายในท้ายที่สุดของพวกเขาคือมีการแนวทางที่มีประสิทธิผลและปลอดภัยสำหรับยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสคล้ายโรคซาร์ส ภายในช่วงสิ้นปี

"ณ เวลานี้ เราเพิ่งฉีดวัคซีนที่เราสร้างขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่หนูทดลองแล้ว" พอล แม็คเคย์ นักวิจัยจากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอนให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์(10ก.พ.) "เราหวังว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราจะสามารถสรุปปฏิกิริยาตอบสนองที่เราสามารถเห็นได้จากหนูเหล่านี้ ในเลือดของพวกมัน การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันที่มีต่อโคโรนาไวรัส"

พวกนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนาแนวทางสำหรับสยบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อย่างที่เคยประสบความสำเร็จกันมาแล้วในอดีต

อย่างไรก็ตามนักวิจัยจากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอนไม่แน่ใจว่างานวิจัยของคณะผู้เชี่ยวชาญกลุ่มอื่นๆนั้นมีความก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหนในตอนนี้

ซินหัว สื่อมวลชนแห่งรัฐของจีน อ้างสำนักข่าวท้องถิ่นรายงานว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ก็เพิ่งฉีดวัคซีนทดลองเข้าสู่หนูแล้วเช่นกันเมื่อวันอาทิตย์(9ก.พ.) ที่ผ่านมา ทว่าสื่อมวลชนท้องถิ่นแค่อ้างแหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามเท่านั้น และไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการทดสอบในจีนแต่อย่างใด

อังกฤษมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการยืนยัน 8 ราย และจำเป็นต้องปิดศูนย์การแพทย์ 2 แห่งในเมืองไบรท์ตัน ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ หลังเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2 คนมีผลตรวจไวรัสออกมาเป็นบวก

แม้มีความคืบหน้าในการเริ่มทดสอบกับหนูทดลอง แต่การพัฒนาวัคซีนหนึ่งๆนั้นมักมาพร้อมกับกระบวนการที่เพียรอุตสาหะ ซึ่งปกติแล้วอาจเกี่ยวข้องกับการทดลองในสัตว์และการวิจัยทางคลินิกที่ใช้เวลานานหลายปี

จากนั้นพวกคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบต้องทำให้แน่ใจว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามเหล่านักวิจัยแห่งวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน หวังว่างานวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสซาร์สเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน จะสามารถช่วยเร่งสิ่งต่างๆให้เร็วขึ้น

"เราหวังว่าจะเป็นกลุ่มแรกที่มีวัคซีนสำหรับเข้าสู่การวิจัยทางคลินิกกับมนุษย์ และบางทีนั่นอาจเป็นเป้าหมายส่วนตัวของเขา" แม็คเคย์กล่าว "เมื่อการวิจัยทางคลินิกเฟส 1 เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่เดือน มันก็สามารถเริ่มเข้าสู่การทดลองทางคลินิกเพื่อดูประสิทธิผลในมนุษย์ ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่เดือนเช่นกัน"

"ดังนั้น บางทีในช่วงปีนี้อาจจะมีวัคซีนผ่านการทดลองที่สามารถใช้การได้ และเหมาะสำหรับการใช้ในมนุษย์"

ทั้งนี้พวกนักวิทยาศาสตร์แสดงความหวังว่าความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนกับสัตว์ จะช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สามารถเริ่มเข้าสู่ขันตอนการวิจัยทางคลินิกได้ในช่วงราวๆเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น