รอยเตอร์ - องค์การอนามัยโลก(WHO) ในวันพุธ(5ก.พ.) ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่ระบุว่าค้นพบยา "ผ่าทางตัน" สำหรับรักษาผู้ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่ไวรัสชนิดนี้ก่อการแพร่ระบาดในจีนและลุกลามสู่ประเทศอื่นๆอีกอย่างน้อย 20 แห่งทั่วโลก
สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งของจีนรายงานว่าพวกนักวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ค้นพบยารักษาไวรัสอย่างได้ผล ในขณะที่สกายนิวส์ของอังกฤษ ระบุว่าพวกนักวิจัยมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนาวัคซีนตัวหนึ่ง รายงานข่าวนี้ช่วยดันให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งทะยานทันที
อย่างไรก็ตามเมื่อถูกถามเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว ทาริค จาซาเรวิค โฆษกขององค์การอนามัยโลกบอกว่า "ยังไม่รู้เกี่ยวกับวิธีการรักษา 2019-nCoV(ไวรัส) ที่ได้ผล และองค์การอนามัยโลกได้แนะนำเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม(randomized controlled trial) เพื่อทดสอบประสิทธิผลและความปลอดภัย"
ทั้งนี้กระบวนการพัฒนาและทดสอบยาหรือวัคซีนต่อต้านเชื้อโรคใหม่นั้น ปกติแล้วต้องใช้เวลานานหลายปีและบ่อยครั้งที่เผชิญข้อผิดพลาดและล้มเหลว
แม้ว่าปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวสามารถเร่งรัดได้ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่อย่างเร็วที่สุดพวกนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะสามารถเริ่มการทดลองวัคซีนรักษาโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่กับมนุษย์ ได้ในเดือนมิถุนายนปีนี้
คณะแพทย์ที่กำลังมองหาแนวทางต่างๆสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดูเหมือนจะลองพยายามใช้ยาต่อต้านการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เพื่อดูว่ามันสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยได้หรือไม่
กิลิแอด บริษัทผู้ผลิตยาสัญชาติสหรัฐฯบอกว่าพวกเขาได้เริ่มการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก(clinical trials) คนไข้ในจีนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยใช้ยาทดลองที่เรียกว่าเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) แต่ย้ำว่าในตอนนี้ยาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นของการเป็น "ยาที่อยู่ระหว่างการศึกษา" เท่านั้น และ "มันยังไม่ผ่านการอนุมัติไม่ว่าจะที่ไหนๆในโลก" กิลิแอดบอกกับรอยเตอร์
ทาง กิลิแอด บอกว่าพวกเขาได้เพิ่มการผลิตยาเรมเดซิเวียร์ที่จัดทำสต๊อกสำหรับใช้ในการแพร่รบาดของเชื้อไวรัสในอนาคต "เรากำลังทำสิ่งนี้มาก่อนแล้ว ก่อนที่จะทราบว่ายาสามารถรักษา 2019-nCoV อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผลหรือไม่"