วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รอดพ้นจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งวานนี้ (5 ก.พ.) ซึ่งไม่ผิดจากความคาดหมาย ขณะที่บรรยากาศการแถลงนโยบายประจำปี (state of union) ของผู้นำสหรัฐฯ เมื่อค่ำวันที่ 4 ก.พ. ร้อนระอุด้วยฉากดราม่าระหว่างประธานาธิบดีกับประธานสภาผู้แทนราษฎรหญิงจากพรรคเดโมแครต ซึ่งสะท้อนความความแตกแยกรุนแรงระหว่างฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครตในช่วงไม่กี่เดือนก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020
บทสรุปจากวุฒิสภาทำให้ ทรัมป์ พ้นมลทินในที่สุด หลังจากกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนถอดถอนของสภาคองเกรส
สภาผู้แทนราษฎรลงมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. รับรองญัตติถอดถอน ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส ซึ่งมูลเหตุสำคัญมาจากกรณีที่ ทรัมป์ ไปพูดจากดดันประธานาธิบดียูเครนให้ตรวจสอบ “โจ ไบเดน” ผู้สมัครชิงบัลลังก์ทำเนียบขาวตัวเต็งของฝ่ายเดโมแครต แถมยังขู่ระงับความช่วยเหลือทางทหารหากไม่ให้ความร่วมมือ
ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. วุฒิสภาซึ่งเปิดการไต่สวนญัตติถอดถอน ทรัมป์ ได้ลงมติ 51 ต่อ 49 เสียงคัดค้านข้อเรียกร้องของฝ่ายเดโมแครตที่ขอให้มีการเรียกเอกสารและเบิกตัวพยานเพิ่ม โดยเฉพาะ จอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องที่ ทรัมป์ พยายามล็อบบี้ต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ล่าสุดในเย็นวันพุธที่ 5 ก.พ. ส.ว.รีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ลงมติ 52-48 เสียง ประกาศให้ ทรัมป์ พ้นผิดจากข้อกล่าวหาใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยมีเพียง ส.ว. มิตต์ รอมนีย์ เท่านั้นที่หันไปเข้าร่วมกับฝ่ายเดโมแครตโหวตให้ ทรัมป์ มีความผิดจริง
วุฒิสภายังได้ลงมติ 53-47 เสียงให้ ทรัมป์ พ้นผิดจากข้อกล่าวหาขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรสด้วย
ทั้งนี้ หาก ทรัมป์ ถูกลงมติว่ามีความผิดตามข้อหาใดข้อหาหนึ่ง ก็มีโอกาสที่ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี จะได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ แทน
หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ผู้นำสหรัฐฯ ได้ขึ้นเวทีแถลงนโยบายประจำปีที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และปรากฏสัญญาณความตึงเครียดระหว่างฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครตตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสายเดโมแครต ยื่นมือออกไปเพื่อจะทักทาย ทรัมป์ แต่กลับถูกผู้นำสหรัฐฯ เมินหน้าหนี
ผู้ช่วยของทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่า ทรัมป์ และ เพโลซี ยังไม่ได้พูดคุยกันเลย นับตั้งแต่ฝ่ายหญิงวอล์คเอาท์จากวงประชุมในทำเนียบขาวเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว
หลังการแถลงนโยบายเป็นเวลา 80 นาทีของ ทรัมป์ เสร็จสิ้นลง เพโลซีได้ยืนขึ้นและฉีกสำเนาคำปราศรัยของผู้นำสหรัฐฯ ต่อหน้าชาวอเมริกันนับล้านคนที่รับชมการถ่ายทอดสดอยู่ ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังว่า “นี่คือการกระทำที่กล้าหาญ เมื่อพิจารณาทางเลือกอื่นๆ แล้ว”
สำหรับคำปราศรัยของ ทรัมป์ ในปีนี้เน้นหนักไปที่การโอ้อวดผลงานด้านเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการทำข้อตกลงการค้า และย้ำถึง “การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของอเมริกา (Great American Comeback)” ซึ่งคล้ายจะเป็นการเกทับรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้นำสายเดโมแครต
“ในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3 ปี เราได้ทำลายแนวคิดที่นำความตกต่ำมาสู่อเมริกา และปฏิเสธการลดทอนโชคชะตาของอเมริกา” ทรัมป์ กล่าว
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับจีนจะช่วยปกป้องแรงงานอเมริกัน ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกา และชี้ว่าความสัมพันธ์กับจีนในเวลานี้เรียกได้ว่า “ดีที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา” ขณะที่ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ก็จะช่วยสร้างตำแหน่งงานรายได้สูงในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกาได้เกือบ 100,000 ตำแหน่ง
ทรัมป์ ประกาศว่าสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนชาวคิวบา ชาวนิการากัว รวมถึงชาวเวเนซุเอลาให้ฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศ และยังกล่าวประณามประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลาว่าเป็น “ผู้ปกครองที่ไร้ความชอบธรรม” และเป็น “ทรราชกดขี่ประชาชน” ซึ่งจะต้องถูกบดขยี้และทำลายลงในที่สุด
ในด้านความมั่นคง ทรัมป์ ชี้ว่ารัฐบาลของเขาทุ่มงบสนับสนุนกองทัพมากเป็นประวัติการณ์ถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และยังกดดันชาติพันธมิตรนาโตให้ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงการจัดตั้งกองกำลังอวกาศ (US Space Force) ขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการสถาปนากองทัพอากาศสหรัฐฯ ขึ้นเมื่อ 70 ปีก่อน
ผู้นำสหรัฐฯ ยังเอ่ยถึง ‘แผนสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ที่เขาเสนอเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ว่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคตะวันออกกลาง และเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวหลายล้านคนมีอนาคตที่สดใส ขณะเดียวกันก็อ้างถึงผลงานการทำลายล้าง “รัฐคอลีฟะห์” ของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรักและซีเรีย และการปลิดชีพ อบูบาการ์ อัล-บักดาดี ผู้นำสูงสุดไอเอส
ทรัมป์ ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะดึงสหรัฐฯ ออกจากสงครามในตะวันออกกลาง และพาทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานกลับบ้าน เขาย้ำว่าสหรัฐฯ “ไม่ได้มีหน้าที่เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายให้กับประเทศอื่นๆ” และไม่ได้ต้องการเข่นฆ่าชาวอัฟกันนับแสนๆ คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์
สำหรับนโยบายในประเทศ ทรัมป์ประกาศจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน และอุโมงค์ทางลอดต่างๆ ที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการใช้งานมายาวนาน และรับรองว่าจะขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็วิจารณ์นโยบายของฝ่ายเดโมแครตที่ต้องการให้รัฐเพิ่มวงเงินอุดหนุนประกันสุขภาพว่าเป็น “การเทคโอเวอร์ของฝ่ายสังคมนิยม (socialist takeover)” ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติล้มละลาย, บั่นทอนสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และให้ท้ายพวกผู้อพยพผิดกฎหมาย
ในประเด็นคนเข้าเมือง ผู้นำสหรัฐฯ ยังชูแนวคิดเดิมๆ คือสกัดไม่ให้ผู้อพยพข้ามชายแดนตอนใต้เข้ามาในสหรัฐฯ พร้อมตำหนิเมืองต่างๆ ซึ่งให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพผิดกฎหมาย (sanctuary cities) ว่าทำ “ไม่ถูกต้อง”
ผลสำรวจล่าสุดของแกลลัปโพลที่เผยแพร่ในวันอังคาร (4 ก.พ.) พบว่า คะแนนนิยมในตัว ทรัมป์ ขณะนี้พุ่งขึ้นไปถึง 49% สูงที่สุดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2017 โดยชาวอเมริกันประมาณครึ่งหนึ่งสนับสนุนให้ ทรัมป์ รั้งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย และอีก ครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วย