รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยรายละเอียดของแผนสันติภาพตะวันออกกลางซึ่งเขาหวังว่าจะช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่สร้างความหนักอกหนักใจแก่บรรดาผู้ไกล่เกลี่ยมานานหลายสิบปี ขณะที่ผู้นำปาเลสไตน์ออกมาประณามแผนของผู้นำสหรัฐฯ ว่ากำหนดเงื่อนไขเข้มงวดต่อฝ่ายตน แต่กลับเปิดทางให้อิสราเอลมีอำนาจควบคุมถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงค์
ทรัมป์ ยกย่องแผนสันติภาพฉบับนี้ว่าเป็น “ดีลแห่งศตวรรษ” ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกมาให้กำลังใจว่า “เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” สำหรับการรื้อฟื้นเจรจา เช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ซึ่งส่งสัญญาณหนุนข้อเสนอของอเมริกาเช่นกัน
ประเด็นสำคัญในข้อพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์มีอะไรบ้าง?
- สถานะของเยรูซาเลม รวมถึงศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในศาสนายูดาย, อิสลาม และคริสต์
- การกำหนดเส้นพรมแดนที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบ
- การกำหนดมาตรการรักษาความมั่นคงเพื่อป้องกันไม่ให้ปาเลสไตน์และชาติเพื่อนบ้านคู่อริโจมตีอิสราเอล
- ข้อเรียกร้องของปาเลสไตน์ที่ต้องการสร้างรัฐใหม่ขึ้นบนพื้นที่เวสต์แบงค์, ฉนวนกาซา และเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งถูกอิสราเอลเข้ายึดครองภายหลังสงครามตะวันออกกลางปี 1967
- แนวทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีอยู่นับล้านคน
- แนวทางแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำ
- ข้อเรียกร้องของปาเลสไตน์ซึ่งต้องการให้อิสราเอลรื้อถอนบ้านเรือนชาวยิวในเวสต์แบงค์และเยรูซาเลม โดยปัจจุบันมีพลเมืองอิสราเอลกว่า 400,000 คนเข้าไปอาศัยอยู่รวมกับชาวปาเลสไตน์ 3 ล้านคนในเวสต์แบงค์ และยังมีชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเลมตะวันออกอีกราว 200,000 คน
‘ทรัมป์’ เสนออะไรบ้าง?
ภายใต้ข้อเสนอของทรัมป์ สหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเขตพื้นที่ยึดครองเวสต์แบงค์ ขณะที่ทำเนียบขาวออกคำแถลงชี้แจงรายละเอียดสำคัญๆ ดังนี้
- สหรัฐฯ ได้จัดทำแผนที่ซึ่งระบุเส้นพรมแดนสำหรับ 2 รัฐควบคู่ที่เป็นไปได้จริง และเสนอแนวทางในการสถาปนารัฐปาเลสไตน์
- รัฐปาเลสไตน์ที่ก่อตั้งขึ้นจะต้อง “ปลอดทหาร” (demilitarized) เพื่อดำรงอยู่ร่วมกับอิสราเอลได้อย่างสันติ ทว่ามีการกำหนดเงื่อนไขเข้มงวดซึ่งฝ่ายปาเลสไตน์น่าจะยอมรับไม่ได้
- อิสราเอลจะยอม “แช่แข็ง” การขยายถิ่นฐานชาวยิวเป็นเวลา 4 ปีเพื่อสนับสนุนทางแก้ปัญหาแบบ 2 รัฐควบคู่ ทว่าภายหลังเจ้าหน้าที่อิสราเอลคนหนึ่งได้ออกมาปฏิเสธกลายๆ ต่อแนวคิดนี้
- จะไม่มีชาวปาเลสไตน์หรือชาวยิวถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานบ้านเรือนของตน ซึ่งตีความได้ว่าชุมชนชาวยิวในเวสต์แบงค์ก็จะยังคงอยู่ต่อไป
- ให้มีการคงสถานะปัจจุบันของวิหารศักดิ์สิทธิ์ ‘เท็มเพิล เมานท์’ หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า ‘ฮะรอม อัช-ชะรีฟ’ ซึ่งตั้งอยู่ในเยรูซาเลมฝั่งตะวันออก และเป็นพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยอิสราเอลภายหลังสงครามปี 1967
- รัฐบาลอิสราเอลจะ “ยังคงปกป้อง” บรรดาศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ในเยรูซาเลมต่อไป และจะรับรองเสรีภาพในการเข้าสักการะบูชาหรือปฏิบัติศาสนกิจสำหรับชาวยิว คริสต์ มุสลิม และผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ
- เยรูซาเลมจะต้องไม่ถูกแบ่งแยก และยังคงเป็นเมืองหลวงหนึ่งเดียวของอิสราเอล
- เมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์จะครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลออกมาชี้แจงว่าหมายถึงหมู่บ้านอบูดิส (Adu Dis) ซึ่งอยู่ห่างจากย่านเมืองเก่าเยรูซาเลมไปทางตะวันออกราว 1 ไมล์
- ทรัมป์ ยินดีจะเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ในเมืองหลวงปาเลสไตน์ และเสนอแผนระดมเงินลงทุน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐปาเลสไตน์ ซึ่ง “หากบริหารจัดการได้ดี” ก็จะช่วยสร้างงานให้ชาวปาเลสไตน์ได้ถึง 1 ล้านตำแหน่ง
ทำไมเสนอแผนสันติภาพตอนนี้?
นักวิจารณ์บางคนมองว่า ทรัมป์ และ เนทันยาฮู มีเจตนาเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศตัวเอง โดย ทรัมป์ นั้นกำลังถูกสภาคองเกรสไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเวลานี้เรื่องก็ดำเนินมาถึงชั้นวุฒิสภาแล้ว ส่วน เนทันยาฮู ก็เพิ่งโดนอัยการยื่นฟ้องข้อหาทุจริตในเดือน พ.ย.
ปีนี้ยังเป็นปีแห่งการเลือกตั้งสำหรับผู้นำทั้งคู่ โดย ทรัมป์ จะลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. ขณะที่อิสราเอลก็กำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ซึ่ง เนทันยาฮู เคยล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากมาแล้วในปี 2019
ทรัมป์ ชะลอเปิดตัวแผนสันติภาพตะวันออกกลางมาแล้วหลายหนเพื่อไม่ให้กระทบคะแนนนิยมของ เนทันยาฮู ในช่วงเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าถ้ายอมอ่อนข้อในประเด็นถิ่นฐานชาวยิวหรือการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ อาจจะทำให้ชาวยิวฝ่ายขวาที่เป็นฐานเสียงหลักของ เนทันยาฮู ไม่พอใจ
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในทีมสันติภาพของ ทรัมป์ ระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ เองก็มีกรอบเวลาทางการเมือง และไม่สามารถรอไปอีกหลายเดือนจนกว่าอิสราเอลจะตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
กระบวนการเจรจาสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์พังครืนลงในปี 2014 โดยอุปสรรคสำคัญก็คือการที่อิสราเอลยังคงเดินหน้าขยายชุมชนชาวยิวในเขตพื้นที่ยึดครอง บวกกับความหวาดระแวงซึ่งกันและกันที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ประกาศว่าสหรัฐฯไม่ถือว่าชุมชนชาวยิวในเวสต์แบงค์เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการพลิกจุดยืนที่อเมริกายึดถือมานานกว่า 40 ปี
ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ
เนทันยาฮู ซึ่งไปร่วมงานแถลงเปิดตัวแผนสันติภาพของ ทรัมป์ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า “นี่คือวันแห่งประวัติศาสตร์” และยังยกย่องแผนของ ทรัมป์ ว่ายิ่งใหญ่พอๆ กับตอนที่ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน รับรองสถานะของอิสราเอลในปี 1948
“ท่านเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่ให้การยอมรับในอธิปไตยของอิสราเอลเหนือแผ่นดินยูเดีย (Judea) และซามาเรีย (Samaria) ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงของเราอย่างยิ่งยวด และเป็นศูนย์กลางแห่งมรดกของเรา” เนทันยาฮู อ้างถึงชื่อของเวสต์แบงค์ในพระคัมภีร์ไบเบิล
ในทางกลับกัน ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ประณามแผนสันติภาพของ ทรัมป์ ว่าเป็น “การตบหน้าฉาดใหญ่แห่งศตวรรษ” (slap of the century)
“ผมขอบอก ทรัมป์ และ เนทันยาฮู ให้รับรู้ไว้ด้วยว่า เยรูซาเลมไม่ใช่ของซื้อของขาย สิทธิ์ของเราทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่จะมาซื้อขายหรือต่อรองกันได้ และแผนสมคบคิดของพวกคุณจะไม่มีวันสำเร็จ”
ขบวนการฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ที่มีฐานที่มั่นในกาซาก็วิจารณ์ ทรัมป์ ว่าใช้วาจา “ก้าวร้าว” และมีแต่จะเพิ่มความโกรธแค้นให้แก่ชาวปาเลสไตน์
“ข้อเสนอของ ทรัมป์ เกี่ยวกับเยรูซาเลมเป็นเรื่องไร้สาระ และเยรูซาเลมจะเป็นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ตลอดไป”
ทั้งนี้ ผู้นำปาเลสไตน์ถือว่าสหรัฐฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยอีกต่อไป หลังจากที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศนโยบายหลายอย่างที่สร้างความลิงโลดแก่อิสราเอล แต่เหยียบย่ำจิตใจชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล, ย้ายสถานทูตอเมริกันจากเทลอาวีฟไปเยรูซาเลม และยังตัดงบประมาณหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ เคยจ่ายเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์