เอเอฟพี – สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์แห่งจอร์แดนทรงออกมาเตือนในวันจันทร์ (13) ว่า กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กำลังรวมตัวกันและจะฟื้นกลับมาอีกครั้งในตะวันออกกลาง
ไม่กี่เดือนหลังจากการขับไล่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) จากแหล่งกบดานในซีเรียเมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ ตรัสว่า ความกังวลหลักของพระองค์คือ เมื่อปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการก่อตัวขึ้นใหม่และการฟื้นขึ้นมาของกลุ่มไอซิส ไม่ใช่แค่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของซีเรียแต่ในภาคตะวันตกของอิรักด้วย
“เราต้องการจัดการกับการปรากฏตัวอีกครั้งของไอซิส” พระองค์ ตรัสเสริมในการประทานสัมภาษณ์กับช่องโทรทัศน์ฟรานส์ 24 ก่อนการพูดคุยในบรัสเซลส์ สตราสบูร์ก และปารีสสัปดาห์นี้ พระองค์ยังตรัสด้วยว่า นักรบต่างชาติจำนวนมากจากซีเรียตอนนี้อยู่ในลิเบีย
“จากมุมมองของยุโรป ลิเบียอยู่ใกล้กับยูโรปมากกว่า นี่จะเป็นการหารือครั้งสำคัญในสองวันข้างหน้า” พระองค์ ตรัส
“นักรบหลายพันคนออกจากจังหวัดอิดลิบของซีเรียผ่านชายแดนทางเหนือและลงเอยในลิเบีย นั่นเป็นสิ่งที่พวกเราในภูมิภาค รวมถึงเพื่อนของเราในยุโรป จะต้องจัดการในปี 2020”
สำหรับเรื่องความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ ตรัสว่า พระองค์หวังว่า ในช่วงเวลาอีกหลายเดือนข้างหน้า เราจะสามารถกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้กับภูมิภาคนี้ ซึ่งอันที่จริงก็อุณภูมิเย็นลงแล้ว”
“จนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าความรุนแรงจะลดน้อยลง เราหวังว่ามันจะเป็นเช่นนี้ต่อไป เราไม่อาจปล่อยให้เกิดความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคของเรา”
“อะไรก็ตามที่เกิดในเตหะรานจะกระทบแบกแดด อัมมาน เบรุต และกระบวนการอิสราเอล-ปาเลสไตน์”
พระองค์ตรัสว่า การจัดส่งทหารตุรกีที่มี “ความสามรถด้านการฝึกฝน” ไปยังลิเบียเมื่อไม่นานมานี้จะรังแต่ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นในประเทศนั้น
ทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งของลิเบียเห็นพ้องว่าจะหยุดยิงตั้งแต่วันอาทิตย์ (12) เพื่อยุติการสู้รบนานหลายเดือน ภายหลังหลายสัปดาห์ของการทูตระหว่างประเทศและการเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงโดยรัสเซียและตุรกี สองมหาอำนาจคนกลาง
รายงานยูเอ็นในเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า หลายประเทศกำลังละเมิดคำสั่งห้ามขนส่งอาวุธในลิเบียที่มีผลนับตั้งแต่การโค่นล้ม โมอัมมาร์ กัดดาฟี ในปี 2011
จอร์แดนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักจัดส่งอาวุธให้กองกำลังของนายพลคาลิฟาร์ ฮาฟตาร์ ผู้ทรงอิทธิพลทางทหารแห่งลิเบีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคู่แข่งในภูมิภาคของตุรกีอย่าง ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และยูเออี
จอร์แดน ซึ่งเสถียรภาพของประเทศนี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อตะวันออกกลาง รองรับผู้ลี้ภัยอยู่ประมาณ 1.3 ล้านคนจากซีเรีย