xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : “ไวรัสอู่ฮั่น” เพิ่มแรงบีบคั้นเศรษฐกิจจีนซึ่งกำลังชะลอตัวอยู่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>อาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในเมืองอู่ฮั่น ในภาพถ่ายจากทางอากาศเมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.) อยู่ในสภาพเหงียบเหงา ถนนสายใหญ่แทบไม่มีรถราสัญจร  ภายหลังจากทางการประกาศมาตรการคุมเข้มที่เป็นเสมือนการกักกันโรคในทางพฤตินัย  เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่  สภาพเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น </i>
โรงภาพยนตร์ต่างว่างเปล่าร้างผู้คน, ขบวนรถไฟไฮสปีดถูกยกเลิก, สถานที่ทjองเที่ยวพากันปิด, ทั่วทั้งมณฑลอยู่ในสภาพถูกกักกันโรค : มาตรการเข้มข้นยิ่งกว่าธรรมดาซึ่งนำออกมาใช้โดยทางการจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่จะได้ผลขนาดไหนเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันด้วยใจระทึก ขณะเดียวกันมาตรการเหล่านี้ก็ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนอย่างช่วยไม่ได้ ต่อเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอลงอยู่แล้วของแดนมังกร

จากการที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรายนี้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้บริโภคภายในประเทศของตนเป็นแรงขับเคลื่อนอัตราการเติบโตขยายตัว จึงถือได้ว่าไวรัสร้ายชนิดนี้ออกฤทธิ์ออกเดชในจังหวะเวลาซึ่งเลวร้ายที่สุด นั่นคือขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนเดินทางกระจายไปทั่วประเทศเนื่องในเทศกาลวันหยุดตรุษจีน

จีดีพีของแดนมังกรในปี 2019 ขยายตัวในอัตรา 6.1% ถึงแม้ตัวเลขนี้ยังคงสูงลิ่วเป็นระดับแถวหน้าของโลก แต่สำหรับจีนเองมันเป็นฝีก้าวซึ่งเชื่องช้าที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ และสงครามการค้ากับสหรัฐฯ

กระนั้น พวกตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจในรอบไตรมาสสุดท้ายของปี 2019 ก็บ่งชี้ถึงเสถียรภาพในบางระดับ และข้อตกลงการค้า เฟส 1 ที่เพิ่งลงนามกับสหรัฐฯเมื่อเร็วๆ ก็ก่อให้เกิดความหวังอย่างน้อยในระยะสั้น

กระนั้น จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์แห่ง แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ก็ลงความเห็นว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย” ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ จะกลายเป็นการกระหน่ำตีครั้งใหม่ต่อเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง ตลอดจนการบริโภคในวงกว้าง ทั้งสำหรับภัตตาคารร้านอาหารต่างๆ และภาคการค้าปลีก

การประกาศขยายช่วงวันหยุดตรุษจีนไปอีก 3 วัน ยังหมายความว่าแดนมังกรจะค่อยๆ กลับคืนสู่ธุรกิจปกติได้ก็ต้องหลังจากวันจันทร์ (3 ก.พ.) ไปแล้ว

มีบริษัทบางแห่งแจ้งลูกจ้างพนักงานให้ทำงานจากบ้าน หรือออกห่างจากที่ทำงาน เป็นต้นว่า เทนเซนต์ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทค ซึ่งบอกคนของตนให้ทำงานจากบ้านไปจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์

ภัตตาคารร้านอาหารยอดนิยม อย่างเครือข่ายร้านอาหารหม้อไฟไห่ตี่เลา จะปิดร้านทุกสาขาในจีนไปจนกระทั่งสิ้นเดือนนี้

รัฐบาลยังสั่งให้ยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งอาจกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคการท่องเที่ยว - อุตสาหกรรมสำคัญยิ่งที่มีมูลค่าเท่ากับ 11% ของจีดีพีรวมของประเทศ

ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบยังออกคำแนะนำในวันอังคาร (28 ม.ค.) ให้ผู้เดินทางชาวจีนทั้งหมดยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศเอาไว้ก่อน “เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนชาวจีนและชาวต่างประเทศ” --ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับอุตสาหกรรมสายการบินของแดนมังกร

พวกโรงงานก็เจอหนัก

ปริมาณการสัญจรทั้งทางรถไฟและทางอากาศในวันแรกของปีใหม่ทางจันทรคติของจีน ต่างลดฮวบลงมากว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลของรองรัฐมนตรีคมนาคม

ขบวนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกลายเป็นวิธีเดินทางที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศพื้นที่กว้างใหญ่อย่างจีน ถูกระงับไปมากกว่า 2,000 เที่ยวทีเดียว โดยระยะเวลาหยุดให้บริการอาจยาวนานไปอีกหลายวันหรือกระทั่งหลายสัปดาห์

อีกภาคอุตสาหกรรมหนึ่งซึ่งเคยทำท่าจะขยายตัวได้ดี นั่นคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เจอกับแรงกระทบกระเทือนเช่นกัน

รายได้จากโรงภาพยนตร์ในจีนในวันสุกดิบก่อนวันตรุษจีน ทำได้เพียงแค่ 10% ของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้คนพากันหลีกหนีฝูงชนที่คาดว่าจะคลาคล่ำตามโรงหนัง และภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์เรื่องสำคัญที่กำหนดนำออกฉายช่วงตรุษจีนถึง 7 เรื่อง ก็ถูกยกเลิกไปก่อน

พวกนักวิเคราะห์ที่บริษัท เอสแอนด์พี บอกว่า การบริโภคเป็นตัวสร้างอัตราเติบโตของจีนในปี 2019 ถึงราว 3.5% ทีเดียว พร้อมกับเตือนว่ากระทั่งการบริโภคลดไปสักแค่ 10% ก็จะทำให้จีดีพีต่ำลงไปราว 1.2%

มาตรการควบคุมการระบาดด้วยการปิดพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง กำลังส่งผลร้ายแรงที่สุดในหูเป่ย มณฑลทางภาคกลางของจีนซึ่งเมืองเอกคือ อู่ฮั่น เมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสครั้งนี้ ทั้งนี้สถานีรถไฟต่างๆ ของหูเป่ยถูกสั่งปิด พวกงานพิธีฉลองต่างๆ ถูกสั่งงด โรงหนังโรงละคร, ห้องสมุด, และบาร์คาราโอเกะ ต้องหยุดทำการในบางท้องที่

แต่นอกเหนือจากการบริโภคและการขนส่งแล้ว การปิดตายเช่นนี้อาจส่งผลกระทบในระยะยาวไกลต่ออุตสาหกรรมการผลิตอีกด้วย

อู่ฮั่น ซึ่งมีพลเมือง 11 ล้านคน นอกจากเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านคมนาคมขนส่งแล้ว ยังเป็นฮับอุตสาหกรรมการผลิตแห่งใหญ่ ที่ผลิตทั้งเหล็กกล้าและรถยนต์ ก่อนถูกประกาศเป็นพื้นที่กักกันโรคในทางพฤตินัยอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่วันพฤหัสบดี (23) ที่ผ่านมา

“อู่ฮั่นเป็นฮับสำคัญและศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตในภาคกลางของจีน ถ้าการปิดเมืองยังดำเนินต่อไปหลังช่วงวันหยุดตรุษจีนแล้ว ก็จะส่งผลเสียหายต่อการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังขับดันการเติบโตอันสำคัญของนครแห่งนี้” เรย์มอนด์ เยือง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านจีน แห่ง เอเอ็นแซด รีเสิร์ช กล่าวให้ความเห็น

<i>ถนนหนทางที่ว่างเปล่าในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (28 ม.ค.) สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้คนไม่ค่อยออกนอกบ้าน  และย่อมต้องส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน </i>
สายโซ่การผลิตสลับซับซ้อน

อู่ฮั่น เป็นผู้สร้างจีดีพีจีนประมาณ 1.6% ทั้งนี้ตามตัวเลขของเอสแอนด์พี ขณะที่หอการค้าญี่ปุ่นในเมืองนี้ระบุ มีบริษัทญี่ปุ่นราว 160 แห่งตั้งสำนักงานอยู่ที่นี่

ผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศจำนวนมาก เป็นต้นว่า เจเนอรัลมอเตอร์ส และเรโนลต์ ผลิตยวดยานในเมืองนี้ผ่านทางกิจการร่วมทุนกับเหล่าบริษัทจีน

มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในเมืองอู่ฮั่น อยู่ที่ราวๆ 400,000 ล้านหยวน (57,000 ล้านดอลลาร์) ตามรายงานในหนังสือพิมพ์ ฉางเหลียงเดลี่

นครแห่งนี้เคยคาดการณ์ว่าผลิตรถยนต์ได้ราว 1.7 ล้านคันในปี 2018 รายงานของฉางเหลียงบอก

“สายโซ่การผลิตที่สลับซับซ้อน และการผลิตแบบ “จัสต์อินไทม์” อาจหมายความว่าการผลิตที่สะดุดลงในโรงงานต่างๆ ของอู่ฮั่น อาจมีผลกระทบเปรอะเปื้อนอุตสาหกรรมในที่อื่นๆ ไปด้วยอย่างกว้างขวาง” เอสแอนด์พีระบุเตือนเอาไว้ในงานวิจัยฉบับสั้นชิ้นหนึ่ง

หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่การระบาดครั้งนี้จะถูกนำมาเปรียบเทียบกับครั้งเกิดโรงระบาด “ซาร์ส” เมื่อปี 2003 ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบๆ 650 คนทั่วทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

อีแวนส์-พริตชาร์ด กล่าวเตือนว่า มีความเสี่ยงที่ไวรัสชนิดใหม่นี้อาจแพร่ขยายไปได้กว้างขวางกว่าและรวดเร็วกว่าโรคซาร์ส โดยเขาชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การเดินทางไปต่างประเทศในยุคนี้ ได้เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว ขณะที่การสัญจรของผู้โดยสารก็มากขึ้นกว่า 3 เท่าตัวหากเทียบกับเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา

เขาชี้ว่า ระหว่างการระบาดของซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อน การสัญจรของพวกผู้โดยสารได้ลดจำนวนลงครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับอัตราร้อยละของการเติบโต อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาสองสามเดือน

แต่ เยือง แห่งเอเอ็นแซด มองว่า รัฐบาลจีนได้เรียนรู้บทเรียนในเรื่องวิธีรับมือกับโรคระบาดมาแล้ว ดังนั้น “ผลกระทบอาจจะรุนแรงน้อยลง” กว่าครั้งที่เกิดโรคซาร์สก็ได้

ด้าน ออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ กล่าวในรายงานฉบับย่อชิ้นหนึ่งว่า การระบาดคราวนี้มีศักยภาพที่จะเป็น “เหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแรง แต่มีอายุแค่สั้นๆ” โดยที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงในช่วง 2 ไตรมาสแรก

(เก็บความจากเรื่อง Virus crisis adds pressure on slowing Chinese economy ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น