เดลิเมล์/มิร์เรอร์ - คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นภาพผู้หญิงชาวจีนกำลังกินค้างคาวทั้งตัวภายในร้านอาหารแห่งหนึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงบนสื่อสังคมออนไลน์และสร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว ในขณะที่ประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญกับการพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเชื่อกันว่าอาจมีต้นตอจากสัตว์ปีก
นอกจากนี้ในอีกคลิปวิดีโอยังปรากฏภาพที่อ้างว่าเป็นพากลูกค้าพูดภาษากวางตุ้งกำลังรับประทานซุปที่ทำจากสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน
เวลานี้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งโผล่ขึ้นมาในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีนเมื่อเดือนก่อน ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 17 ศพ และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 590 คน รวมถึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดตายเมืองที่มีประชากร 11 ล้านคน
ด้วยที่ยังไม่มีใครทราบที่มาที่ไปของไวรัส พวกนักวิทยาศาสตร์จึงเกรงว่าบางทีมันอาจติดต่อจากสัตว์ อาทิงูหรือค้างคาว สู่มนุษย์
เว็บไซต์มิรเรอร์ อ้างอิงจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chinese Science Bulletin ระบุว่า จากที่นักวิจัยประเมินสถานการณ์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ค้างคาวผลไม้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโฮสต์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ลักษณะคล้ายกับโรคปอดบวม และโรคซาร์ส อย่างไรก็ดี ยังไม่ทราบตัวกลางระหว่างมนุษย์และค้างคาวที่ชัดเจนว่าสามารถกลายเป็นโรคติดต่อได้อย่างไร
ปกติแล้วค้างคาวมักถูกใช้ในยาจีนแผนโบราณซึ่งใช้รักษาอาการป่วยต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงอาการไอ, ไข้มาลาเรียและโรคหนองในแท้ และยังเชื่อกันด้วยว่าอุจจาระของค้างคาวยังสามารถรักษาโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้อีกด้วย
นักไวรัสวิทยาชั้นนำรายหนึ่งของจีน ซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในเอเชียเมื่อปี 2003 เตือนว่าสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนาที่มาจากจีนนี้ อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดเลวร้ายกว่าวิกฤตด้านสาธารณสุขเมื่อ 17 ปีก่อน อย่างน้อยๆ 10 เท่า
ในวิดีโอแรกที่กำลังเป็นคลิปฮิตอยู่บนเว็บไซต์เว่ยป๋อ และถูกแชร์โดยหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี ในฮ่องกง เป็นภาพของหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งกำลังใช้ตะเกียบคีบและแทะบริเวณปีกของค้างคาว
ระหว่างนั้นได้ยินเสียงผู้ชายคนหนึ่งพูดกับฝ่ายหญิงในภาษาจีนกลางว่า “กินเนื้อมัน อย่าไปกินหนัง คุณควรกินบริเวณเนื้อตรงหลังของมัน” ทั้งนี้เชื่อกันว่าค้างคาวตัวดังกล่าวน่าจะคีบขึ้นมาจากหม้อน้ำซุปที่วางอยู่กลางโต๊ะ
ส่วนคลิปที่ 2 ซึ่งถูกโพสต์ลงบนทวิตเตอร์โดยบล็อกเกอร์ชาวจีนคนหนึ่ง เป็นภาพค้างคาวทั้งตัวนอนแน่นิ่งอยู่ในชามน้ำซุปขนาดใหญ่ “ด้วยเคยมีประสบการณ์มาก่อน ขอเถอะชาวจีน พวกคุณเลิกกินสัตว์ป่ากันได้ไหม?” บล็อกเกอร์ถาม
อย่างไรก็ตาม คลิปทั้ง 2 เหตุการณ์นั้นยังไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการจัดฉากขึ้นมาเท่านั้น