xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯได้อะไรแค่ไหนจากการฆาตกรรม “โซไลมานี”

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


<i>ทหารสหรัฐฯยืนอยู่ตรงจุดซึ่งถูกขีปนาวุธอิหร่านยิงใส่ ในฐานทัพอากาศเอน อัล-อาซาด จังหวัดอันบาร์ ทางภาคตะวันตกของอิรัก ภาพถ่ายเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม </i>
Iran: Nothing is forgotten, nothing is forgiven
By M.K. Bhadrakumar
10/01/2020

แกนกลางของการที่สหรัฐฯฆาตกรรมผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” นายพลกาเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่าน เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ของสหรัฐฯที่จะนำเอาอิรักเข้ามาอยู่ในวงโคจรของตน อันเป็นระเบียบวาระซึ่งกำหนดเอาไว้ตั้งแต่การรุกรานเมื่อปี 2003 แต่ยังคงไม่อาจเติมเต็มทำให้สำเร็จเสร็จสิ้น

เครดิตความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นั้น ต่ำเตี้ยเสียจนกระทั่งเป็นความยากลำบากที่จะท้าทายตอบโต้ความรับรู้ความเข้าใจซึ่งมีกันอยู่ ที่ว่าเขาทำความผิดพลาดร้ายแรงอย่างสะเพร่าไม่ถี่ถ้วนในเรื่องการประจันหน้ากับอิหร่านเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการออกคำสั่งให้สังหาร กาเซ็ม โซไลมานี นายพลอิหร่านที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” นักวิเคราะห์จำนวนมากยังชี้นิ้วไปที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ว่าเป็นผู้ซึ่งโน้มน้าวชักนำจนกระทั่งทรัมป์หันกลับมาต่อต้านสัญชาตญาณที่ดีกว่าของตัวเขาเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงยังไงการฆาตกรรมโซไลมานีก็เป็นความเคลื่อนไหวที่มีการขบคิดคาดคำนวณข้อดีข้อด้อยผลดีผลเสียกันเอาไว้ก่อน โดยถ้าหากมองให้ลึกดูกันจนถึงแกนกลางของมันแล้ว การฆาตกรรมครั้งนี้เป็นสัญญาณแสดงถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ของสหรัฐฯที่จะนำเอาอิรักเข้ามาอยู่ในวงโคจรของตน อันเป็นระเบียบวาระซึ่งกำหนดเอาไว้ตั้งแต่การรุกรานเมื่อปี 2003 แต่ยังคงไม่อาจเติมเต็มทำให้สำเร็จเสร็จสิ้น ทั้งนี้เราควรที่จะระลึกว่า “โปรเจ็คต์ ฟอร์ เดอะ นิว อเมริกัน เซนจูรี” (Project for the New American Century โครงการเพื่อศตวรรษอเมริกันศตวรรษใหม่ –เป็นโครงการและก็เป็นกลุ่มคลังความคิดของพวกอนุรักษนิยมใหม่ NeoConservative ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Project_for_the_New_American_Century) มีจุดมุ่งหมายในเรื่องที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในอิหร่าน ในทันทีที่อิรักมีเสถียรภาพขึ้นมาแล้ว

ทว่าโครงการนี้ต้องมีอันพังพาบไป โดยที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดจากการตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่จะลดกำลังทหารอเมริกันในอิรักลง ปัจจัยที่ทำให้ความพยายามติดตาต่อยอดจากการรุกรานอิรักในปี 2003 ต้องประสบความล้มเหลวเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากกระบวนวิธีที่ผิดพลาดบกพร่องของสหรัฐฯเอง แต่ที่สำคัญมากยังเป็นเพราะเจอกับเกมการเล่นอย่างชาญฉลาดของอิหร่าน ซึ่งใช้ทั้งการร่วมมือและทั้งการแข่งขันกับสหรัฐฯบนเวทีอิรัก จนกระทั่งในความเป็นจริงแล้ว อิหร่านกำลังบ่อนทำลายอย่างเป็นระบบต่อการยึดครองอิรักของอเมริกัน และเวลาเดียวกันก็กำลังสถาปนาตนเองให้กลายเป็นผู้เล่นซึ่งมีบทบาทสำคัญเหนือล้ำกว่าใครๆ

ถ้าหากอิหร่านประสบความสำเร็จอย่างชาญฉลาดในการกำจัดกองทหารอเมริกันให้พ้นออกไปจากอิรักแล้ว เครดิตคำยกย่องยอมรับในผลงานนี้ส่วนใหญ่ทีเดียวควรต้องตกเป็นของโซไลมานี ผู้ซึ่งพยายามหว่านแหของเขาออกไปให้กว้างขวาง และพากเพียรติดต่อทำเครือข่ายกับฝ่ายต่างๆ กระทั่งเรียกได้ว่าในความเป็นจริงแล้วคือกับทุกๆ แนวทางความคิดของมติมหาชนชาวอิรัก --ไม่ว่าจะเป็นชาวชีอะห์, สุหนี่, หรือ เคิร์ด— และได้ก่อเป็นขุมพลังแห่ง “การต่อต้านอเมริกัน” ที่กว้างใหญ่ไพศาลขึ้นมา กลายเป็นแรงพยุงประคับประคองบรรดากลุ่มต่อต้านต่างๆ ที่เขาจัดสร้างขึ้น ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้กองทหารสหรัฐฯต้องหลั่งเลือดในช่วงเวลาที่สมรภูมิอิรักกลายเป็นการทำศึกแบบมุ่งบั่นทอนกำลังกัน (war of attrition)

ครั้นเมื่อมาถึงสมัยคณะบริหารทรัมป์ สหรัฐฯได้เข้าสู่ช่วงระยะแห่งการหวนกลับคืนมายังอิรัก การผงาดขึ้นมาของพวกไอซิส (ISIS อีกชื่อย่อหนึ่งของพวก “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส) ในอิรัก (และซีเรีย) กลายเป็นพยานหลักฐานอันชัดเจนสำหรับใช้เป็นเหตุผลให้กองทหารอเมริกันยกทัพกลับไปยังอิรักอีกคำรบหนึ่ง ทว่าการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯคราวนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะปักหลักอยู่กันอย่างยาวนาน ดังมีหลักฐานจากการที่สหรัฐฯก่อตั้งขยับขยายฐานทัพทหารแห่งใหม่ๆ โดยพร้อมทุ่มค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์

สถานการณ์ในทุกวันนี้มีความแตกต่างในเชิงคุณภาพอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือ สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากการที่สหรัฐฯได้ก็อปปี้ลอกเลียนวิธีการต่างๆ จากตำราการปฏิบัติการของโซไลมานี นั่นคือ การหาทางเข้าชี้นำภาคส่วนต่างๆ ของมติมหาชนชาวอิรัก โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้น ภายในสังคมของอิรักก็มีความไม่พอใจกันอยู่มากต่อรัฐบาลที่ไร้สมรรถภาพในกรุงแบกแดด ซึ่งกลายเป็นผืนดินอันอุดมสมบูรณ์สำหรับให้สหรัฐฯขยับขยายเครือข่ายทางการเมืองของตน

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯยังส่งเสริมสนับสนุนซาอุดีอาระเบียให้ฟื้นฟูสายสัมพันธ์ทางการทูตกับอิรัก แผนการทางการทูตของซาอุดีอาระเบียนั้นพุ่งเป้าหมายไปที่ชาวสุหนี่ ผู้ซึ่งรู้สึกว่าตนเอง “ถูกเพิกถอนสิทธิ์” ไม่ได้เข้าร่วมในชีวิตของประเทศชาติหลังจากอิรักได้ถูกครอบงำโดยชาวชีอะห์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ (นั่นคือ หลังจากที่สหรัฐฯโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ซึ่งเป็นชาวสุหนี่ลงไป แล้ววางกรอบจัดให้มีการเลือกตั้งในอิรัก ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้พวกนักการเมืองชาวชีอะห์กลายเป็นแกนนำของรัฐบาลผสมในอิรัก -ผู้แปล)

มีหลักฐานสนับสนุนอยู่เหมือนกัน สำหรับเรื่องที่เตหะรานกล่าวหาว่ากระแสการประท้วงที่แผ่ลามไปในอิรักช่วงหลังๆ มานี้ --โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พวกผู้ประท้วงเผาทำลายสถานกงสุลอิหร่านในเมืองนาจาฟ (Najaf) ทางภาคใต้ของอิรักในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา –เกิดขึ้นจากการปลุกปั่นยุยงของสหรัฐฯและซาอุดีอาระเบีย

ระยะไม่นานมานี้เช่นกัน เรายังได้พบเห็นสหรัฐฯกับอิหร่านเข้าสู่ภาวะต่อสู้ชิงชัยกันอย่างเข้มข้น ในเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดต่อไปในกรุงแบกแดด

หากจะลดทอนเรื่องราวอันยาวเหยียดให้ย่นย่อลง เราสามารถตัดตรงพูดได้เลยว่า การสังหารโซไลมานี คือการกำจัดผู้ทรงอิทธิพลตัวบิ๊กบึ้มที่คอยตะล่อมหนุนหลังเพื่อชี้นำชี้ขาดให้ใครได้ขึ้นมาเป็นใหญ่ในอิรัก เป็นเรื่องน่าสนใจมากทีเดียว ที่รัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอของสหรัฐฯได้โทรศัพท์ไปหา อาดิล อับเดล-มะห์ดี (Adil Abdel-Mahdi) ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิรักอยู่ในเวลานี้เมื่อวันพฤหัสบดี (9 ม.ค.) และพูดเน้นย้ำว่า “สหรัฐฯจะทำอะไรก็ตามทีเพื่อพิทักษ์คุ้มครองชาวอเมริกันและประชาชนชาวอิรัก รวมทั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่มีร่วมกันของพวกเรา” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1106851)

นี่คือการที่พอมเพโอส่งสัญญาณไปยังแบกแดดและเตหะรานว่า วอชิงตันมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะกอบโกยผลประโยชน์ความได้เปรียบต่างๆ อันเกิดขึ้นจากการฆาตกรรมโซไลมานี

อาจจะโดยบังเอิญ นอกเหนือจากโซไลมานีแล้ว การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯคราวนี้ยังได้สังหาร อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส (Abu Mahdi al-Muhandis) ผู้ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า เป็นฟันเฟืองตัวหลักของ “กองกำลังระดมพลประชาชน” (Popular Mobilisation Force) ซึ่งเป็นกองกำลังอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ และกำลังพลมาจากกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นต่อต้านอเมริกันที่เต็มไปด้วยพิษสงกลุ่มต่างๆ ซึ่งกำลังปฏิบัติการอยู่ในอิรัก

ข้อความแบบแสดงออกซึ่งความเป็นผู้พิชิตของพอมเพโอเช่นนี้ คือการชี้เป็นนัยๆ ว่า เวลานี้สหรัฐฯมองว่าพวกกลุ่มกำลังอาวุธท้องถิ่นที่อิหร่านหนุนหลังเหล่านี้ กลายเป็นพวกที่ไร้แกนนำไร้น้ำยาไปเสียแล้ว

สิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พูดเอาไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม (ภายหลังจากอิหร่าน “แก้แค้น” การลอบสังหารโซไลมานี ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอากาศอิรัก 2 แห่งที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ด้วย –ผู้แปล) (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefings-statements/remarks-president-trump-iran/) บรรจุเอาไว้ด้วยส่วนประกอบหลักๆ 4 ส่วนดังนี้ ประการแรก ยุทธศาสตร์ “การใช้แรงบีบคั้นกดดันสูงสุด” (“maximum pressure” strategy) ต่ออิหร่าน จะดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก ด้วยความคิดที่ว่ามันกำลังทำให้ระบอบปกครองอิหร่านอยู่ในอาการถอยร่นแล้ว ประการที่สอง วอชิงตันจะใช้ความพยายามครั้งใหม่ในการเร่ขายไอเดียให้ฆ่าทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 เพื่อที่จะได้สามารถรวบรวมเหล่าชาติตะวันตกให้มีจุดยืนซึ่งเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกันในการคัดค้านเล่นงานอิหร่าน

ประการที่สาม ทรัมป์มุ่งมั่นตั้งใจที่จะขยายการต่อสู้นี้ให้กว้างไกลเลยออกไปจากแค่เป็นการประจันหน้าระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน โดยที่เขาพูดโพล่งออกมาว่า “วันนี้ ผมกำลังจะขอให้นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) เข้าเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ ในกระบวนการ (แก้ปัญหา) ตะวันออกกลาง”

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯยังไม่ได้ทอดทิ้งโครงการเก่าที่จะแปรเปลี่ยนนาโต้ให้กลายเป็นองค์การความมั่นคงในระดับโลก ซึ่งบรรดาชาติพันธมิตรขององค์การนี้ได้เคยอภิปรายถกเถียงกัน ณ การประชุมซัมมิตที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อปี 2010

กระนั้นก็ตาม ยังต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าพวกชาติพันธมิตรนาโตของสหรัฐฯจะต้องการเดินไปในทิศทางเช่นนั้นไกลถึงขนาดไหนกันแน่ ในสภาวการณ์ของความสัมพันธ์ (อันเต็มไปด้วยความไม่ลงรอยกัน -ผู้แปล) ระหว่างสหรัฐฯกับพวกชาติยุโรปซึ่งกำลังเผยโฉมออกมาให้เห็นกันอย่างกระจะตา การประชุมซัมมิตครั้งหลังสุดของนาโต้ ซึ่งได้แก่ซัมมิตที่ลอนดอนในปี 2019 นั้น ได้มีการเน้นย้ำบทบาทในอนาคตขององค์การพันธมิตรแห่งนี้ ในการให้ความสนับสนุนเสริมความแข็งแกร่งแก่ความมั่นคงทางด้านพลังงานของเหล่าประเทศสมาชิก ดังนั้นอิรักจึงน่าจะกลายเป็นกรณีสำหรับการทดสอบเรื่องนี้

นอกจากนั้นแล้ว ซัมมิตลอนดอนยังได้ให้ความสำคัญพอๆ กัน กับเรื่องการรับรองทัศนะมุมมองของสหรัฐฯที่ระบุว่า รัสเซียกับจีนกำลังกลายเป็นศัตรูตัวหลักของนาโต้ ในเวลานี้จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การแข่งขันกันทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังก่อตัวขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องอย่างรุนแรงต่อบรรดายุทธศาสตร์ระดับโลกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับรัสเซีย

ประการที่สี่ ทรัมป์อ้างว่า “ทางเลือกต่างๆ ในตะวันออกกลางกำลังมีความเป็นไปได้ขึ้นมา” สำหรับสหรัฐฯ เนื่องจาก “เวลานี้เรากำลังเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหมายเลขหนึ่งไม่ว่าจะเปรียบเทียบที่ไหนแห่งหนใดในโลก เรามีความเป็นอิสระ และเราก้ไม่ได้จำเป็นต้องได้น้ำมันตะวันออกกลาง” ทรัมป์สรุปว่าสหรัฐฯจะไม่มีความลังเลใจเลยในการใช้กำลังทหารเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของตนให้คืบหน้าไป

นี่คือทรัมป์กำลังบลัฟฟ์กันอย่างเห็นๆ เป็นต้นว่า เอซซอนโมบิล (ExxonMobil) บริษัทน้ำมันอเมริกันใหญ่ยักษ์กำลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ได้ควบคุมเหนือแหล่งน้ำมันสำรองอันมหาศาลของอิรักในพื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งเป็นที่พำนักของชาวชีอะห์ นอกจากนั้นสิ่งที่ทรัมป์มองข้ามก็คือ อุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมันจากหินน้ำมัน (shale industry) ของสหรัฐฯนั้นมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเอาเลย ไม่เพียงเท่านั้น เรายังคงต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่า น้ำมันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องความมั่นคงทางพลังงานสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับดอลลาร์น้ำมัน (ปิโตรดอลลาร์ petrodollars) และสถานะของดอลลาร์อเมริกันในฐานะสกุลเงินตราของโลกอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ การมีรัฐบาลที่ว่าได้ใช้ฟังในแบกแดดซึ่งสามารถที่จะปลุกปั่นยักย้ายให้รับใช้ผลประโยชน์ทางการค้าแบบพาณิชย์นิยมของอเมริกัน จึงเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับนโยบาย “อเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) ของคณะบริหารทรัมป์

ถ้อยคำที่ทรัมป์กล่าวออกมาเหล่านี้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน? หนึ่งในความยากลำบากที่สหรัฐฯจะต้องเผชิญอย่างเห็นๆ ได้แก่การระดมหาความสนับสนุนจากพวกยุโรป เยอรมนีเข้ากับกับอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) ในการแถลงว่า พวกเขายังคงต้องการรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับอิหร่านเอาไว้ เท่ากับเป็นการปฏิเสธข้อเสนอของทรัมป์ที่จะให้ฝ่ายยุโรปถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เวลาเดียวกัน ในกรุงวอชิงตัน สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯก็ได้ผ่านญัตติฉบับใหม่ในวันศุกร์ (11 ม.ค.) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะจำกัดอำนาจของทรัมป์ในการทำสงครามกับอิหร่าน

ทรัมป์นั้นพูดอย่างฉะฉานคมคายเกี่ยวกับสมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯในการคุกคามอิหร่าน แต่ในขณะที่วาทกรรมเช่นนี้อาจจะทำให้พวกผู้ฟังภายในสหรัฐฯชื่นชมประทับใจในตัวทรัมป์ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ว่าเตหะรานได้เล่นงานใส่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของกองทัพสหรัฐฯอย่างแรงทีเดียว การที่ฐานทัพสหรัฐฯถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistics missiles) จากอีกประเทศหนึ่งในยามสันตินั้น เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งแค่ไหนกันเชียว ภายหลังจากกรณีเพิร์ลฮาร์เบอร์แล้ว?

พวกภาพถ่ายดาวเทียวแสดงให้เห็นว่าเกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางทีเดียวในฐานทัพอากาศ เอน อัล-อาซาด (Ain al-Asad) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.npr.org/2020/01/08/794517031/satellite-photos-reveal-extent-of-damage-at-al-assad-air-base) นี่เป็นความเป็นจริงพื้นๆ ซึ่งทรัมป์พยายามละเลย [1]

ชาวอิหร่านจะไม่ตกใจหวาดกลัวด้วยคำข่มขู่ของทรัมป์หรอก พวกเขาเคยมาถึงจุดนี้กันมาก่อน –ในทางเป็นจริงแล้วเคยมากกว่า 1 ครั้งด้วยซ้ำ “การแก้แค้น” ที่แท้จริงจึงกำลังจะบังเกิดขึ้นมา

สิ่งที่วางรออยู่ข้างหน้าคือสงครามตัวแทนในพวกประเทศที่สาม –โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อิรัก เตหะรานนั้นมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในอิรัก เรื่องนี้จะยังไม่ได้สึกกร่อนหดหายไปอย่างง่ายๆ ภายหลังการฆาตกรรมโซไลมานี ในความเป็นจริงแล้ว ทิศทางของการเมืองแบบมุ่งต่อต้านอเมริกันที่โซไลมานีจัดวางเอาไว้ในนั้น จะยังคงอยู่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

แม้กระทั่งพวกนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันก็ยังมีความซื่อตรงเพียงพอที่จะยอมรับเรื่องนี้ (ดูบทวิเคราะห์อันยอดเยี่ยมโดย เคนเนธ พอลแลค Kenneth Pollack แห่งสถาบันวิสาหกิจอเมริกัน American Enterprise Institute ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า Soleimani spun a web of Iranian influence that will long outlive him สายใยของอิทธิพลอิหร่านซึ่งโซไลมานีถักทอดขึ้นมา จะคงอยู่ไปอีกนานหลังการเสียชีวิตของเขา ที่ https://www.aei.org/op-eds/soleimani-spun-a-web-of-iranian-influence-that-will-long-outlive-him/) การโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายทั้งปวงของสหรัฐฯซึ่งกำลังล้อเลียนเสียดสีโซไลมานีว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” นั้น ไม่สามารถที่จะสร้างความมืดมนสับสนให้แก่ความเนจริงทางการเมืองอันนี้ได้

ตามคำแถลงที่เผยแพร่โดยสำนักนายกรัฐมนตรีอิรักเมื่อวันศุกร์ (11 ม.ค.) ในการพูดคุยทางโทรศัพท์ซึ่งพอมเพโอเป็นฝ่ายติดต่อมาเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (10 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีอิรัก อับเดล-มะห์ดี “ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯจัดส่งคณะผู้แทนมายังอิรัก เพื่อจัดทำกลไกสำหรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของรัฐสภาอิรัก ที่ให้ดำเนินการถอนทหาร (สหรัฐฯ) ออกไปจากอิรัก” (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.presstv.com/Detail/2020/01/10/615827/Iraq-US-troops-withdrawal) [2]

ในวันศุกร์ (11 ม.ค.) เช่นเดียวกัน มอกตาดา อัล-ซาดร์ (Moqtada al-Sadr) นักการศาสนาที่มีอิทธิพลสูงชาวอิรัก ได้เรียกร้องให้กลุ่มต่อต้านทั้งหลายทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นและที่เป็นชาวต่างประเทศ สามัคคีรวมตัวกันและดำเนินการต่อต้านสหรัฐฯ เขากล่าวว่าข้อตกลงความมั่นคงที่ทำกันไว้กับสหรัฐฯซึ่งทำให้ทหารอเมริกันเข้ามาประจำอยู่ในอิรักนั้นควรที่จะยกเลิกไปในทันที รวมทั้งควรที่จะปิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และกองทหารสหรัฐฯก็จะต้องถูกขับไล่ไสส่งออกมาในลักษณะที่ดูถูกดูหมิ่น

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/iran-nothing-is-forgotten-nothing-is-forgiven/

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก

<i>ทหารสหรัฐฯเดินผ่านซากความเสียหาย ตรงจุดซึ่งถูกขีปนาวุธอิหร่านยิงใส่ ในฐานทัพอากาศเอน อัล-อาซาด ภาพถ่ายเมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] เรื่องความเสียหายในฐานทัพอากาศ เอน อัล-อาซาด ในอิรัก จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่าน ทางกองทัพสหรัฐฯได้นำสื่อมวลชนเข้าไปดูสภาพที่ฐานทัพแห่งนั้นในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม โดยที่สำนักข่าวเอพีรายงานเอาไว้ดังนี้:

ทีมข่าวของสำนักข่าวเอพีซึ่งเข้าไปดูฐานทัพอากาศเอน อัล-อาซาด พบเห็นหลุมขนาดใหญ่หลายหลุม และรถเทรเลอร์ทหารที่ได้รับความเสียหายหลายคัน พวกรถยกฟอร์กลิฟต์กำลังยกเอาเศษซากหักพังต่างๆ ขึ้นไปไว้บนรถบรรทุก จากพื้นที่กว้างขนาด 1 สนามฟุตบอลอเมริกัน ขณะเหล่าทหารสหรัฐฯตรวจสอบกลุ่มที่พักอาศัยแบบเคลื่อนย้ายได้ซึ่งได้ถูกทำลายจากการโจมตีคราวนี้

ฐานทัพทหารที่มีพื้นที่กว้างขวางในจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตกของอิรักแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางตะวันตกราว 180 กิโลเมตร และใช้ร่วมกันกับกองทหารอิรัก ที่นี่เป็นที่ตั้งของสมาชิกราว 1,500 คนของกองทหารสหรัฐฯและของพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯซึ่งกำลังสู้รบกับกลุ่มรัฐอิสลาม

“มีขีปนาวุธขนาดใหญ่มากกว่า 10 ลูกยิงเข้ามา และตกใส่พื้นที่จำนวนมากในสนามบิน” พ.อ.ไมล์ส แคกกินส์ (Col. Myles Caggins) ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกที่ฐานทัพแห่งนี้สำหรับกำลังทหารพันธมิตรสหรัฐฯ กล่าว

การโจมตีได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นที่พักของพวกทหารหลายสิบคน และมีขีปนาวุธลูกหนึ่งยิงตกใกล้ๆ กับสนามบินเล็กแห่งหนึ่ง ซึ่งมีโดรน 6 ลำจอดอยู่ แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้แก่โดรนเหล่านี้ แคกกินส์บอก

โฆษกผู้นี้กล่าวว่า ทหารอเมริกันไม่มีใครล้มตายหรือได้รบบาดเจ็บ ถึงแม้ทหารจำนวนมากได้รับการรักษาอาการศีรษะสั่นสะเทือนอย่างแรงเนื่องจากแรงระเบิด และกำลังอยู่ระหว่างการประเมินทางการแพทย์

ทางด้าน พ.ท.(หญิง) แอนตัวเนตต์ แชส (Lt. Col. Antoinette Chase) ซึ่งเป็นผู้นำทีมรับผิดชอบการตอบโต้ฉุกเฉินประจำฐานทัพแห่งนี้ เล่าว่าได้ออกคำสั่งเตือนภัย ห้ามทหารเคลื่อนที่ไปไหนตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 7 มกราคม และถึง 23.30 น.ก็สั่งให้ทหารเข้าที่กำบังในบังเกอร์

“เหตุผลที่ทำไมเราออกคำสั่งเช่นนั้นเมื่อเวลา 23.30 น. ก็คือเพราะถึงเวลานั้น สิ่งบ่งชี้ทั้งหมดต่างชี้ไปที่ว่าอะไรบางอย่างกำลังตรงเข้ามา” เธอกล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวที่ไปชมฐานทัพ “ฉากทัศน์สถานการณ์สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด –เราได้รับแจ้งว่าบางทีอาจจะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ นั่นคือ เราได้รับแจ้งก่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้”

เชสกล่าวว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธนี้แบ่งเป็น 2 ระลอกต่อเนื่องกัน โดยมีช่วงเวลาคั่นราวๆ 15-30 นาทีระหว่างสองระลอกนี้ ทั้งนี้ขีปนาวุธลูกแรกมาถึงในช่วงเวลาหลังจาก 01.35 น.ของวันที่ 8 มกราคม และการโจมตีทั้งหมดดำเนินไปเกือบๆ 2 ชั่วโมง


(เก็บความจากบางส่วนของเรื่อง US troops in Iraq got warning hours before Iranian attack โดยสำนักข่าวเอพี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/ae79cb0f18f7adf15a2a57e88f469dd7)

[2] เรื่องที่รัฐสภาและนายกรัฐมนตรีอิรักเรียกร้องให้สหรัฐฯถอนทหารออกไปนั้น นายกรัฐมนตรี อาดิล อับเดล-มะห์ดี ได้แถลงในวันพุธที่ 15 มกราคมว่า จะต้องรอรัฐบาลใหม่มาผลักดันเรื่องนี้:

“ผมต้องขอร้องให้ท่านประธานาธิบดี, รัฐสภา, และพรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็ม เนื่องจากสภาวการณ์อันยากลำบากและสลับซับซ้อนเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการถอนกำลังทหาร ... ซึ่งจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ที่จะสามารถเดินหน้าเรื่องนี้ได้” อับเดล-มะห์ดี กล่าวแสดงความคิดเห็นในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 14 มกราคม และถูกนำมาออกอากาศเผยแพร่ในวันพุธที่ 15 มกราคม

ทั้งนี้ รัฐบาลอับเดล-มะห์ดี อยู่ในฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ หลังจากที่เขาลาออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภายใต้แรงกดดันจากการชุมนุมเดินขบวนประท้วงของประชาชน


(เก็บความจากบางส่วนของเรื่อง Outgoing Iraq PM says US troop ouster up to next government โดยสำนักข่าวเอพี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/outgoing-iraq-pm-says-us-troop-ouster-up-to-next-government/2020/01/15/abc651fe-37f6-11ea-a1ff-c48c1d59a4a1_story.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น