xs
xsm
sm
md
lg

ผวาอาชญากรรมสงคราม! ทรัมป์กลับลำเสียงอ่อย ไม่โจมตีแหล่งวัฒนธรรมอิหร่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หนูน้อยชาวมุสลิมชูป้าย “ทรัมป์คือฆาตกร” ระหว่างร่วมพิธีในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันอังคาร (7 ม.ค.) ไว้อาลัยแด่นายพลกาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการทหารของอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศสังหารใกล้กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รอยเตอร์/เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุในวันอังคาร (7 ม.ค.) จะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงเป้าหมายแหล่งที่ตั้งทางวัฒนธรรมในการโจมตีทางทหาร กลับลำจากที่เคยขู่อิหร่านไม่กี่วันก่อนหน้านี้

ทรัมป์เผยเมื่อวันเสาร์ (4 ม.ค.) ว่าอเมริกาเล็งเป้าหมายพื้นที่สำคัญ 52 จุดของอิหร่าน ในนั้นรวมถึงบรรดาแหล่งวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของอิหร่าน โดยพร้อมจะโจมตีอย่างรวดเร็วและรุนแรง ถ้าเตหะรานเล่นงานพลเมืองหรือสินทรัพย์ของอเมริกาเพื่อล้างแค้นให้ กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการทหารของพวกเขาที่ถูกสหรัฐฯ ปลิดชีพเมื่อวันศุกร์ (3 ธ.ค.)

อย่างไรก็ตาม การโจมตีแหล่งวัฒนธรรมจะถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆนานา และอาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม ขณะที่คำขู่ดังกล่าวโหมกระพือความกังวลไปทั่วโลก

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก และรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษแสดงความไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ พร้อมระบุว่า สถานที่ทางวัฒนธรรมควรได้รับการปกป้องไม่ใช่ทำลาย ซึ่งในอดีตสหรัฐฯและอิหร่านได้ลงนามในที่ประชุมเมื่อปี 1954 ที่จะปกป้องแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง หากกองกำลังใดมุ่งเป้าโจมตีสถานที่เหล่านี้จะถูกจัดว่าเป็นอาชญากรสงคราม ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

กระนั้น ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯ จากยูเนสโก เมื่อปี 2018 หลังจากที่ระบุว่ายูเอ็นมีแนวความคิดต่อต้านอิสราเอล

ล่าสุด ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว ระหว่างพบปะกับคีเรียกอส มิตโซทากิส นายกรัฐมนตรีกรีซ แสดงจุดยืนใหม่ว่าเขาจะปฏิบัติตามกฎหมาย แม้ดูมีท่าทีไม่สู้เต็มใจก็ตาม

“คุณก็รู้ กฎหมายว่าไว้อย่างไร ผมอยากจะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ลองคิดดูสิ พวกเขาฆ่าผู้คนของเรา พวกเขาระเบิดผู้คนของเรา และจากนั้นเราจำเป็นต้องเป็นสุภาพบุรุษอย่างมากต่อแหล่งวัฒนธรรมของพวกเขา แต่ผมโอเคนะ มันโอเค” เขากล่าว “ผมอยากจะบอกเพียงว่า ถ้าอิหร่านทำอะไรที่พวกเขาไม่ควรทำ พวกเขาจะทุกข์ทรมานกับผลสนองและมันจะหนักหน่วงรุนแรงอย่างมาก”

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (7 ม.ค.) พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของเพนตากอน บอกว่ามันคงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่สหรัฐฯ จะโจมตีสถานที่ตั้งทางวัฒนธรรมของอิหร่าน

ทั้งนี้ ระหว่างสัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (7 ม.ค.) ทรัมป์ยังพูดถึงข่าวคราวการถอนทหารสหรัฐฯออกจากอิรัก โดยเขาระบุว่าการถอนทหารอเมริกาออกมาในตอนนี้จะกลายเป็น "สิ่งเลวร้าย" สำหรับอิรัก แม้รัฐสภาแบกแดดลงมติเรียกร้องให้ขับไล่กองกำลังอเมริกาออกนอกประเทศ

"เราต้องการออกมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ตอนนี้มันยังไม่เหมาะสม" ทรัมป์กล่าว "สิ่งเลวร้ายอาจเกิดขึ้นในอิรัก"

รัฐสภาอิรักลงมติเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่ทหารสหรัฐฯ 5,200 นายที่ประจำการในประเทศ ตอบสนองต่อเหตุอเมริกาใช้โดรนโจมตีสังหารโซไลมานีและอาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส นายทหารระดับสูงของอิรัก

เมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) กลยุทธ์การทหารของอเมริกาในอิรักตกอยู่ในความอลเวง หลังปรากฏจดหมายของนายพลจัตวา วิลเลียม ซีลีย์ แห่งหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการของกองกำลังพันธมิตร ลงวันที่ 5 ม.ค. แจ้งต่อกองบัญชาการร่วมของกระทรวงกลาโหมอิรักว่า กองกำลังสหรัฐฯ เคารพการตัดสินใจของอิรักและกำลังเตรียมถอนกำลังออก โดยในระยะนี้จะส่งเฮลิคอปเตอร์บินเข้าออกจากและรอบๆ กรีนโซนของแบกแดด ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานทูตอเมริกันเพื่ออพยพเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร (7 ม.ค.) มาร์ก เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แก้ข่าวว่าอเมริกาไม่ได้กำลังถอนทหารออกจากอิรัก พร้อมบอกว่าจดหมายดังกล่าวไม่ได้มีการลงนามจากฝ่ายสหรัฐฯ แต่อย่างใด "นโยบายของเราไม่เปลี่ยนแปลง เราไม่ได้กำลังถอนตัวออกจากอิรัก เท่าที่ผมทราบ ไม่มีจดหมายที่มีการลงนาม"
กำลังโหลดความคิดเห็น