xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้แทนสหรัฐฯ ลงมติถอดถอน ‘ทรัมป์’ ฐานขัดขวางสภา-ใช้อำนาจมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ภายหลังสภาผู้แทนฯ ลงมติรับรอง 2 ข้อกล่าวหาเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง เมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.)
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่เข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งอย่างเต็มตัววานนี้ (18 ธ.ค.) หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติตั้งข้อหา ทรัมป์ ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรส นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่คาดว่าจะยิ่งกระพือความแตกแยกระหว่างกลุ่มต่างๆ ในอเมริกา

มติถอดถอนของสภาผู้แทนราษฎรจะทำให้คดีนี้ถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการไต่สวนในช่วงเดือน ม.ค. ว่า ทรัมป์ นั้นมีความผิดจริงและสมควรถูกถอดออกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีหรือไม่ แต่เนื่องจาก ส.ว.รีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาจึงมีโอกาสน้อยมากที่ ทรัมป์ จะพ่ายแพ้ในขั้นตอนนี้

ข้อกล่าวหาใช้อำนาจโดยมิชอบผ่านการรับรองจากสภาล่างด้วยคะแนน 230-197 เสียง ขณะที่ข้อกล่าวหาขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรสได้รับคะแนนโหวต 229-198 เสียง

ทั้งนี้ ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดในประวัติศาสตร์ 243 ปีของสหรัฐฯ ถูกรัฐสภาถอดถอนออกจากตำแหน่งมาก่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 100 คน และหากว่ากันตามสัดส่วน ส.ว. ของทั้ง 2 พรรคในขณะนี้หมายความว่าจะต้องมีคนของรีพับลิกันอย่างน้อย 20 คนหันไปร่วมมือกับเดโมแครตเพื่อปลดทรัมป์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มี ส.ว.รีพับลิกันคนไหนแสดงท่าทีว่าจะทำเช่นนั้น

ทรัมป์ ซึ่งกำลังเตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อรั้งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2020 กล่าวหากระบวนการอิมพีชเมนต์ว่าเป็น “ความพยายามก่อรัฐประหาร” โดยพรรคเดโมแครตซึ่งต้องการให้ชัยชนะของตนในศึกเลือกตั้งปี 2016 เป็นโมฆะ ขณะที่ มิตช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมาก ออกมาทำนายว่า “ไม่มีโอกาสเลย” ที่วุฒิสภาจะลงมติถอดถอน ทรัมป์ ภายหลังการไต่สวน

สำหรับข้อกล่าวหาใช้อำนาจโดยมิชอบนั้นเกี่ยวข้องกับกรณีที่ ทรัมป์ ไปกดดันประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนให้ช่วยตรวจสอบความผิดของ โจ ไบเดน ผู้สมัครประธานาธิบดีตัวเต็งของพรรคเดโมแครต ตลอดจนเรื่องที่ ทรัมป์ พยายามโปรโมตทฤษฎีที่ขาดความน่าเชื่อถือว่าพรรคเดโมแครตสมคบคิดกับยูเครนป่วนศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ไม่ใช่รัสเซีย

พรรคเดโมแครตระบุว่า ทรัมป์ นำงบสนับสนุนทางทหาร 391 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ จะมอบให้ยูเครนเพื่อใช้ต่อต้านกบฏโปรรัสเซียมาเป็นข้อต่อรอง เพื่อกดดันรัฐบาลเคียฟให้ช่วยขุดคุ้ยหาความผิดของ ไบเดน และบุตรชายของเขาซึ่งเคยเป็นบอร์ดบริหารบริษัทพลังงานบูริสมา (Burisma) ของยูเครน อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายแทรกแซงศึกเลือกตั้งปี 2020

ทรัมป์ ออกมากล่าวหาลอยๆ ว่าสองพ่อลูก ไบเดน มีพฤติกรรมทุจริต ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

ในส่วนของข้อหาขัดขวางการทำงานของสภาคองเกรสนั้นมาจากการที่ ทรัมป์ สั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและหน่วยงานต่างๆ ปฏิเสธหมายเรียกเข้าให้การต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือปฏิเสธส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถอดถอน


ทรัมป์ ยืนกรานว่าตนไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น และประณามกระบวนการไต่สวนถอดถอนที่เริ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือน ก.ย. ว่าเป็นแค่แผน “ล่าแม่มด”

ก่อนที่จะมีลงมติถอดถอน แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านคำสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อธงชาติและสหรัฐอเมริกา (Pledge of Allegiance) พร้อมยืนยันว่า “เรามาที่นี่เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยของปวงชน”

“หากเราไม่ทำอะไรเลยในวันนี้ก็เท่ากับละทิ้งหน้าที่ น่าเสียดายที่ประธานาธิบดีกระทำการอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ จนต้องมีกระบวนการถอดถอนเกิดขึ้น”

ทรัมป์ ทวีตข้อความวิจารณ์มติถอดถอนของสภาล่างว่าเป็น “การโจมตีต่ออเมริกา” และพรรครีพับลิกันของเขา ขณะที่ ส.ส.รีพับลิกันก็ประณามพรรคเดโมแครตว่าใช้กระบวนการที่ฉ้อฉลและไม่เป็นธรรมเพื่อทำลายผลการเลือกตั้งในปี 2016

“ประเด็นที่ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้เกิดจากความเกลียดชิงที่มีต่อประธานาธิบดีของเราล้วนๆ มันเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เป็นการล่าแม่มด และเทียบได้กับการก่อรัฐประหารต่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่ได้รับเลือกมาอย่างถูกต้อง” ไมค์ โรเจอร์ส ส.ส.รีพับลิกัน ระบุ

ด้าน ส.ส. ไมค์ เคลลี เปรียบเทียบกระบวนการถอดถอน ทรัมป์ ว่าไม่ต่างกับตอนที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีอ่าวเพิร์ลในรัฐฮาวายเมื่อปี 1941 และชี้ว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรจะถูกจดจำในฐานะ “วันแห่งความอัปยศ” (date that will live in infamy) ซึ่งเป็นถ้อยคำเดียวกับที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสต์เวลต์ เคยใช้ประณามเหตุโจมตีอ่าวเพิร์ลที่คร่าชีวิตคนไปราวๆ 2,400 คน และดึงสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น