xs
xsm
sm
md
lg

ฮ่องกง: 'สงครามเย็น'ชนิดที่แตกต่างจากเมื่อครั้งอเมริกาเอาชนะสหภาพโซเวียต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


<i>อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (ซ้าย) เข้าพบ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2019 </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Hong Kong: A different kind of Cold War
By David P. Goldman
03/12/2019

อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซิงเจอร์ เชื่อว่า ความเป็นปรปักษ์กันระหว่างสหรัฐฯกับจีนได้เคลื่อนเข้าสู่ระยะที่อันตรายแล้ว โดยเขาเปรียบเทียบสถานการณ์เวลานี้กับช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้จะระเบิดขึ้นมา ทว่าแนวเทียบเช่นนี้อาจจะเป็นการวิตกกังวลมากเกินไป

อเมริกากับจีนกำลังอยู่ตรง “เนินเขาของสงครามเย็น” เฮนรี คิสซิ งเจอร์ (Henry Kissinger) กล่าวในการประชุมครั้งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นโดย บลูมเบิร์กนิวส์ (Bloomberg News) ณ กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา “ดังนั้นการหารืออภิปรายกันด้วยวัตถุประสงค์ร่วมกันของพวกเรา และความพยายามที่จะจำกัดผลกระทบของความขัดแย้งนี้ สำหรับผมแล้วจึงดูเป็นสิ่งที่มีสาระสำคัญ ถ้าปล่อยให้ความขัดแย้งนี้ดำเนินไปอย่างไม่มีการทัดทานขีดวงจำกัดกันแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาอาจจะถึงขั้นเลวร้ายกว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปเสียอีก สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นระเบิดขึ้นมาเพราะว่าไม่สามารถที่จะรับมือจัดการกับวิกฤตการณ์กรณีหนึ่งซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็กๆ” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯผู้นี้กล่าวต่อ

แนวเทียบเช่นนี้ของคิสซิงเจอร์ดูเหมือนจะเป็นการวิตกกังวลซึ่งมากเกินไป ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ การที่สหรัฐฯกับจีนจะเกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นสู้รบกันด้วยชนวนเหตุในแบบซาราเจโว (Sarajevo) เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ พวกชาติมหาอำนาจยุโรปในปี 1914 (ปีเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1) นั้น ต่างมีกองทัพขนาดใหญ่เตรียมพร้อมไว้แล้วสำหรับการเข้ารุกรานกันและกัน ถ้าหากมหาอำนาจรายหนึ่งสั่งระดมพล พวกศัตรูของมหาอำนาจรายนี้ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสั่งระดมพลบ้าง อย่างที่ คริสโตเฟอร์ คลาร์ก (Christopher Clark) นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย อธิบายแจกแจงเอาไว้ในหนังสือปี 2014 ของเขาที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “The Sleepwalkers” (พวกคนเดินละเมอ) การที่รัสเซียตัดสินใจสั่งระดมพลได้กลายเป็นการกำหนดให้สถานการณ์เคลื่อนเข้าสู่มหาสงครามคราวนั้นอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเพิกถอนได้ ขณะที่ในปัจจุบัน สหรัฐฯมีการปรากฏตัวทางนาวีอย่างแข็งขันและมีฐานทัพทางทหารอันแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกก็จริงอยู่ ทว่าไม่ได้มีอะไรละม้ายคล้ายคลึงกับสมดุลแห่งอำนาจอันไร้ความหมายในยุโรปกลางเมื่อครั้ง 100 กว่าปีก่อน เวลานี้จีนมีขีปนาวุธมากเพียงพอที่จะใช้ลบล้างทรัพย์สินทางทหารของอเมริกันในเอเชียตะวันออกเรียกได้ว่าทั้งหมดทีเดียว ภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเมื่อสงครามเกิดระเบิดขึ้นมา ทั้งนี้ตามรายงานการประเมินซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) นอกจากนั้นจีนยังมีหนทางต่างๆ ที่จะทำให้พวกดาวเทียมทางทหารของอเมริกันอยู่ในสภาพมืดบอด ดังที่ บิลล์ เกิร์ตซ์ (Bill Gertz) รายงานเอาไว้ในหนังสือปี 2019 เรื่อง “Deceiving the Sky” (การหลอกลวงฟากฟ้า) ของเขา

ถ้าแนวเทียบกับสถานการณ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1914 ในยุโรป ดูออกจากขัดข้องเกินจริงมากไปแล้ว ข้อเสนอว่าด้วย “กับดักทิวซิดิดีส” (Thucydides Trap) ซึ่งมีผู้นิยมชมชอบกันอยู่มาก โดยเปรียบเทียบอเมริกันกับจีน ว่าคล้ายๆ กับรัฐสปาร์ตา (Sparta) และรัฐเอเธนส์ (Athens) ในช่วงใกล้ๆ จะเกิดสงครามเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian War 431–404 ปีก่อนคริสตกาล) ก็ยิ่งมีความเหมาะเจาะน้อยลงไปอีก ทั้งเอเธนส์และสปาร์ตาต่างเป็นสังคมไร้เสถียรภาพที่ต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานทาสและเครื่องบรรณาการ และมีศักยภาพที่จะทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจของกันและกันภายในช่วงเวลาอันสั้น ด้วยเหตุนี้แต่ละฝ่ายจึงมีแรงจูงใจในการก่อสงคราม ทฤษฎีเกมของสถานการณ์เช่นนี้บงการให้มีความน่าจะเป็นอย่างสูงที่จะเกิดสงครามขึ้นมา ทว่าในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนในปัจจุบัน มันไม่ได้มีความเปราะบางทำนองนี้

ความแตกต่างอันมหาศาลมองเห็นได้อย่างชัดเจนโจ่งแจ้ง ระหว่างการเผชิญหน้าของอเมริกากับสหภาพโซเวียตในยุคทศวรรษ 1980 กับความเป็นปรปักษ์ระหว่างอเมริกากับจีนในยุคศตวรรษที่ 21ก็คือ: เศรษฐกิจพลเรือนของโซเวียตนั้นอยู่ในภาวะชะงักงัน, ไร้ประสิทธิภาพ, และทุจริตฉ้อฉล รวมทั้งไม่สามารถที่จะรวบรวมเอาบรรดาเทคโนโลยีต่างๆ มาไว้ในมือ ในขนาดขอบเขตพอฟัดพอเหวี่ยงกับที่อเมริกาได้นำมาใช้เพื่อก่อเกิดผลในการสู้รบทำสงคราม ถึงแม้วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในบางด้านบางส่วนของฝ่ายโซเวียตนั้นจัดอยู่ในระดับที่ดีเลิศก็ตามที แต่สำหรับเศรษฐกิจพลเรือนของจีน ถึงแม้มีความไร้ประสิทธิภาพอย่างสำคัญในหลายๆ ประการ ทว่ายังคงต้องถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก จากการที่มันขยายตัวใหญ่ขึ้นมาถึง 50 เท่าตัว หากคำนวณกันเป็นมูลค่าดอลลาร์สหรัฐฯ (และใหญ่ขึ้นมาถึง 80 เท่าตัว ถ้าคำนวณในแง่ภาวะเสมอภาคทางอำนาจซื้อ purchasing power parity) เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 1979 ตอนที่ เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มนำเอาการปฏิรูปต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นไปตามกลไกตลาดมาใช้

รัสเซียทำให้เศรษฐกิจผู้บริโภคของตนเองอดอยากเพื่อจะได้มีอะไรไปป้อนไปเลี้ยงกองทัพของตนเอง ขณะที่จีนใช้วิธีผลิตทั้งอาวุธทั้งอาหาร ไม่เหมือนกับรัสเซียยิ่งอุทิศทรัพยากรทางทหารอย่างมากมายมหาศาลเพื่อใช้ในการเก็บรักษาและในการติดอาวุธกองทัพภาคพื้นดินขนาดใหญ่โตมโหฬาร จีนกลับลดรายจ่ายด้านตัวกำลังทหาร (soldiery) ของตนให้เหลือน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ทุ่มเทใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในด้านขีปนาวุธ, ดาวเทียม, ปัญญาประดิษฐ์, และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างอื่นๆ ซึ่งสามารถที่จะให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจพลเรือนได้ด้วย –ทำนองเดียวกับการใช้จ่ายด้านการทหารและและอวกาศของอเมริกาจากสมัยประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จาก มกราคม 1953 ถึง มกราคม 1961) มาจนถึงประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จาก มกราคม 1981 ถึง มกราคม 1989)

อย่างไรก็ดี มีปีกหนึ่งของชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งเชื่อว่าตนสามารถติดอาวุธจีนด้วยการส่งเสริมสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ในโมเดลเดียวกับที่พวกเขาเชื่ออย่างผิดๆ ว่าได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1980 ความเชื่อเช่นนี้ได้รับการส่งเสริมเพิ่มกำลังใจจากพวกฝ่ายค้านของระบอบปกครองปักกิ่ง เป็นต้นว่า กัว เหวินกุ้ย (Guo Wengui หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ไมล์ คว็อก Miles Kwok) นักการเงินที่หลบหนีออกมาอยู่ต่างประเทศ และ จิมมี่ ไหล (Jimmy Lai) ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ แอปเปิล เดลี่ (Apple Daily) ในฮ่องกง ไหลคิดว่าสหรัฐฯสามารถบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองขึ้นในประเทศจีน และได้เสนอความคิดเห็นของเขาเอาไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล

กระแสนี้ ที่นำโดย มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) วุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐฟลอริดาซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน และได้เสียงเชียร์จากพวกผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ ในแวดวงสื่อ ได้ขยายปัญหาในฮ่องกงซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาค่อนข้างเล็กๆ โดยเปรียบเทียบ ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตระดับหลักการแห่งชาติ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีหลักฐานว่าจริงๆ แล้วมีท่าทีลังเลใจ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่ผ่านการลงมติในสภาทั้งสองของรัฐสภาแบบเกือบเป็นเอกฉันท์ กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหามุ่งลงโทษคว่ำบาตรแบบรายบุคคลต่อพวกเจ้าหน้าที่จีนและเจ้าหน้าที่ฮ่องกง ผู้ถูกพบว่ามีการกระทำความผิดล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง รวมทั้งให้พิจารณายกเลิกเงื่อนไขทางการค้าที่เอื้อประโยชน์แก่ฮ่องกงหากพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมา

นักวิเคราะห์ชาวจีนบางรายสรุปว่า ความสนใจของอเมริกาเกี่ยวกับฮ่องกงนั้น มีต้นตอจากแผนกลอุบายที่มุ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของจีน ชาวจีนที่เป็นนักให้ความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชน (political commentator) คนสำคัญคนหนึ่ง บอกกับผมผ่านทางการส่งข้อความ เอาไว้อย่างนี้: “ผมคิดว่าไม่มีตัวแสดงที่เกี่ยวข้องพัวพันกับเกมนี้รายใดเลย ไม่ว่าจะเป็น ปักกิ่ง, รัฐบาลของฮ่องกง, พวกฝ่ายค้าน, หรือสหรัฐฯ ได้กระทำความผิดพลาดใดๆ หรอก ในช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมานั้น ฝ่ายต่างๆ ทุกๆ ฝ่ายเหมือนกำลังรวมกันทำงานอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านความไม่สงบระดับท้องถิ่นของฮ่องกงให้กลายเป็นการเผชิญหน้าในทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ดังนั้น ผลลัพธ์ในอนาคตที่อาจเป็นไปได้ของประเด็นปัญหาฮ่องกง ก็คือ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป มันคงจะถูกนำทางโดยเหตุการณ์อันอื่นๆ ที่ใหญ่โตมากกว่า”

เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ การตอบโต้ของจีนต่อการออกกฎหมายอเมริกันดังกล่าว อยู่ในลักษณะน้ำเสียงเผ็ดร้อนทางวาจา ทว่าอดกลั้นอดทนในทางปฏิบัติ โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า ร่างกฎหมายนี้ “เป็นการแทรกแซงกิจการฮ่องกงอย่างร้ายแรง, เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างร้ายแรง, และเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานต่างๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง มันเป็นพฤติการณ์แบบมุ่งครองตัวเป็นเจ้าอย่างล่อนจ้อนชนิดไม่มีการปกปิดซ่อนเร้นกันเลย”

โฆษกผู้นี้กล่าวต่อไปว่า “ตั้งแต่ที่ฮ่องกงหวนกลับคืนสู่มาตุภูมิ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ก็ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในทางสากลว่าประสบความสำเร็จ และบรรดาชาวฮ่องกงต่างได้รับสิทธิด้านประชาธิปไตยต่างๆ ที่สอดคล้องเป็นไปตามกฎหมาย ในระดับกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยได้รับกันมาก่อน”

ขณะที่คำแถลงฉบับหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีนบอกว่า “ฝ่ายสหรัฐฯเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริง, กลับดำให้เป็นขาว, และส่งเสริมให้กำลังใจอย่างโจ่งแจ้งแก่พวกอาชญากรใช้ความรุนแรง ผู้ซึ่งทั้งทุบทำลายและทั้งเผาสิ่งของสถานที่, ทำร้ายชาวเมืองผู้บริสุทธิ์, เหยียบย่ำหลักนิติธรรม, และเป็นอันตรายต่อระเบียบสังคม

“ความมุ่งมั่นตั้งใจอันเลวร้ายและชั่วร้ายของมันได้ถูกเปิดโปงออกมาให้เห็นอย่างเต็มที่แล้ว จุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนของพวกมันก็คือการบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรืองของฮ่องกง, บ่อนทำลายการปฏิบัติตาม “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และก่อกวนขัดขวางความพากเพียรพยายามของประชาชาติจีนในการสร้างประเทศชาติให้กลับมารุ่งเรืองยิ่งใหญ่อีกครั้ง

“เราขอเตือนสหรัฐฯว่า ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน และกิจการฮ่องกงก็เป็นกิจการภายในของจีน และรัฐบาลต่างประเทศหรือกลุ่มพลังต่างประเทศใดๆ ก็ตาม ไม่ต้องเข้ามาแทรกแซงก้าวก่าย” คำแถลงนี้ระบุ

กระนั้นการปฏิบัติเพื่อการตอบโต้ของจีนนั้น จวบจนถึงตอนนี้ก็คือการระงับไม่ให้เรือรบอเมริกันเข้ามาจอดแวะพักผ่อนหย่อนใจในฮ่องกง และการยุติระงับกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนพวกผู้ประท้วงฮ่องกง ของพวกองค์การนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ของสหรัฐฯ ปักกิ่งมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในฮ่องกงน้อยกว่าที่พวกผู้สังเกตการณ์ชาวอเมริกันบางคนคิดฝันจินตนาการเอาไว้มากมายนัก คนจีนแผ่นดินใหญ่นั้นไม่เคยมองตนเองเป็นพวกเดียวกันกับฮ่องกงเลย โดยที่อันที่จริงแล้วฮ่องกงก็ไม่เคยมีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่งของจีนมาก่อน หากแต่เป็นที่มั่นค้าขายฝิ่นแห่งหนึ่งของอังกฤษซึ่งเติบโตขยายตัวขึ้นมาจนกลายเป็นนครขนาดประชากร 7 ล้านคน ที่จัดว่ามีขนาดใหญ่พอประมาณเท่านั้นเมื่อถือตามมาตรฐานของจีน นอกจากนั้นแล้ว พวกผู้เดินขบวนประท้วงของฮ่องกงจำนวนมากทีเดียว ออกมาสู่ท้องถนนโดยที่มีพาสปอร์ตต่างประเทศเหน็บอยู่ที่กระเป๋าหลังของพวกเขา และจะอพยพโยกย้ายไปอยู่ต่างแดนแทนที่จะยืนหยัดต่อสู้ไม่ถอยเมื่อสิ่งต่างๆ เลวร้ายลงไปอีก ในทางเป็นจริงแล้วเหตุการณ์ต่างๆ ในฮ่องกงไม่ได้มีผลกระทบใดๆ บนแผ่นดินใหญ่ ตรงกันข้าม ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทุกๆ คนที่ผมสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่างยืนยันว่า ซีไอเอ กำลังจ่ายเงินให้พวกผู้เดินขบวนประท้วง

อย่างที่มีเรื่องตลกมุกเก่าๆ เล่ากันเอาไว้นั่นแหละ ฮ่องกงคือปัญหาที่สามารถแก้ไขคลี่คลายไปได้ในทางปฏิบัติ แต่ไม่สามารถกระทำได้เมื่อว่ากันในทางทฤษฎี การเดินขบวนประท้วงระลอกนี้มีสาเหตุรากเหง้าอยู่ 2 ประการใหญ่ๆ ได้แก่ การบริหารปกครองแบบทำตามอำเภอใจและเผด็จการ กับตลาดที่อยู่อาศัยซึ่งถูกปั่นราคาอย่างหนักจนทำให้ชีวิตไม่มีความรื่นรมย์เอาเลยสำหรับประชาชนคนธรรมดาสามัญ ฮ่องกงนั้นคือนครของอังกฤษมาโดยตลอด เกาะฮ่องกงกับแหลมเกาลูนเคยตกเป็นของอังกฤษอย่างถาวรตลอดกาลจากการที่จีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น แต่ด้วยเหตุผลซึ่งเวลานี้ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจน รัฐบาลอังกฤษภายใต้นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ได้ตกลงยินยอมเมื่อปี 1984 ที่จะส่งคืนฮ่องกงและเกาลูนกลับไปให้แก่จีน เมื่อตอนที่ดินแดนนิวเทอร์ริทอรีส์ (New Territories) ซึ่งอังกฤษไม่ได้เป็นเจ้าของแต่เช่ามาจากจีน ครบกำหนดหมดอายุสัญญาเช่าลงในปี 1997 ถึงแม้ไม่ได้มีพันธะผูกพันทางกฎหมายใดๆ เลยให้อังกฤษต้องคืนฮ่องกงและเกาลูน และจีนก็ไม่ได้ต้องการได้กลับคืนมา “ฝ่ายจีนนั้นมีความกังวลห่วงใยจริงๆ ในเรื่องการรับมอบฮ่องกงคืนไป เนื่องจากพวกเขาช่างด้อยประสบการณ์เหลือเกินในเรื่องการบริหารปกครองระดับนานาชาติ” อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษผู้หนึ่งเคยเล่าให้ผมฟัง ขณะเดียวกันนั้น จากเอกสารบันทึกต่างๆ ที่มีเผยแพร่กันออกมาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นกันว่า จีนไม่ได้เรียกร้องหาทางให้อังกฤษส่งมอบคืน ผมได้ตรวจสอบทบทวนหลักฐานเหล่านี้เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ใน วารสาร “เฟิร์สต์ ธิงส์” (First Things) (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.firstthings.com/web-exclusives/2019/12/chinas-sovereignty-tripwire-in-hong-kong)

ยิ่งไปกว่านั้น ความลำบากยุ่งเหยิงที่กำลังเกิดขึ้นในฮ่องกงเวลานี้ จะกลับดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างสงบไปเลย เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความรุนแรงในนครอื่นๆ ของโลกเวลานี้ ซึ่งคนหนุ่มคนสาวพากันลงสู่ท้องถนนเพื่อประท้วงต่อต้านบรรดาเงื่อนไขด้านลบทั้งหลายของชีวิต เป็นต้นว่า ในการจลาจลที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงซานติอาโก ของชิลี มีผู้เสียชีวิตไป 19 คน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ชิลี เคยถูกจับตามองเรื่อยมาว่าเป็นแบบอย่างอันดีของความมั่งคั่งรุ่งเรืองในภูมิภาคละตินอเมริกา ในบทวิเคราะห์ของผมเผยแพร่ทางเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ผมเขียนเอาไว้ว่า: “ไม่มีนคร 2 แห่งที่ไหนสามารถจะมีความแตกต่างกันได้มากไปกว่าระหว่าง ฮ่องกง กับ ซานติเอโก อีกแล้ว เป็นเรื่องลำบากมากที่จะค้นให้เจอท้องเรื่องทางการเมืองใดๆ ซึ่ง 2 นครนี้มีอยู่ร่วมกัน ทว่า ฮ่องกง กับ ซานติเอโก กลับมีสิ่งอะไรที่สำคัญบางอย่างอยู่ร่วมกันจริงๆ นั่นก็คือ ภาวะฟองสบู่ลอยฟ่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ของทั้งสองเมืองนี้ ได้ดันให้ราคาที่อยู่อาศัยพุ่งพรวดจนเกินกำลังที่ประชาชนคนธรรมดาสามัญจะซื้อหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนวัยหนุ่มวัยสาว” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/10/article/housing-bubble-toil-trouble-in-chile-hk/)

ฮ่องกงมีตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถือได้ว่าบ้าบอที่สุดในโลก ตามข้อมูลสถิติของฐานข้อมูล “นัมเบียว” (Numbeo) อัตราส่วนราคาต่อรายได้สำหรับที่อยู่อาศัยในฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 50:1 ซึ่งจัดว่าสูงที่สุดในโลก (เปรียบเทียบกับในยุโรปซึ่งจะอยู่ที่ระดับ สิบกว่าต้นๆ และในสหรัฐฯซึ่งอยู่ราวๆ 4:1 เท่านั้น) เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดบกพร่องของปักกิ่ง ทางฝ่ายบริหารของฮ่องกงมีนโยบายจำกัดการขายที่ดินสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกกลุ่มผลประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ ในเวลาเดียวกัน ปักกิ่งก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเรื่องที่มีเงินสดซึ่งไม่ชอบมาพากลจากแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลเข้าลงทุนในที่พักอาศัยระดับหรูหราของฮ่องกงซึ่งไม่ได้มีคนเข้าพำนักกันจริงๆ การรณรงค์กวาดล้างปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้นได้ลดกระแสการไหลทะลักจากแผ่นดินใหญ่ลงไปในบางระดับ เวลานี้เราจะไม่เห็นพวกเครื่องนับเงินสดตั้งอยู่ในร้านแอปเปิลสโตร์ (Apple Store) ในย่านเซนทรัลของฮ่องกงกันอีกแล้ว โดยที่ก่อนหน้านี้ที่นี่มีพวกนักฟอกเงินของแผ่นดินใหญ่เอาเงินหยวนที่อัดแน่นเต็มกระเป๋าถือ มาแลกเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์ไอโฟนจำนวนหลายร้อยเครื่อง ซึ่งจะถูกนำกลับไปขายต่อในแผ่นดินใหญ่

ฮ่องกงจะเดินหน้าไปได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด ถ้าหากเลียนแบบโมเดลเรื่องที่อยู่อาศัยที่กระทำกันในสิงคโปร์ ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วเคยเป็นดินแดนที่ให้แรงบันดาลใจมากมายแก่การปฏิรูปต่างๆ ในตอนเริ่มแรกเมื่อปี 1979 ของ เติ้ง เสี่ยวผิง ทั้งนี้ในปัจจุบันมีชาวสิงคโปร์ประมาณ 80% อยู่อาศัยกันตามอาคารเคหะของรัฐ ขณะที่ตัวเลขนี้ในฮ่องกงอยู่ที่ราวๆ 40% เท่านั้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว มันอยู่ในอำนาจของปักกิ่งอยู่แล้วที่จะจัดหาหนทางแก้ไขเยียวยาให้แก่ปัญหาทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้เกิดการประท้วงฮ่องกงขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งไม่สามารถที่จะตะล่อมนำเอาความชิงชังไม่ชมชอบของผู้คนส่วนข้างมากของฮ่องกง เข้ามารอมชอมผูกพันทางการเมืองกับแผ่นดินใหญ่ได้ ในทันทีที่จีนเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ตามสนธิสัญญา ปักกิ่งก็ไม่สามารถยอมรับให้มีการฝ่าฝืนล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของตนไม่ว่าจะตรงไหนก็ตามที เนื่องจากมันย่อมเกิดความเสี่ยงต่ออำนาจอธิปไตยของปักกิ่งในทุกที่ทุกแห่ง

อย่างที่ผมได้เขียนเอาไว้ในอีกตอนหนึ่งของบทความเผยแพร่ทาง “เฟิร์สต์ ธิงส์” ที่ได้อ้างอิงเอาไว้ข้างต้น:

“โครงสร้างแบบจักรวรรดิของจีน เป็นทั้งแหล่งที่มาแห่งความเข้มแข็งของแดนมังกร เวลาเดียวกันก็เป็นทั้งแหล่งที่มาแห่งความอ่อนแอ มีชาวจีนเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้นที่พูดภาษาจีนกลางสำเนียงราชสำนักได้อย่างคล่องแคล่ว พวกเขาพูดจาสนทนากันมากกว่าด้วย 1 ใน 280 ภาษาและสำเนียงท้องถิ่นซึ่งยังคงมีใช้พูดกันอยู่ในประเทศจีนเวลานี้ คำว่า “ภาษาจีน” ไม่ได้หมายถึงภาษาพูด แต่เป็นการอ้างอิงถึงระบบของตัวอักษรที่ใช้เขียน มณฑลต่างๆ ของแดนมังกรนั้นไม่ได้เคยแสดงว่ารักใคร่ชื่นชอบพวกนักจัดเก็บภาษีในปักกิ่งกันหรอก สิ่งที่ยึดโยงทั่วประเทศเอาไว้ด้วยกัน อย่างได้ที่เคยทำหน้าที่นี้มานับตั้งแต่การก่อตั้งราชวงศ์ฉิน (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อประเทศจีน) ในยุค 300 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา ก็คือความทะเยอทะยานของชนชั้นขุนนางข้าราชการจีน และการที่รัฐบาลส่วนกลางลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งใช้ควบคุมอุทกภัยและสร้างระบบชลประทานให้แก่เขตที่ราบของจีนนับตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล

“นี่คือคำอธิบายว่าทำไมปักกิ่งจึงมีความเต็มอกเต็มใจที่จะเข้าทำสงครามเพื่อช่วงชิงทะเลจีนใต้ มันเป็นการสาธิตที่เข้ากันอย่างดีเยี่ยมชนิดไม่มีข้อสงสัยกับคำพังเพยของจีนที่กล่าวว่า “เชือดคอไก่ให้ลิงดู” ทั้งนี้ปักกิ่งกำลังบอกว่า ถ้าเราเตรียมพร้อมที่จะเข้าสงครามเพื่อช่วงชิงเกาะแก่งไม่กี่แห่ง (ในทะเลจีนใต้) โดยถึงแม้ข้ออ้างทางประวัติศาสตร์ซึ่งใช้เป็นเหตุผลสำหรับการเข้าครอบครองของเรายังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งได้อย่างมากเช่นนี้แล้ว ลองคิดดูเถอะว่าเราจะทำอย่างไรในกรณีของไต้หวัน”

พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives), พวกหัวก้าวหน้า (progressives), และพวกนักอุดมคติอันแตกต่างหลายหลากทางด้านนโยบายการต่างประเทศ (assorted foreign-policy utopians), ต่างเชื่อกันว่า ฮ่องกงคือลางบอกเหตุล่วงหน้าว่าเหตุการณ์ในยุคทศวรรษ 1980 กำลังจะเกิดซ้ำรอยอีกครั้ง ในทัศนะของพวกเขานั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 คือการที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายในยุโรปตะวันออก โค่นล้มจักรวรรดิโซเวียตลงไปได้สำเร็จ แต่ไมว่าในตอนนั้นหรือในตอนนี้ พวกนักอนุรักษนิยมใหม่ยังคงกระทำความผิดพลาดด้วยการคิดไปว่าบทบาทของพวกเขาในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม ขบวนการโซลิดาริตี้ (Solidarity movement) ของโปแลนด์, การประท้วงต่างๆ ที่มีคริสตจักรเป็นศูนย์กลางในเยอรมนีตะวันออก, และการประท้วงอื่นๆ ในบรรดาประเทศบริวารของรัสเซียนั้น ต่างก็เป็นเพียงการแสดงแทรกการแสดงย่อย เหตุการณ์ที่เป็นหลักที่เป็นแกนกลางจริงๆ คือเทคโนโลยีทางการทหาร

เมื่อถึงปี 1982 ตอนที่กำลังทางอากาศของอิสราเอลซึ่งสร้างโดยสหรัฐฯ สามารถยิงทำลายกำลังทางอากาศของซีเรียที่สร้างโดยรัสเซีย ในบริเวณเหนือหุบเขาเบกา (Bekaa Valley) รัสเซียก็ทราบแล้วว่าการลงทุนอย่างมหาศาลของตนในบรรดาอาวุธตามแบบแผนนั้นเป็นการเดินผิดทางเสียแล้ว ครั้นเมื่อถึงปี 1984 พวกเขาก็ตระหนักว่าเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นไม่สามารถเคลื่อนตามทันอัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันใหญ่โตน่าทึ่งของอเมริกาได้ รายงานฉบับหนึ่ง (ที่ยังคงถูกจัดชั้นเป็นเอกสารลับอยู่) ซึ่ง ยุฟเกนี เวลิคอฟ (Evgeny Velikhov) นักฟิสิกส์พลาสมา (plasma physicist) ชั้นนำชาวรัสเซียเป็นผู้มอบหมายให้จัดทำ และตระเตรียมดำเนินการโดยบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Sciences) สาขาไซบีเบีย ในเมืองโนโวซีบีร์สก์ (Novosibirsk) เมื่อตอนต้นปี 1984 ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ฝ่ายทหารรัสเซียทราบว่า แผนการริเริ่มป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative) ของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ จะผลักดันกรอบโครงของเทคโนโลยีด้านกลาโหมไปยังมิติซึ่งรัสเซียไม่สามารถที่จะเลียนแบบได้ (รายงานฉบับดังกล่าวนี้ ไม่ควรนำมาสับสนกับ “รายงานโนโวซีบีร์สก์” ปี 1983 (1983 “Novosibirsk Report”) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความล้าหลังของเกษตรกรรมรัสเซีย ที่มีการเปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณชนมานานแล้ว)

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงปี 1984 สหรัฐฯยังประสบความสำเร็จในการพยุงดุนหลังเหล่าชาติพันธมิตรยุโรปของตนให้เห็นดีเห็นงามกับการติดตั้งประจำการขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่น “เพอร์ชิ่ง 2” (Pershing II medium-range missiles) ในเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งมีผลกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงสมดุลทางยุทธศาสตร์กันจนถึงระดับรากฐาน ในทิศทางที่ทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำไมรัสเซียจึงต้องเลือกที่จะดำเนินการปฏิรูปต่างๆ และถึงที่สุดแล้วก็หมดความหาญกล้าใดๆ ไปเลยในปี 1989 รัสเซียที่แข็งแกร่งและเชื่อมั่นตัวเองย่อมจะต้องกล้าตั้งคำถามว่า สมเด็จพระสันตะปาปาของทางคริสจักรมีกำลังทหารอยู่กี่กองพล และกล้าลงมือเข่นฆ่าพวกผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งตายเป็นเบือเอาง่ายๆ แบบเดียวกับที่ได้เคยทำมาแล้วในฮังการีปี 1956 และในเชโกสโลวะเกียปี 1968

พวกนักอนุรักษนิยมใหม่เฝ้ามองการล้มครืนของรัสเซีย และจินตนาการเอาเองว่ามนตร์ขลังของประชาธิปไตยได้ยังความปราชัยให้แก่พวกกษัตริย์พ่อมดหมอผีผู้ชั่วร้ายแห่งมอสโก ตลอดจนกระทั่งมองต่อไปข้างหน้าว่าโลกจะมาถึงยุคสมัยแห่ง “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (End of History) ซึ่งทุนนิยมเสรีแผ่กระจายกว้างขวางออกไปตลอดทั่วทั้งโลกอย่างไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ มายาภาพเช่นนี้เองเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้อเมริกาตกฮวบลงจากสถานะของการเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของโลกในปี 1989 และกลายเป็นผู้มีหวังจะต้องอยู่ในฐานะมหาอำนาจอันดับสองของโลกเมื่อมาถึงช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21

ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะรักษาความเป็นมหาอำนาจระดับโลกซึ่งอยู่เหนือใครๆ เอาไว้ต่อไปแล้ว ประเทศนี้ก็จะต้องหวนกลับไปดำเนินโยบายซึ่ง ดไวต์ ไอเซนฮาวร์, จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F Kennedy), และโรนัลด์ เรแกน ได้นำเอามาใช้อย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งได้แก่ การใช้ทรัพยากรต่างๆ ของกระทรวงกลาโหมไปในการขับดันการทะลุทะลวงทางเทคโนโลยีทั้งหลาย ระหว่างสมัยของประธานาธิบดีเรแกนนั้น สหรัฐฯได้ใช้จ่ายเงินทองเป็นมูลค่าเท่ากับ 300,000 ล้านดอลลาร์เมื่อคำนวณเป็นอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ในเรื่องการวิจัยและพัฒนาระดับพื้นฐาน ทว่าในทุกวันนี้นั้น กระทั่งถ้าหากรัฐสภาจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนดังกล่าวมาใช้ มันก็ไม่สามารถนำไปใช้จ่ายในด้านนี้ได้อยู่นั่นเอง กล่าวคือ ห้องแล็ปของภาคบริษัทธุรกิจต่างๆ ซึ่งเคยเป็นผู้ทำงานด้านนี้แทบทั้งหมดนั้น ปัจจุบันไม่ได้ดำรงคงอยู่อีกต่อไปแล้ว พวกคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็ไม่ได้มีบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ และ—อย่างที่ นิวต์ กริงริช (Newt Gringrich) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวเตือนเอาไว้ในหนังสือเล่มใหม่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/11/article/good-sense-from-gingrich-on-china/) – กลุ่มอุตสาหกรรมทหาร (military-industrial complex) เวลานี้กำลังกลายเป็นตัวกีดขวางนวัตกรรมไปเสียแล้ว สหรัฐฯนั้นมีงานที่ตนเองจำเป็นจะต้องทำให้สำเร็จในเวลานี้ ขณะที่ฮ่องกงเป็นเพียงตัวที่ทำให้เกิดความวอกแวกว้าวุ่นใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น