xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน-เซเลนสกี’ บรรลุข้อตกลง ‘แลกเปลี่ยนนักโทษ’ ในภาคตะวันออกยูเครน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(จากซ้ายไปขวา) ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน, นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เปิดแถลงข่าวร่วมหลังการประชุมรูปแบบนอร์มังดี (Normandy-format summit) ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.
รอยเตอร์ - ผู้นำรัสเซียและยูเครนเห็นพ้องในวันนี้ (10 ธ.ค.) ว่าจะดำเนินการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษที่เหลืออยู่ทั้งหมดจากความขัดแย้งในภาคตะวันออกยูเครนภายในสิ้นปี 2019 แต่ยังคงทิ้งประเด็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับสถานะของภูมิภาคดังกล่าวไว้สำหรับการหารือรอบต่อๆ ไป

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ได้เปิดการหารือซึ่งหน้าเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีสนานถึง 9 ชั่วโมง โดยมีประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์

ความขัดแย้งในยูเครนตะวันออกซึ่งปะทุขึ้นในปี 2014 ทำให้มีผู้ถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 13,000 คน และทำให้ดินแดนผืนใหญ่ของยูเครนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มแบกแยกดินแดนโปรมอสโก ทั้งยังก่อความบาดหมางครั้งร้ายแรงที่สุดระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกในยุคหลังสงครามเย็น

บรรยากาศการพบปะครั้งแรกระหว่าง ปูติน กับ เซเลนสกี ค่อนข้างเย็นชา โดยผู้นำทั้งสองไม่มีการจับมือทักทายต่อหน้าสาธารณชน และมักหลีกเลี่ยงที่จะสบตากัน แต่ถึงกระนั้นการเจรจาก็นำไปสู่คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนพอสมควร โดยแถลงการณ์ร่วมฉบับสุดท้ายระบุถึงการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ การบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass) ของยูเครน ตลอดจนเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติที่เข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิง

ทั้ง 2 ฝ่ายยังตกลงจะร่วมมือกันในช่วง 4 เดือนนับจากนี้เพื่อจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในภูมิภาคดอนบาสส์ แต่ยังไม่ชี้แจงรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่ผู้นำฝรั่งเศสยอมรับว่า ปูติน และ เซเลนสกี ยังมีความเห็นต่างอยู่พอสมควรในประเด็นนี้

“เราได้ความคืบหน้าในประเด็นการถอนกำลังพล (disengagement), แลกเปลี่ยนนักโทษ และวิวัฒนาการทางการเมือง” มาครง ระบุในงานแถลงข่าวซึ่ง ปูติน และ เซเลนสกี นั่งแยกกันคนละฝั่งโดยมีเขาและ แมร์เคิล คั่นกลาง

“เราได้สั่งให้คณะรัฐมนตรีเร่งสานต่อภารกิจนี้ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า”

ด้าน เซเลนสกี ซึ่งเป็นอดีตดาวตลกที่ชนะเลือกตั้งได้ครองเก้าอี้ผู้นำยูเครนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เผยว่าเขาและ ปูติน บรรลุข้อตกลงคร่าวๆ ว่าจะอนุญาตให้มีการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านดินแดนยูเครนได้ต่อไป ขณะที่ผู้แทนหมีขาวคนหนึ่งยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับคำสั่งให้ไปหารือรายละเอียดในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนในประเด็นการเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการยุติความขัดแย้ง เช่น สถานะของดอนบาสส์ภายในยูเครน และฝ่ายใดที่จะมีอำนาจควบคุมพรมแดนระหว่างดอนบาสส์กับรัสเซีย


การประชุมที่ปารีสเมื่อวานนี้ (9) ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 ที่ผู้นำทั้ง 4 ฝ่ายได้มาพบปะหารือกันภายใต้การประชุมรูปแบบนอร์มังดี (Normandy format) โดยมีกำหนดจะจัดขึ้นอีกครั้งภายใน 4 เดือนข้างหน้า

ภูมิภาคดอนบาสส์ทางตะวันออกของยูเครนหลุดออกจากการควบคุมของรัฐบาลเคียฟในปี 2014 ตามหลังเหตุชุมนุมประท้วงในเมืองหลวงที่ทำให้ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นผู้นำสายโปรรัสเซียต้องหลุดจากเก้าอี้ และกระตุ้นให้มอสโกส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปยึดแหลมไครเมียในทะเลดำ

แม้จะมีการทำข้อตกลงหยุดยิงที่กรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ในปี 2015 ทว่าการสู้รบยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนในดอนบาสส์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

ชาวยูเครนจำนวนมากรู้สึกกังวลที่จะต้องประนีประนอมกับรัสเซีย และเชื่อว่า ปูติน จ้องจะแผ่อิทธิพลกลับมาครอบงำอดีตรัฐโซเวียตแห่งนี้ ซึ่งจะทำลายความฝันของชาวยูเครนส่วนใหญ่ที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับยุโรปให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

เซเลนสกี ยืนยันว่า ตนไม่ได้อ่อนข้อให้กับรัสเซียในเรื่องอธิปไตยหรือบูรณภาพแห่งดินแดนยูเครน และย้ำว่าตนกับ ปูติน ยังคงเห็นต่างในหลายเรื่อง ขณะที่ผู้นำรัสเซียก็ให้ความหวังเพียงรางๆ เกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพ

“จากการพูดคุยทำให้เราเชื่อว่า กระบวนการนี้กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง” ปูติน ระบุ

หลังจบการแถลงข่าว ปูตินได้หันไปขอบคุณ มาครง และ แมร์เคิล อย่างอบอุ่น แต่กลับไม่แสดงไมตรีต่อ เซเลนสกี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำรัสเซียไม่ต้องการถูกมองว่ายอมแพ้ต่อแรงบีบต่างชาติในประเด็นยูเครนตะวันออก หรือถูกมองว่าจะทอดทิ้งประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในดอนบาสส์ไว้ในความเมตตาของรัฐบาลเคียฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น