xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอ'หัวเว่ย'เชื่อยังสามารถขึ้นครองแบรนด์สมาร์ทโฟนเบอร์1โลก แม้ถูกตัดขาดจากกูเกิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซีเอ็นเอ็น - เหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอและผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เชื่อมั่นว่าบริษัทของเขาจะสามารถขึ้นครองแบรนด์สมาร์ทโฟนหมายเลข 1 ของโลก หากแม้พวกเขายังถูกตัดขาดจากแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ของกูเกิลต่อไป

บริษัทจีนแห่งนี้ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว และอยู่บนเส้นทางในการแซงหน้า "ซัมซุง" ในการก้าวสู่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ จนกระทั่งพวกเขาถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำทางการค้า

ในบัญชีดำดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อจำกัดห้ามบริษัทต่างๆของสหรัฐฯ อย่างเช่นกูเกิล, อินเทล, บรอดคอม จากการขายเทคโนโลยีแก่หัวเว่ย จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน

ปัจจุบันชัยชนะของหัวเว่ยในตลาดต่างแดนที่ได้มาอย่างยากลำบากกำลังหดตัวลง เนื่องจากพวกผู้บริโภคนอกประเทศจีนเริ่มมีความกังวลต่อการซื้อโทรศัพท์ของหัวเว่ย ที่อาจไม่สามารถเข้าถึงกูเกิลเพลย์สโตร์และแอปพลิเคชันยอดนิยมต่างๆอย่างเช่นเฟซบุ๊ก, อูเบอร์และกูเกิลแมปส์

อย่างไรก็ตามระหว่างให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นบิสเนสในวันอังคาร(26พ.ย.) เหริน เจิ้งเฟย ตอบว่า "ผมไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาอะไร มันก็แค่ต้องใช้เวลานานกว่าเดิมเท่านั้น" เมื่อถูกถามว่า หัวเว่ยจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนหมายเลข 1 ของโลกได้หรือไม่ แม้ปราศจากกูเกิล

หัวเว่ยตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯที่รณรงค์อย่างกว้างขวางต่อต้านบริษัทโทคโนโลยีสัญชาติจีนแห่งนี้ โดยทางวอชิงตันกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยเสี่ยงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ คำกล่าวหาที่ทางหัวเว่ยยืนกรานปฏิเสธมาตลอด

บริษัทสหรัฐฯบางแห่งอาทิเช่นไมโคซอฟต์ ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับการทำธุรกิจอย่างจำกัดกับหัวเว่ย โดยมันจะต้องไม่เสี่ยงเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติหรือส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ในนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ตามขณะเดียวกันก็มีบริษัทอีกหลายแห่งที่ถูกปฏิเสธใบอนุญาต

ในส่วนของกูเกิลนั้น เหริน ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นบิสเนส คาดเดาว่ามีความเป็นไปได้ที่กูเกิลอาจถูกปฏิเสธใบอนุญาตไปแล้วหรือยังไม่ได้รับใบอนุญาต อย่างไรก็ตามสำหรับ หัวเว่ย นั้นได้เน้นย้ำถึงความต้องการทำงานร่วมกับ กูเกิล หากเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังดำเนินการในแผนสำรอง "ขนานใหญ่" เช่นกัน

หัวเว่ย ได้ดำเนินการพัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองมานานแล้ว ที่มีชื่อว่า "ฮาร์โมนี" เช่นเดียวกับแอปสโตร์ แต่ หัวเว่ย มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดเพียง 45,000 แอปฯ เทียบไม่ได้กับกูเกิลเพลย์สโตร์ ที่มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดถึง 2.8 ล้านแอปฯ

เหริน ยอมรับว่าสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศทรงอานุภาพที่สุดในโลกในด้านนวัตกรรม และไม่มีชาติไหน ในนั้นรวมถึงจีน ที่จะสามารถแซงหน้าอเมริกาได้ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

อย่างไรก็ตามเขาบ่งชี้ว่าวอชิงตันอาจช่วยเพิ่มคู่แข่งขันโดยไม่ได้ตั้งใจ หากยังคงกำหนดข้อจำกัดต่างๆนานากับบริษัทต่างๆที่เหล่าบริษัทของสหรัฐฯทำธุรกิจด้วย

"หากหัวเว่ยไม่อาจทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์สหรัฐฯ เราคงจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นๆ และหากทางเลือกเหล่านั้นสมบูรณ์เต็มที่ ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้น้อยลงที่เราจะหันกลับไปยังทางเลือกเก่าๆ" เหรินกล่าว "มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเราทุกคน ผมหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับบริษัทต่างๆของอเมริกา"
กำลังโหลดความคิดเห็น