รอยเตอร์ - สหรัฐฯกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัฐมนตรีข่าวสารของอิหร่านในวันศุกร์(22พ.ย.) ต่อบทบาทของเขาในการ "เซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง" อ้างถึงกรณีความพยายามปิดข่าวการประท้วงชัตดาวน์ทั่วประเทศนาน 5 วันในอิหร่าน อันเนื่องจากความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อมาตรการปรับขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาล
มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งอิหร่านระบุว่าได้ค่อยๆยกเลิกแล้วตั้งแต่วันพฤหัสบดี(21พ.ย.) ทำให้พวกผู้ประท้วงโพสต์วิดีโอต่างๆบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อระดมแรงสนับสนุนได้ยากลำบาก เช่นเดียวกับการเข้าถึงรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับขอบเขตของสถานการณ์ความไม่สงบ
กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่า โมฮัมหมัด จาวาด อาซารี-จาห์โรมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือแกนนำในนโยบายสกัดกั้นคัดกรองทางอินเตอร์เน็ตของอิหร่าน พร้อมระบุว่าเขาคืออดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของอิหร่านที่เคยเกี่ยวข้องกับการสอดแนมพวกนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
"พวกผู้นำอิหร่านรู้ว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างเสรีจะเปิดโปงความไม่ชอบธรรมของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตเพื่อสยบพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล" สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯระบุในถ้อยแถลง "เรากำลังคว่ำบาตรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ในนั้นรวมถึงแอปพลิเคชั่นส่งข้อความยอดนิยมต่างๆ ที่ช่วยให้ชาวอิหร่านหลายสืบล้านคนเชื่อมต่อกันละกันและกับโลกภายนอก"
มาตรการคว่ำบาตรจะอายัดสินทรัพย์ต่างๆของอาซารี-จาห์โรมี ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลสหรัฐฯ และห้ามทำธุรกรรมใดๆกับพลเมืองสหรัฐฯ รวมถึงเขาจะไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินสหรัฐฯได้
เมื่อวันพฤหัสบดี(21พ.ย.) สื่อมวลชนอิหร่านรายงานว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งปิดตายอินเตอร์เน็ต ได้อนุมัติให้บางพื้นที่กลับมาเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้วตามลำดับ ขณะที่ อาซารี-จาห์โรมี ให้สัมภาษณ์ว่ามาตรการจำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็นไปตามคำสั่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมันเป็นสิ่งสำคัฐญสำหรับเหตุผลด้านความมั่นคง
"เราจะทำให้เหล่าสมาชิกของรัฐบาลอิหร่านต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อการปราบปรามรุนแรงประชาชนชาวอิหร่านของพวกเขา" ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเขียนบนทวิตเตอร์
การประท้วงแผ่ลามทั่วอิหร่านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นราคาเบนซินอย่างน้อย 50% ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ชุมนุมยกระดับข้อเรียกร้องเป็นขอให้บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงลาออก
ความขุ่นเคืองของผู้ชุมนุม ถูกซ้ำเติมจากความผิดหวังต่อปัญหาต่างๆที่ทับถมมานาน ทั้งค่าเงินที่อ่อนค่าลงและราคาขนมปัง,ข้าวและวัตถุดิบหลักอื่นๆที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำไว้กับเหล่าชาติมหาอำนาจโลก แล้วกลับมาคว่ำบาตรเตหะรานรอบใหม่
เตหะรานกล่าวโทษพวกอันธพาลที่เกี่ยวข้องกับพวกที่ลี้ภัยในต่างแดนและศัตรูต่างชาติ อย่างสหรัฐฯ, อิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(15พ.ย.)
เหตุชุมนุมมีขึ้นแม้รัฐบาลระบุว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันก็เพื่อระดมทุน 2,550 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับเป็นเงินอุดหนุนพิเศษแก่ครอบครัวยากจน 18 ล้านครัวเรือนที่มีรายได้น้อย