รอยเตอร์ - กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน ส่งเสียงเตือนพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวันจันทร์(18พ.ย.) ต่อการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด หากว่าสถานการณ์ความไม่สงบอันมีต้นตอจากการขึ้นราคาน้ำมันเบนซินไม่คลี่คลายลง ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งรัฐ บ่งชี้ว่าพวกเขาอาจใช้มาตรการปราบปรามหนักหน่วงกับผู้ชุมนุม
การประท้วงแผ่ลามทั่วอิหร่านมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว(15พ.ย.) ได้เลี้ยวเข้าสู่ข้อเรียกร้องทางการเมือง ด้วยพวกผู้ชุมนุมต้องการให้พวกผู้นำด้านศาสนาระดับสูงลาออก โดยตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนแห่งรัฐระบุว่ามีธนาคารอย่างน้อย 100 แห่งและอาคารหลายสิบหลัง รวมถึงรถยนต์อีกหลายคันถูกจุดไฟเผา
"ถ้าจำเป็นเราจะใช้มาตรการเด็ดขาดกับความเคลื่อนไหวใดๆที่ปั่นป่วนสันติภาพและสวัสดิภาพของประชาชน" กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน กองกำลังทรงอิทธิพลของประเทศระบุในถ้อยแถลง
ต้นเหตุของความวุ่นวายมีชนวนจากถ้อยแถลงที่ยังคงคลุมเครือเกี่ยวกับนโยบายปันส่วนเชื้อเพลิงและปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างน้อย 50% ในขณะที่พวกเจ้าหน้าที่จำกัดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อสกัดผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ให้รวมกลุ่มจัดการประท้วงและเผยแพร่วิดีโอไม่พึงประสงค์
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นสถานการณ์ความไม่สงบครั้งเลวร้ายนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2017 โดยหนนั้นมีการประท้วงตามเมืองและหมู่บ้านต่างๆกว่า 80 แห่ง ด้วยผู้ชุมนุมคนหนุ่มสาวและชนชั้นแรงงานแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อปัญหาคอรัปชัน, อัตราคนว่างงานระดับสูงและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนยากจน
สองปีผ่านไป ความไม่พอใจและความขุ่นเคืองต่อความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจหวนกลับมาอีกรอบ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯและรัฐบาลล้มเหลวในการทำตามคำสัญญาจะสร้างงานและลงทุุนเพิ่มเติม
ชาวอิหร่านบางคนโพสต์วิดีโอลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตามรอยเตอร์ไม่ยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ ส่วนเจ้าหน้าที่เผยว่ามีหลายคน ในนั้นรวมถึงสมาชิกกองกำลังด้านความมั่นคงและตำรวจเสียชีวิต และพวกก่อจลาจลราว 1,000 คนถูกจับกุม โดยบางส่วนใช้ปืนและมีดเป็นอาวุธ
พวกผู้นำอิหร่านหวังว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะยุติโดยเร็ว ด้วยกังวลว่าหากมันยืดเยื้อจะกลายเป็นการมอบกระสุนให้พวกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่อาจหยิบฉวยโอกาสนี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นสูงของอิหร่านว่าคอรัปชันและไม่รับผิดชอบ
รัฐบาลของประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี บอกว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน ก็เพื่อระดมเงินราว 2,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี สำหรับเป็นทุนพิเศษเพื่ออุดหนุนครอบครัวผู้ยากจนมีรายได้น้อย 18 ครัวเรือน หรือราวๆ 60 ล้านคน
เจ้าหน้าที่บางส่วนและแหล่งข่าววงในเปิดเผยว่าท้ายที่สุดแล้ว ชนชั้นสูงจะได้ประโยชน์จากความยุ่งเหยิงนี้ ด้วยคาดหมายว่ามาตรการอุดหนุนจะกระตุ้นให้มีผู้สิทธิ์ออกเสียงออกมาลงคะแนนโหวตในศึกเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นตัวทดสอบคะแนนนิยมความเป็นสาธารณรัฐอิสลามในดินแดนแห่งนี้
"ประชาชน 60 ล้านคนที่จะได้รับเงินอุดหนุน ส่วนหนึ่งจากการขึ้นราคาน้ำมัน แน่นอนว่าพวกเขาจะออกไปโหวต เพราะว่าเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญของชาวอิหร่านจำนวนมาก" เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าว ในขณะที่มาตรการแจกจ่ายเงินจะเริ่มขึ้นในวันอังคาร(19พ.ย.) "การตัดสินใจมีขึ้นด้วยหลายปัจจัย มีความกังวลเกี่ยวกับผู้ไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆต่อสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง ซึ่งอาจทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย"