(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Decouple? Americans better learn what it means
By George Koo
18/11/2019
พวกเหยี่ยวที่ต้องการให้ใช้ท่าทีแข็งกร้าวที่สุดกับจีน อย่าง ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาฝ่ายการค้าของทำเนียบขาว กำลังนำพาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ถลำลงสู่เส้นทางแห่งความหายนะ ไม่เพียงเฉพาะสำหรับสหรัฐฯเท่านั้น หากยังสำหรับพวกพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐฯอีกด้วย
ความพากเพียรพยายามอย่างยุ่งยากวกไปเวียนมา เพื่อให้จีนกับสหรัฐฯสามารถบรรลุ เฟส 1 ของดีลที่จะยุติสงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง ดูเหมือนกำลังมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะล้มเหลวหมดลมไปจริงๆ ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะสามารถตกลงกันเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งจะพบปะและลงนามข้อตกลงฉบับนี้ด้วยซ้ำ
วันหนึ่ง ทรัมป์ออกมาประกาศว่า “เรากำลังจะลงนามในข้อตกลงซึ่งยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา” จากนั้นในวันรุ่งขึ้น เขาก็กลับข่มขู่จะขยับภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
จีนนั้นเชื่อว่า ข้อตกลงเฟส 1 ควรต้องครอบคลุมถึงคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯที่จะยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรทั้งหมดซึ่งใช้เล่นงานสินค้านำเข้าจากแดนมังกร ทว่า ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) ที่ปรึกษาฝ่ายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ [1] ผู้ซึ่งนิตยสารบลูมเบิร์กบิสซิเนสวีก (Bloomberg Businessweek) เรียกขานว่า เป็นพวกสายเหยี่ยวในเรื่องจีนซึ่งแข็งกร้าวที่สุด (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bloomberg.com/news/features/2019-11-14/how-trump-s-trade-war-went-from-method-to-madness) คือผู้ที่ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมผ่อนปรนของทำเนียบขาว ในการต่อต้านคัดค้านการเพิกถอนมาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีนไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดก็ตามที
นาวาร์โรนำพาให้ทรัมป์หลงผิด
นาวาร์โรเป็นผู้ที่โน้มน้าวชักจูงให้ทรัมป์เชื่อว่า การขึ้นภาษีศุลกากรเอากับพวกสินค้าเข้าจากจีน จะทำให้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯหมดไปได้ อย่างไรก็ตาม แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เวลานี้ภาวะการขาดดุลการค้าจีนของสหรัฐฯกลับมีแต่ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ทว่าถึงแม้เขากำลังเป็นฝ่ายที่เสนออะไรออกมาอย่างผิดๆ แต่ดูเหมือนว่าในสายตาของทรัมป์แล้ว เครดิตความน่าเชื่อถือของนาวาร์โรยังคงหนักแน่นมั่นคงเป็นอันดี การที่ทัศนะความคิดเห็นของเขายังคงมีชัยเหนือคนอื่นๆ ภายในทีมรับมือกับจีนของทรัมป์ อาจจะหมายความว่าสหรัฐฯกับจีนจะไม่สามารถทำข้อตกลงใดๆ กันได้ทั้งสิ้น
พวกสายเหยี่ยวด้านการค้าเฉกเช่น รอน วารา (Ron Vara) ซึ่งถูกเปิดโปงออกมาแล้วว่าก็คือตัว ปีเตอร์ นาวาร์โร นั่นเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businessinsider.com/peter-navarro-mock-china-criticism-ron-vara-fake-expert-2019-10) ยืนกรานอยู่เรื่อยว่าสหรัฐฯสามารถเอาชนะสงครามการค้าที่ทำกับจีนได้ ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นนิสัยความเคยชินของนาวาร์โรที่จะต้องให้เครดิตแก่ รอน วารา ผู้เชี่ยวชาญจอมปลอมที่ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ ซึ่งเขาประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมาเอง ว่าเป็นเจ้าของข้อเสนอข้อวินิจฉัยและคำประกาศคำแถลงอันน่าหัวเราะเยาะมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้นซึ่งเขาปรุงผสมขึ้นมา [2] มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าตัวเขาเองอาจจะรู้สึกละอายใจมากจนเกินกว่าจะกล้าประกาศบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เขานี่แหละคือผู้ที่มีจุดยืนและทัศนะอันแปลกประหลาดพิลึกกึกกือขนาดนี้
นาวาร์โร/รอน วารา เรียนรู้จากพี่เลี้ยงและเพื่อนแสนดีของเขา ที่ชื่อ กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Coming Collapse of China (การพังพินาศที่กำลังจะเกิดขึ้นมาของจีน) ว่าการเที่ยวโจมตีกล่าวร้ายเล่นงานจีนไปเรื่อยๆ สามารถที่จะทำให้ตนเองได้รับรางวัลผลตอบแทนที่ไม่เลว สิ่งซึ่งพิสูจน์ยืนยันเรื่องนี้ก็คือ ทั้งๆ ที่ ชาง แสดงความคิดเห็นที่ผิดพลาดชนิดกู่ไม่กลับจากการทำนายว่าตั้งแต่เมื่อร่วมๆ 20 ปีที่ผ่านมาว่าจีนกำลังใกล้จะพังพินาศ กระนั้นจนถึงเวลานี้เขาก็ยังคงได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นจากพวกรายการข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์สหรัฐฯ และยังคงได้รับเชิญให้เขียนบทวิจารณ์ลงตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
ต้องถือว่า นาวาร์โรทำได้ดียิ่งกว่า ชาง ด้วยซ้ำไป เนื่องจากเขาเป็นนักเขียนที่มีฝีมือยิ่งกว่า ชาง ผู้เอาแต่พร่ำเพ้อเรื่อยเปื่อยกับ “การพังพินาศ” หนังสือเรื่อง Death by China (ตายเนื่องจากจีน) ของนาวาร์โร ถึงแม้เต็มไปด้วยการตีความที่ผิดๆ พลาดๆ กระนั้นก็สามารถทำให้จินตนาการของทรัมป์ติดอกติดใจ และนี่คือเหตุผลที่ว่าเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในทีมว่าด้วยจีนของทำเนียบขาวในเวลานี้ได้อย่างไร
หนึ่งในข้อเสนอข้อวินิจฉัยยอดนิยมของนาวาร์โรก็คือ จีนมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลเป็นการโจรกรรมตำแหน่งงานไปจากชาวอเมริกัน อันเป็นข้อกล่าวหาซึ่งเขาลงแรงใช้ความพยายามจนสามารถประทับติดแน่นอยู่ในมันสมองของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม อดีตอาจารย์อดีตเพื่อนร่วมงานของเขา ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ (University of California, Irvine) เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่การศึกษาวิจัยที่อิงอยู่กับข้อเท็จจริงฉบับหนึ่ง ซึ่งมีตารางและชาร์ตต่างๆ สนับสนุนอย่างหนักแน่น ในวารสารฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ที่นาวาร์โรนำมาใช้กล่าวหาจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://hbr.org/2019/11/is-china-actually-stealing-american-jobs-and-wealth)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯไม่ได้สูญเสียตำแหน่งงานใดๆ ไปให้จีนเลย นับตั้งแต่ที่จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์การการค้าโลก ใช่ครับ อย่างที่ผมเคยรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อนอาจารย์เพื่อนร่วมงานเหล่านี้ยังเคยบอกผมว่า นาวาร์โรแสดงความเห็นเกี่ยวกับจีนของเขาตั้งแต่ตอนที่เขาไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับจีนเลย (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2018/03/opinion/trumps-buying-navarros-snake-oil-will-make-world-sick/)
ประโยคสรุปในรายงานการศึกษาวิจัยซึ่งกลายเป็นบทความที่ตีพิมพ์ในฮาร์วาดบิสซิเนสรีวิวชิ้นนี้กล่าวว่า “แต่ข้อมูลของช่วงเวลา 25 ปีหลังมานี้ วาดภาพให้เห็นว่าการพาณิชย์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน เป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เสริมกันประสานกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และกำลังนำมาซึ่งสันติภาพตลอดจนความเจริญมั่งคั่งร่วมกัน”
ระวังกันหน่อย คิดให้ดีว่าคุณกำลังต้องการอะไร
อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเอเชีย (Asia Society) ในเมืองปาโลอัลโต (Palo Alto) รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อไม่นานมานี้ เขากล่าวว่า “พวกที่กำลังหาทางทำให้ความสัมพันธ์ (ระหว่างสหรัฐฯกับจีน) นี้ หลวมคลายลงไป ต้องระมัดระวังให้ดีว่าพวกคุณกำลังต้องการอะไรกันแน่ ทั้งผลสืบเนื่องต่างๆ ที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และผลสืบเนื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ” โดยที่ รัดด์ กำลังพาดพิงไปถึงบุคคลเฉกเช่น สตีเฟ แบนนอน (Steve Bannon นักคิดนักหนังสือพิมพ์ขวาจัดที่เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาวในคณะบริหารของทรัมป์ -ผู้แปล) และสมาชิกคนอื่นๆ บางคน อย่างเช่น นาวาร์โร ในคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งกำลังผลักดันให้เกิดการแยกขาดออกจากกัน (decoupling) ระหว่างสหรัฐฯกับจีน
ผลสืบเนื่องที่จะเกิดกับสหรัฐฯซึ่งแยกขาดออกไปจากจีนแล้ว อาจจะเป็นความหายนะร้ายแรงเสมือนฤดูหนาวภายหลังสงครามนิวเคลียร์ (nuclear winter) ก็ได้ และสาธารณชนชาวอเมริกันจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และมีความเข้าใจอย่างเต็มที่ว่าสหรัฐฯจะอยู่ในสภาพอย่างไรในทันทีที่แยกขาดออกจากจีน มันถึงเวลาอันจำเป็นและเหมาะสมแล้วที่จะต้องมาตรวจสอบกันอย่างระมัดระวังถึงผลสืบเนื่องต่างๆ ที่จะเกิดตามมา
ตอนที่ภัยคุกคามของสงครามการค้าทำท่าจะปะทุขึ้นแน่ๆ เมื่อปีที่แล้ว บรรดาผู้บริโภคชาวจีนเริ่มที่จะนิยมชมชื่นพวกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของพวกตนมากกว่าแบรนด์สินค้าอเมริกันที่เป็นคู่แข่ง สมาร์ตโฟนของแอปเปิล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นข้าวของที่จำเป็นต้องมีสำหรับยัปปี้ชาวจีนทุกๆ คนนั้น ได้ตกอันดับอยู่ตามหลังแบรนด์ของจีนเองอย่างน้อย 4 แบรนด์ในเรื่องส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีน
ยอดขายสินค้าทางออนไลน์ใน “วันคนโสด” 11.11 (วันที่ 11 พฤศจิกายน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Singles%27_Day) ของปีนี้ ปรากฏว่าทำลายสถิติทุกๆ อย่างโดยสามารถทำรายรับได้สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 25% เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจผู้บริโภคของจีนนั้นไม่ได้กำลังลำบากเดือดร้อนจากการที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมีราคาแพงขึ้น (สืบเนื่องจากถูกรัฐบาลจีนเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของฝ่ายสหรัฐฯ -ผู้แปล) ทั้งนี้เนื่องจากว่าเวลานี้ผู้บริโภคชาวจีนก็ไม่ได้ซื้อสินค้าสหรัฐฯอยู่แล้ว การแยกขาดออกจากกันกลับจะมีความหมายว่า ธุรกิจอเมริกันทั้งหลายจะแยกห่างเป็นการถาวรจากตลาดที่อย่างน้อยที่สุดก็มีขนาดใหญ่เป็น 4 เท่าตัวของตลาดภายในประเทศของพวกเขาเอง
ในแนวรบด้านเทคโนโลยี การแยกขาดออกจากกันจะทำให้การร่วมมือประสานงานกันหยุดชะงักลง และทำให้นวัตกรรมตลอดจนความก้าวหน้าต่างๆ ชะลอตัว ขอหยิบยกเรื่องการพัฒนา 5จี (ระบบสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นที่ 5) ของหัวเว่ย มาเป็นตัวอย่าง การแยกขาดออกจากกันจะบังคับให้หัวเว่ยต้องหันไปใช้ส่วนประกอบจำนวนมากของตนจากภายนอกสหรัฐฯ แต่นั่นก็เป็นดาบสองคม เราต้องไม่ลืมว่า รายได้ของควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทอเมริกันที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิป จำนวนถึงราว 70% ทีเดียวต้องพึ่งพาอาศัยการซัปพลายชิ้นส่วนให้แก่หัวเว่ย
ตามข้อมูลของ เนชั่นแนล พับลิก เรดิโอ (National Public Radio เครือข่ายสถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติของสหรัฐฯ) 54 ประเทศได้ยอมรับ 5จี ของหัวเว่ยไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่มีเพียงสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ เท่านั้นที่กำลังห้ามใช้หัวเว่ย ถ้าหากสหรัฐฯกับจีนแยกขาดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ ช่องว่างความห่างเหินนี้ก็มีแต่จะยิ่งถ่างกว้างออกไป เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่ใช้ 5จีหัวเว่ย อยู่ในภาวะพรักพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปสู่ 6จีล่วงหน้าก่อนคนอื่นๆ หลายๆ ปี เพราะที่หัวเว่ยกำลังดำเนินการพัฒนา 6จี กันแล้ว
ทำไมอิทธิพลที่จีนและสหรัฐฯมีอยู่กับประเทศอื่นๆ ในโลกจึงเกิดมีความแตกต่างกันอย่างน่าตื่นใจถึงขนาดนี้
ปัจจุบันกองทหารสหรัฐฯตั้งประจำอยู่ในประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศโดยมีฐานทัพอยู่ราวๆ 1,000 แห่ง พื้นฐานของการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯนั้นที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในด้านการทหารเช่นนี้แหละ สำหรับการเสริมกันการประสานกันทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าหากมี มันก็มีอยู่น้อยที่สุด หรือกระทั่งเป็นไปในทางให้ผลลบต่อพวกพันธมิตรของสหรัฐฯด้วยซ้ำ เนื่องจากทรัมป์กำลังใช้ฐานะที่เหนือกว่าของอเมริกาในการบีบคั้นพวกเขาให้ต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมมากมาย สำหรับการเป็นเจ้าภาพต้อนรับกองทหารอเมริกันเข้าไปอยู่ในมาตุภูมิของพวกเขา
แต่ในส่วนของจีน แทนที่จะแสวงหาความเป็นพันธมิตรทางการทหาร พวกเขามุ่งเรียกหาการประสานงานร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ จำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) หลังจากที่เริ่มเปิดตัวกันเมื่อปี 2013 ในเวลานี้มี 65 ประเทศซึ่งมีประชากรรวมกันราว 4,400 ล้านคน ได้เข้าร่วมในข้อตกลงต่างๆ และโครงการต่างๆ กับประเทศจีนภายใต้ข้อริเริ่มนี้
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว จีนเสนอให้ความสนับสนุนทางการเงินและความช่วยเหลือต่างๆ ในการก่อสร้างโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โครงการที่ว่าพวกนี้อาจจะเป็น เส้นทางรถไฟ, เส้นทางถนนทางหลวง, โรงไฟฟ้า, ท่าเรือ และอื่นๆ ทำนองเดียวกัน สิ่งที่โครงการเหล่านี้มีอยู่ร่วมกันก็คือขนาดและขอบเขตของมันจะใหญ่โตเกินกว่าที่ประเทศหนึ่งๆ เดี่ยวๆ จะสามารถจัดการจะสามารถรับมือได้ และเมื่อโครงการสำเร็จเสร็จสิ้นแล้วก็จะสามารถเพิ่มพูนยกระดับเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้อย่างสำคัญ
บุคคลจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ เที่ยวป่าวร้องตักเตือนพวกประเทศโลกที่สามทั้งหลายว่า โครงการตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเช่นนี้มีความเป็นไปได้ที่จะซ่อนเอาไว้ด้วย “กับดักหนี้สิน” ปรากฏว่าการตอบสนองจากประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือ “คุณคิดว่าเราโง่เขลามากจนกระทั่งไม่รู้จักว่ากับดักหนี้สินเป็นยังไงเชียวหรือ?”
ตรงกันข้ามพวกเขามองเห็นว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศจีนได้ส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นออกมาจากความยากจนได้อย่างไร และพวกเขาก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้นบ้าง แน่นอนทีเดียวว่า มันไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในลักษณะที่ว่า ฝ่ายนักลงทุนชาวจีนที่กำลังให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการ BRI ทั้งหลายมีการศึกษาตรวจสอบจนมั่นอกมั่นใจว่าเงื่อนไขต่างๆ ของการให้ความสนับสนุนทางการเงินเหล่านี้มีความหนักแน่นมั่นคงสามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้อย่างชนิดไร้ปัญหา และก็ไม่ได้ทำให้พวกระแวงสงสัย BRI ขาดไร้เหตุผลที่จะนำเอามาพูดได้ทีหลังว่า เห็นมั้ย บอกแล้วไม่เชื่อ
อุซเบกิสถาน หนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่ได้รับการโจษขานในช่วงหลังๆ เมื่อตอนที่ อิสลาม คาริมอฟ (Islam Karimov) บุรุษเหล็กของอุซเบกิสถานถึงแก่อสัญกรรมในปี 2016 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาได้หันมาเน้นที่การเปิดประเทศให้แก่โลกภายนอก มีการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งมุ่งกำจัดการประพฤติปฏิบัติทุจริตคอร์รัปชั่น และมีการออกกฎหมายหลายๆ ฉบับเพื่อปกป้องการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (foreign direct investment)
ประเทศจีนชื่นชอบสิ่งที่พบเห็นในอุซเบกิสถาน ได้แก่ เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง, มีตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้คน 32 ล้านคน, มีกำลังแรงงานซึ่งมีความสามารถสูง, ประชากรราว 60% เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนมากกว่า 1,200 แห่งได้เข้าสู่อุซเบกิสถานเพื่อสร้างงานว่าจ้างคนหนุ่มสาว ในเวลาเดียวกัน จีนก็ได้กลายเป็นชาติผู้เข้าไปทำการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รายใหญ่ที่สุดของประเทศนั้นด้วยมูลประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จีนได้ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน ไปยังเมืองซีอาน เมืองใหญ่ทางภาคกลางของแดนมังกร เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวอุซเบกิสถานสามารถขายผลไม้สดไปยังจีน แทนที่ผลไม้ซึ่งก่อนหน้านั้นจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ตั้งแต่เดิมมาจนถึงเวลานี้ ผลไม้อุซเบกิสถานส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปรัสเซีย แต่ตอนนี้เกษตรกรที่นั่นมองเห็นว่าตลาดจีนมีศักยภาพที่อาจจะใหญ่กว่าตลาดรัสเซียถึง 10 เท่าตัว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=2YFdN7cw_cU)
เส้นทางรถไฟนี้ยังเป็นช่องทางส่งฝ้าย ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของอุซเบกิสถาน ไปยังโรงงานสิ่งทอต่างๆ ในจีน ในทางกลับกัน เพื่อปรับปรุงยกระดับคุณภาพการเกษตรของอุซเบกิสถาน จีนก็ได้จัดส่งทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร, เมล็ดพันธุ์, และเทคโนโลยี
เส้นทางสายไหมในยุคโบราณเคยตัดผ่านตลอดความยาวของดินแดนอุซเบกิสถาน และเมืองเก่าแก่แห่งต่างๆ ของประเทศนี้เป็นจุดหมายปลายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมายาวนาน โดยในเวลานี้ผู้มาเยือนจากประเทศจีนก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น การพูดการใช้ภาษาจีนกลางได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อที่จะได้ทำอาชีพเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว ได้กลายเป็นคอร์สวิชายอดนิยมสำหรับหนุ่มสาวชาวอุซเบกิสถานไปแล้ว
ด้วยความตระหนักในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเมืองประวัติศาสตร์อย่างซามาร์คันด์ (Samarakand) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.unesco.org/silkroad/content/samarkand) จีนได้จัดส่งคณะสถาปนิกและนักวางแผนเมืองคณะหนึ่งไปทำงานร่วมกับชาวอุซเบกิสถาน ทีมงานนี้ซึ่งได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ของจีน กำลังทำงานออกแบบเพื่อให้เมืองโบราณแห่งนี้มีเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอย่างสูงสุด, อนุรักษ์และสงวนรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าต่างๆ เอาไว้,ในขณะเดียวกับที่อำนวยความสะดวกให้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้อุซเบกิสถานมีความหมายโดดเด่นสำหรับปักกิ่ง ได้แก่สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันสำคัญยิ่งยวดของประเทศนี้ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างจีนกับรัสเซีย วัตถุประสงค์สำคัญหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางคือการเชื่อมโยงจีนเข้ากับรัสเซียและยุโรปตะวันตกผ่านทางรถไฟซึ่งจำเป็นต้องแล่นผ่านอุซเบกิสถาน
การที่คณะบริหารทรัมป์แสดงความเป็นศัตรู ได้ผลักดันให้รัสเซียกับจีนมีการประสานงานกันและความร่วมมือกันในระดับสูง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้พบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียถึง 30 ครั้งแล้วตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการรวม 9 ครั้งแล้วนับเฉพาะในปีนี้
ความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์จีน-รัสเซีย
ผู้นำทั้งสองเรียกความสัมพันธ์ของพวกเขาว่า คือความเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=W7lO7sGDZn8) คือความสัมพันธ์พิเศษ ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้กำลังนำเอาระบบอาวุธและระบบเตือนภัยต่อต้านขีปนาวุธอันก้าวหน้าของรัสเซีย มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับการที่จีนอัดฉีดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าไปช่วยรัสเซียชุบชีวิตพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนในอัตราเฉลี่ย 5,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ตัวอย่างเช่น เกรตวอลล์มอเตอร์ส (Great Wall Motors) ของจีน ลงทุนเป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อเนกประสงค์เทคโนโลยีทันสมัยยิ่ง ที่เมืองตูลา (Tula) ทางตอนใต้ของกรุงมอสโก เพื่อป้อนรถ “ฮาวัล” (Haval) ยอดนิยมของตน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.haval-global.com/) ให้แก่ตลาดรัสเซีย โรงงานแห่งนี้สามารถสร้างงานว่าจ้างแรงงานได้ 1,000 คน
หัวเว่ย ก็กำลังเข้าร่วมในการช่วยรัสเซียพัฒนาเครือข่ายสื่อสารโทรมคมนาคม 5จี โดยที่ฝ่ายหลังไม่ได้แสดงความวิตกกังวลว่าอาจเกิดการรั่วไหลถูกสอดแนมผ่านทางประตูหลัง ทว่ากลับมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า 5จี จะเป็นตัวกระตุ้นเพิ่มพลังอันสำคัญยิ่งยวดให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซีย
รัสเซียยังกำลังสนับสนุนจีนให้ช่วยเหลือพัฒนาเส้นทางการเดินเรือผ่านขั้วโลกเหนือในแถบอาร์กติก ในฐานะที่เป็นเส้นทางเดินเรือโดยตรงระหว่างจีนกับยุโรปตะวันตกซึ่งสามารถใช้เป็นทางเลือกได้อีกทางหนึ่ง และมันก็กลายเป็นหนึ่งในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางซึ่งได้รับความสนใจมากจากฝ่ายจีน เรื่องนี้เป็นความสนใจของฝ่ายรัสเซียเช่นเดียวกัน ทว่าพวกเขาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ จนทำให้ไม่สามารถเดินหน้าไปตามลำพังได้
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงทุกๆ แห่งในรัสเซีย ต่างมีสถาบันการศึกษาภายในประเทศจีนที่จับมือเป็นหุ้นส่วนกัน มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไปเรียนที่สถาบันของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อเรียนรู้ว่าแต่ละประเทศมีอะไรที่จะเสนอกันบ้าง ขณะเดียวกันก็มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการร่วมมือกันทำงานวิจัย
รัสเซียเสนอความเชี่ยวชาญของตนในด้านดนตรีคลาสสิกและคณิตศาสตร์ ขณะที่ฝ่ายจีนทำเช่นเดียวกันในด้านเทคโนโลยี และพวกเขาทำงานด้วยกันในโครงการต่างๆ ว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์
พวกนักศึกษารัสเซียค้นพบว่าการเรียนภาษาจีนเป็นความพยายามที่คุ้มค่าและกำลังได้รับความนิยม มันกลายเป็นทรัพย์สินในพอร์ตโฟลิโอของพวกเขาสำหรับเส้นทางอาชีพการงานที่เกี่ยวข้องกับจีนในอนาคต ทั้งนี้ปัจจุบันค่าจ้างเงินเดือนในจีนสูงเป็นสองเท่าหรือสามเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งงานใกล้เคียงกันในรัสเซีย
ถึงทางแยกที่อเมริกันต้องเลือก
จีนกับรัสเซียยังมีสิ่งร่วมกันอีกอย่างหนึ่งในเรื่องนโยบายการต่างประเทศ พวกเขาไม่ได้พยายามที่จะบอกกล่าวบงการประเทศอื่นๆ ในเรื่องวิธีการที่ประเทศทั้งหลายควรใช้เพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลของพวกตน
การเดินหน้าผลักดันการแยกสหรัฐฯกับจีนให้ขาดออกจากกันไปจนกระทั่งถึงขั้นสุดโต่ง เราก็จะได้เห็นโลก 2 โลกที่แตกต่างกันอย่างมากๆ พวกที่จะวางตัวได้อย่างลำบากยากยิ่งได้แก่ประเทศทั้งหลายซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยกำลังทหารอเมริกันมาทำให้พวกเขามีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย พวกเขาไม่มีทางทราบเลยว่าเมื่อใดลุงแซมจะส่งบิลเรียกเก็บเงินค่าบริการเพิ่มขึ้นอย่างสูงลิบลิ่วเฉกเช่นเดียวกับที่ทรัมป์กำลังกระทำกับเกาหลีใต้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถบอกได้เช่นเดียวกันว่าเมื่อใดที่สหรัฐอาจจะเรียกร้องให้เปิดเจรจาต่อรองกันใหม่เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงทางการทหารซึ่งได้ทำกันเอาไว้
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง จีนจะเป็นผู้นำของโลกที่อิงอาศัยอยู่กับความไว้วางใจกันและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยร่วมกันซึ่งมีที่มาจากการค้าและผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจอันแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เวลานี้จีนกำลังเป็นคู่ค้าชั้นนำของประเทศต่างๆ จำนวนมากกว่า 100 ประเทศแล้ว ผมก็ขอคาดการณ์ว่าอย่างน้อยที่สุดสามในสี่ส่วนของโลกทีเดียว จะมีความยินดีที่จะเข้าร่วมในเศรษฐกิจโลกที่บูรณาการเข้าด้วยกันโดยที่มีจีนเป็นผู้นำ
ประชาชนชาวอเมริกันกำลังอยู่ตรงทางแยกบนถนนสายนี้ ประธานาธิบดีของพวกเขาได้เลือกที่จะเอายุทธศาสตร์ว่าด้วยจีนของเขาไปวางเอาไว้ที่นาวาร์โร ซึ่งวาทกรรมอันผิดๆ พลาดๆ ของเขาทำให้วาระส่วนตัวของเขาเองกลายเป็นสิ่งที่อยู่เหนือผลประโยชน์แห่งชาติ แน่นอนทีเดียวว่าเส้นทางสายนั้นจะนำสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะโดดเดี่ยว และขจัดลดทอนลู่ทางอนาคตทั้งหลายของความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ
หรือไม่เช่นนั้น พวกเขาควรจะยินดีหันมารับฟังถ้อยคำของพวกผู้สังเกตการณ์ที่เฉลียวฉลาดกว้างไกลกว่านักหนา พวกอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลและรัฐบุรุษซึ่งไม่ได้เสนอแนะให้ตัดขาดยุติการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศจีน? เควิน รัดด์ และ โจเซฟ ไน (Joseph Nye) เป็นเพียง 2 คนของตัวอย่างจำนวนมากมาย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว รัดด์เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ส่วน ไน มีเกียรติประวัติอันโดดเด่นในการทำงานภาครัฐบาล และก็เป็นอดีตคณบดีวิทยาลัยรัฐประศาสนศาสตร์เคนเนดี (Kennedy School of Government) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในการให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ ไนกล่าวว่า “ผมคิดว่าจุดสำคัญที่จะต้องตระหนักรับทราบความเป็นจริงกันก็คือ จีนไม่ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของสหรัฐฯเหมือนกับที่ฮิตเลอร์เคยเป็น หรือเหมือนกับที่สตาลินเคยเป็น จีนไม่ได้กำลังพยายามที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงระบบอเมริกันจริงๆ หรอก"
ขั้นตอนแรกสำหรับการหวนกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง ก็คือ ทรัมป์จะต้องแยกขาดออกจากนาวาร์โร
หมายเหตุผู้แปล
[1] ประวัติคร่าวๆ ของ ปีเตอร์ นาวาร์โร วิกีพีเดียกล่าวไว้ดังนี้:
ปีเตอร์ เคนต์ นาวาร์โร (เกิด 15 กรกฎาคม 1949) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งตามชื่ออย่างเป็นทางการว่า ผู้ช่วยประธานาธิบดี (Assistant to the President) และผู้อำนวยการนโยบายการค้าและอุตสาหกรรมการผลิต (Director of Trade and Manufacturing Policy) ตอนแรกทีเดียวเขาอยู่ในตำแหน่ง รองผู้ช่วยประธานาธิบดี (Deputy Assistant to the President) และผู้อำนวยการสภาการค้าแห่งชาติทำเนียบขาว (White House National Trade Council) --หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ในฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จวบจนกระทั่งถูกนำมารวมอยู่ในสำนักงานการค้าและนโยบายอุตสาหกรรมการผลิต บทบาทใหม่ที่ให้ได้ตามคำสั่งฝ่ายบริหารลงวันที่ 29 เมษายน 2017
นาวาร์โร เป็นศาสตราจารย์เกียติคุณทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ที่ วิทยาลัยธุรกิจ พอล เมอราจ (Paul Merage School of Business) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์
เขาเป็นผู้เขียนหนังสือหรือเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือสิบกว่าเล่ม รวมทั้งเรื่อง Death by China เขายังมีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการตีพิมพ์ทางวารสารซึ่งให้ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการเดียวกันอ่านและวิจารณ์ก่อน โดยเป็นผลงานด้านนโยบายพลังงาน, การกุศล, การตัดลดกฎระเบียบ, และเศรษฐศาสตร์ของการเก็บขยะ
ทัศนะความคิดเห็นของนาวาร์โรในเรื่องการค้านั้น ที่สำคัญแล้วเป็นสิ่งที่อยู่นอกกระแสหลักของแนวความคิดทางเศรษฐกิจ เขาเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันให้ลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ นาวาร์โรยังเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักวิพากษ์วิจารณ์เยอรมนีและจีน และกล่าวหาทั้งสองชาติว่าเป็นผู้ปั่นค่าเงินตรา เขาเรียกร้องให้เพิ่มขนาดของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกัน, จัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงขึ้น, และ “นำเอาสายโซ่อุปทานโลกกลับมาสู่สหรัฐฯ” เขายังคงเป็นผู้คัดค้านอย่างแข็งขันใน ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา), และความตกลงหุ้นส่วนภูมิภาคแปซิฟิก (ทีพีพี) เขากับ วิลเบอร์ รอสส์ ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ในคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ร่วมกันพัฒนาแผนการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทรัมป์ในการใช้รณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Navarro)
[2] กรณีรอน วารา วิกีพีเดียพูดเอาไว้ดังนี้:
เกี่ยวกับ กรณี รอน วารา
ในหนังสือ 6 เล่มที่พูดเรื่องเกี่ยวกับจีนของเขา นาวาร์โรได้อ้างอิง “รอน วารา” ซึ่งเขาบรรยายว่าเป็นสายเหยี่ยวทางด้านจีนคนหนึ่ง และเป็นอดีตนักศึกษาปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยที่ รอน วารา ตามที่นาวาร์โรอ้างถึงนั้น เที่ยวพูดสิ่งงี่เง่าแสดงความเกลียดกลัวจีนทั้งที่เกี่ยวกับประเทศจีนและที่เกี่ยวกับคนจีน
จากการสืบสวนโดย โครนิเคิล ออฟ ไฮเออร์ เอดูเคชั่น (Chronicle of Higher Education) หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่มุ่งเสนอข่าวและข้อมูลข่าวสารในแวดวงมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ พบว่า ตัวละครตัวนี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และ รอน วารา (ซึ่งมาจากการปรับแปลงชื่อของตัวนาวาร์โรเอง) ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนทัศนะต่างๆ ที่ตัวนาวาร์โรเองยึดถือ ต่อมานาวาร์โรก็ยอมรับว่าได้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาและได้อ้างอิงสิ่งที่อ้างว่าเป็นคำพูดของรอน วารา เอาไว้ในหนังสือของเขา นักเศรษฐศาสตร์ เกลนน์ ฮับบาร์ด (Glenn Hubbard) ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง Seeds of Destruction กับนาวาร์โร ออกมาแถลงว่าเขาไม่ได้ทราบเลยว่า วารา เป็นตัวละครที่แต่งขึ้น และตัวเขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Navarro)