รอยเตอร์ - คณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ในกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสัปดาห์หน้า ตามการเปิดเผยของประธานคณะกรรมาธิการจากพรรคเดโมแครตในวันพุธ(6พ.ย.)
อดัม ชิฟฟ์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่าวิลเลียม เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครน และ จอร์จ เคนท์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะเข้าให้ปากคำในวันที่ 13 พฤศจิกายน ส่วน มารี โยวาโนวิตช์ อดีตเอกอัครราชทูตสรัฐฯประจำยูเครน จะเข้าให้ปากคำในวันที่ 15 พฤศจิกายน
ชิฟฟ์ บอกด้วยว่ารายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการเผยแพร่ออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ทูตทั้ง 3 คนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงของสหรัฐฯที่มอบแด่ยูเครน ซึ่งเกิดขึ้นโดยบังเอิญประจวบเหมาะกับการที่เคียฟประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะดำเนินการสืบสวน โจ โบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และคู่แข่งทางการเมืองของทรัมป์ ตามเสียงเรียกร้องของผู้นำอเมริกา
ในการทำประชาพิจารณ์ที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ จะเป็นภาพพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกำลังให้ปากคำในสภาคองเกรส เกี่ยวกับคำกล่าวหาทรัมป์ละเมิดกฎหมายหรือกระทำความผิดที่อาจถูกถอนถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งมันอาจพาดพิงไปยังประเด็นอื่นๆอย่างเช่นเศรษฐกิจและคนเข้าเมือง ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเริ่มหันเหความสนใจไปที่ศึกเลือกตั้ง 2020 ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้ากันแล้ว
การทำประชาพิจารณ์อาจก่อความเสียหายแก่ทรัมป์ แต่พวกผู้สนับสนุนของเขาบางส่วนเชื่อว่าที่จริงแล้วความพยายามถอดถอนอาจเพิ่มโอกาสให้ทรัมป์ได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่ด้วยซ้ำ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในปัจจุบัน
พรรคเดโมแครตเชื่อว่าพวกเขามีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะเดินหน้าทำประชาพิจารณ์ในกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปฐมบทของการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการหรือที่เรียกว่า "บทบัญญัติการถอดถอน(Article of Impeachment)" และดึงชะตากรรมของประธานาธิบดีรายนี้เข้าสู่การโหวตในรัฐสภาต่อไป
ทั้งนี้หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเห็นชอบบทบัญญัติแห่งการถอดถอน มันจะถูกส่งต่อให้วุฒิสภาที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากเปิดพิจารณาว่าจะถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งหรือไม่ อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้เหล่าส.ว.ของรีพับลิกันแทบไม่มีทีท่าอยากถอดถอนประธานาธิบดรรายนี้เลยแม้แต่น้อย