เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีเฮติ แจ็ก กีย์ ลาฟองแต็งต์ (Jack Guy Lafontant) ลาออกจากตำแหน่งวันเสาร์ (14 ก.ค) เกิดขึ้นท่ามกลางการก่อการจลาจลจากเหตุขึ้นราคาน้ำมันตามแผนข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับ IMF ล่าสุดประธานาธิบดีเฮติชี้กำลังอยู่ระหว่างสรรหาผู้นำรัฐบาลคนใหม่
NPR สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (15 ก.ค.) ว่า ประธานาธิบดีเฮติ โจเวเนล มอยส์ (Jovenel Moise) แถลงผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขายอมรับหนังสือลาออกจากนายกรัฐมนตรีเฮติ แจ็ก กีย์ ลาฟองแต็งต์ (Jack Guy Lafontant) และคณะครม.ของเขาแล้ว
ในแถลงการณ์ยังระบุต่อว่า ในเวลานี้มอยส์อยู่ในระหว่างการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ลาฟองแต็งต์เป็นอดีตนายแพทย์ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในต้นปี 2017 ต้องลาออกไม่นานหลังจากนั้นก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจในตัวเขาซึ่งอาจนำมาสู่การที่จะทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งในที่สุด
NPR ชี้ว่า มีรายงานที่ไม่ตรงกันถึงจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุจลาจลเนื่องมาจากปัญหาการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลเฮติ ที่มีตัวเลขตั้งแต่ 2 ราย 3 ราย ไปจนถึง 7 ราย เกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งบรรดาผู้ประท้วงต่างพากันปิดถนน เผายางรถยนต์ และปล้นสะดมร้านค้า
เหตุเกิดเมื่อรัฐบาลของลาฟองแต็งต์ประกาศขึ้นราคาน้ำมันเมื่อวันที่ 6 ก.ค โดยกำหนกให้แก๊สโซลีนถูกปรับขึ้น 38% น้ำมันดีเซล 47% และน้ำมันก๊าด 51%
แต่ทว่า ลาฟองแต็งต์เกิดกลับลำประกาศยกเลิกการขึ้นราคาหลังจากเกิดการประท้วงไปทั่ว พร้อมกับยืนยันว่า รัฐบาลของเขาประณามในความรุนแรงและการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ
สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า นโยบายการขึ้นราคาน้ำมันของรัฐบาลเฮติเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทำไว้กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ที่ทางสถาบันการเงินมักจะตั้งเงื่อนไขในการที่ประเทศที่รับการช่วยเหลือต้องทำการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางรัฐบาลของลาฟองแต็งต์ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับ IMF ในต้นปีนี้ในการที่จะได้รับเงินกู้และความช่วยเหลืออื่นๆ จำนวน 96 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ไมอามี เฮอรัลด์
หนังสือพิมพ์รัฐฟลอริดาชี้ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเฮติปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากกลุ่มภาคธุรกิจและฝ่ายตรงข้ามให้เขาลาออก โดยกลุ่มเหล่านี้อ้างว่าเป็นการจัดการอย่างผิดพลาดในการขึ้นราคาน้ำมันระดับตัวเลข 2 หลัก ที่ออกประกาศมาทันทีโดยไม่ได้ให้สาธารณะเตรียมใจ
ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลเฮติต้องอุ้มราคาน้ำมันในประเทศ โดยธนาคารโลกได้กล่าวไว้ในรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า 20% ของกลุ่มประชาชนชาเฮติที่ร่ำรวยที่สุดได้รับการช่วยเหลือ 93% ของการอุดหนุนทั้งหมด และเฮติได้ใช้ไป 2.2% ของตัวเลขจีดีพีในการอุดหนุนเมื่อปี 2014
แต่ทว่าการประกาศปรับเพิ่มราคาน่ำมันแบบก้าวกระโดดกลายเป็นสิ่งที่เกินกว่าจะรับได้สำหรับคนจำนวนมากในเฮติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนมากที่สุดในโลก ซึ่งทางธนาคารโลกชี้ว่า ประชากรส่วนใหญ่ ราว 59% มีรายได้น้อยกว่า 2.41 ดอลลาร์/วัน
ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี (12) ทาง IMF ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ทางสถาบันการเงินจะยังคงสนับสนุนในแนวทางให้มีการยกเลิกการให้เงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงอย่างเด็ดขาด แต่แนะนำให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกคำเตือนพลเมืองสหรัฐฯ “ห้ามการเดินทาง” ไปยังเฮติเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลถึงความไม่สงบในประเทศที่เกิดจากการประท้วงจนกลายเป็นเหตุจลาจล