เอเอฟพี - รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีส่อแววง่อนแง่น เมื่อ ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและผู้นำพรรคน้องสายอนุรักษนิยมจากรัฐบาวาเรีย ประกาศจะลาออกจากทุกตำแหน่งเมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) หลังพยายามกดดันให้ผู้นำหญิงเมืองเบียร์ปรับนโยบายรับผู้ลี้ภัยเข้าสู่ยุโรปและเยอรมนีแต่ไม่สำเร็จ
แหล่งข่าวเผยว่า ซีโฮเฟอร์ ได้แจ้งต่อบรรดาผู้นำพรรค คริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) ระหว่างการประชุมแบบปิดลับที่นครมิวนิกว่า ตนจะสละทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เนื่องจาก “ไม่ได้รับการสนับสนุน”
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมการประชุมระบุว่า อเล็กซานเดอร์ โดบรินต์ ผู้นำกลุ่ม ส.ส.CSU ในสภาบุนเดสถัก “ไม่เต็มใจรับการลาออกของ ซีโฮเฟอร์”
ความคลุมเครือที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มไม่มั่นใจอนาคตของรัฐบาลผสมแมร์เคิล ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพันธมิตร คริสเตียน เดโมแครติก ยูเนียน (CDU) กับ CSU ซึ่งเป็นพรรคน้องจากรัฐบาวาเรีย และพรรคกลาง-ซ้าย โซเชียล เดโมแครติก ปาร์ตี (SPD)
ทั้งนี้หาก ซีโฮเฟอร์ ตัดสินใจลาออกจริง พรรค CSU อาจเสนอชื่อบุคคลอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ หากยังต้องการที่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป หรือไม่ก็ประกาศแยกทางกับ CDU ซึ่งจะทำให้รัฐบาล แมร์เคิล เสียเสียงส่วนใหญ่ในสภา และฉุดเยอรมนีเข้าสู่วิกฤตการเมืองอีกครั้ง
ในสถานการณ์เช่นนั้น แมร์เคิลอาจพยายามตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยจับขั้วกับพรรคกรีนส์ หรือไม่ก็พรรคฟรีเดโมแครตส์ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจ หรือไม่ก็เปิดการลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อกรุยทางสู่การเลือกตั้งใหม่
ขณะเดียวกันทางฝ่าย CDU ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะประนีประนอมกับ CSU ซึ่งเรียกร้องให้ลดจำนวนการรับผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป หรือไม่รัฐบาลเมืองเบียร์ก็ต้องหันมาใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพื่อสกัดการไหลเข้าของผู้อพยพ
การเผชิญหน้าเกิดขึ้นเมื่อ แมร์เคิลปฏิเสธเงื่อนไขสำคัญใน “มาสเตอร์แพลน” ความยาว 63 หน้ากระดาษของซีโฮเฟอร์ ซึ่งว่าด้วยการรับผู้ลี้ภัยและการเนรเทศ
ซีโฮเฟอร์ เรียกร้องสิทธิในการปฏิเสธรับผู้ลี้ภัยซึ่งผ่านการลงทะเบียนในประเทศอียูอื่นๆ ก่อนจะเดินทางมาถึงพรมแดนเยอรมนี โดยให้นำกฎการรับผู้ลี้ภัยของอียูที่เรียกว่า “ระเบียบดับลิน” (Dublin Regulation) มาบังคับใช้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แมร์เคิลเกรงว่าหากเยอรมนีใช้มาตรการคุมเข้มชายแดนฝ่ายเดียวอาจจะสร้างปรากฏการณ์โดมิโนไปทั่วสหภาพยุโรป บั่นทอน “ข้อตกลงเชงเก้น” ซึ่งเปิดให้พลเมืองอียูสามารถเดินทางระหว่างกันได้โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง รวมถึงเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจและเอกภาพทางการเมืองของอียู
แมร์เคิลยังอยู่ในสถานะที่ยากลำบาก เพราะต้องหาจุดยืนที่สมดุลระหว่างแนวทางของกลุ่ม CDU-CSU กับ SPD ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจำกัดจำนวนผู้ลี้ภัยเข้าสู่เยอรมนีและอียู
ก่อนหน้านี้ ซีโฮเฟอร์ยื่นคำขาดให้แมร์เคิลต้องหาทางออกเรื่องผู้ลี้ภัยที่สอดรับกับข้อเรียกร้องของเขาภายในเดือน ก.ค. ไม่เช่นนั้นก็จะเริ่มบังคับใช้แผนคุมเข้มพรมแดน ซึ่งเสี่ยงที่จะทำลายความเป็นพันธมิตรระหว่างทั้ง 2 พรรค เพราะเท่ากับบีบให้ แมร์เคิล ต้องปลดเขาออกจากรัฐมนตรีมหาดไทย
แมร์เคิลอ้างว่า เธอหาทางออกได้สำเร็จจากการประชุมซัมมิตผู้นำอียูที่บรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) โดยได้บรรลุข้อตกลงว่าด้วยการส่งคืนผู้อพยพกับ 16 ชาติยุโรป
อย่างไรก็ตาม ซีโฮเฟอร์ไม่ยอมรับในแผนดังกล่าว ขณะที่พรรค CSU ย้ำว่ามาตรการภายในประเทศเพื่อสกัดการไหลเข้าของผู้ลี้ภัยยังคงเป็นสิ่งจำเป็น
พรรค CSU ไม่พอใจที่ แมร์เคิล ตัดสินใจเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยหลายแสนคนเข้าสู่เยอรมนีเมื่อปี 2015 และมองว่านโยบายนี้กำลังทำให้กลุ่มพันธมิตร CDU-CSU เอียงเข้าสู่สายกลางมากเกินไป ซึ่งทำให้ประชาชนที่เป็นฐานเสียงหันไปเทคะแนนหนุนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพ
กระแสนิยมขวาจัดที่มาแรงสร้างความวิตกกังวลต่อ CSU ซึ่งจะต้องลงสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐบาวาเรียช่วงเดือน ต.ค.นี้ โดยโพลล่าสุดพบว่า CSU เสี่ยงที่จะสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐบ้านเกิดตัวเอง
แหล่งข่าวในพรรค CSU ระบุว่า พวกเขาจะพยายามเจรจาต่อรองในนาทีสุดท้ายกับแมร์เคิล อีกครั้งในวันนี้ (2) ขณะที่ ซีโฮเฟอร์ ประกาศจะลาออกแน่หากไม่ได้ข้อตกลงที่น่าพอใจ