เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ล่าสุดหลังการหารือเครียดนานหลายชั่วโมงระหว่างผู้นำหญิงเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล และฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี และผู้นำพรรค CSU ร่วมรัฐบาลวันจันทร์ (2 ก.ค.) พบซีโฮเฟอร์ยอมรับข้อเสนอการควบคุมพรมแดน ที่มีจุดประสงค์ป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้อพยพจากพรมแดนออสเตรีย ส่งผลทำให้ยืดอายุรัฐบาลผสมเยอรมนีออกไปได้อีกระยะ
เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ...หลังจากผ่านการเจรจาอย่างหนัก อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมันแถลงในค่ำวันจันทร์ (2) และชี้ว่าเกี่ยวข้องกับการตั้งศูนย์รับผู้อพยพที่จะดำเนินตามกระบวนการอยู่ในนั้นบริเวณใกล้พรมแดนเยอรมัน
DW สื่อเยอรมนีเปิดเผยว่า แมร์เคิลผู้นำพรรค CDU และซีโฮเฟอร์หัวหน้าพรรค CSU ได้พบหารือกันที่สำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีเยอรมนี วูล์ฟกัง ชาโบล ซึ่งเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย
“พวกเราประสบความสำเร็จหลังจากที่ผ่านการเจรจาอย่างยากลำบาก” ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี และผู้นำพรรค CSU กล่าวยอมรับ และย้ำว่าเขามีความตั้งใจที่จะยังคงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปหลังจากก่อนหน้าได้ออกมาขู่ที่จะลาออกก็ตาม
โดยสื่อเยอรมนีชี้ว่า ทั้งนี้ในวันอาทิตย์ (1) ฮอร์สต์ ซีโฮเฟอร์ เสนอการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมัน และในฐานะหัวหน้าพรรค CSU โดยซีโฮเฟอร์กล่าวหาแมร์เคิลว่า ล้มเหลวในการทำตามข้อเรียกร้องของทางพรรคของเขาในการควบคุมพรมแดนในการประชุมซัมมิตสหภาพยุโรปล่าสุด
และซีโฮเฟอร์แถลงเพิ่มเติมว่า “ในเวลานี้พวกเรามีข้อตกลงที่ชัดเจนถึงการป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมายข้ามพรมแดนออสเตรีย-เยอรมันเข้ามาในอนาคต”
ในตอนท้าย รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี หัวหน้าพรรค CSU ประจำแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นพรรคน้องของพรรค CDU ของแมร์เคิลกล่าวว่าจะมีการเปิดเผยในรายละเอียดถึงเรื่องนี้ออกมาในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีชี้ว่าข้อตกลงการควบคุมพรมแดนยังคงต้องได้รับการเห็นชอบจากพรรคพันธมิตรร่วมอื่นคือ พรรคกลางซ้าย พรรคโซเชียล เดโมแครตส์ เพื่อทำให้ข้อตกลงที่ว่ากลายเป็นนโยบายของรัฐบาล
ทั้งนี้ ในการตกลงในวันจันทร์ (2) พบว่าทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบให้ตั้งศูนย์ทรานซิต หรือศูนย์ส่งต่อ ที่คล้ายกับที่มีภายในสนามบินขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทางเจ้าหน้าที่เยอรมนีสามารถดำเนินการเกี่ยวกับใบคำร้องขอสถานกภาพลี้ภัยได้เร็วมากขึ้น และในกรณีที่ผู้ร้องขอถูกปฏิเสธจะมีการส่งคืนตัวกลุ่มผู้อพยพเหล่านี้กลับไปยังประเทศอียูต้นทางหากว่าประเทศเหล่านั้นตกลง