xs
xsm
sm
md
lg

'วุฒิสภาUS'คว่ำ การประนีประนอมระหว่าง 'ทรัมป์' กับ 'สี' กรณีช่วยเหลือบริษัทZTE

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สเปงเกลอร์


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A neocon Senate coup against Trump’s foreign policy?
By Spengler
19/06/2018

พวกปรปักษ์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯในวุฒิสภา มีจุดมุ่งหมายที่จะล้มคว่ำการประนีประนอมที่ต้องใช้ความพากเพียงเอาใจใส่อย่างสูงกว่าจะเกิดขึ้นมาได้ ระหว่างทรัมป์กับจีนในเรื่องของ แซดทีอี ยักษ์ใหญ่กิจการสื่อสารโทรคมนาคมของแดนมังกร

เส้นอันสดใสเรืองรองที่แบ่งแยกนโยบายการต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาจากของประดาประธานาธิบดีอเมริกันคนก่อนหน้าเขา ก็คือ คำถามในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศอื่นๆ (regime change) ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่การพังทลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในปี 1989 จนกระทั่งถึงการจากไปของคณะบริหารบารัค โอบามา ชนชั้นนำทางด้านนโยบายการต่างประเทศของอเมริกันล้วนแล้วแต่ต้อนรับเห็นดีเห็นงามกับสมมุติฐานว่าด้วย “จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (the “end of history” premise) ซึ่งมองว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะเข้าแทนที่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทั้งหลายทั้งปวงที่ตกทอดมาแต่อดีตสมัย และดังนั้นเป้าหมายแห่งนโยบายการต่างประเทศของอเมริกันก็คือการเร่งรัดก้าวเดินแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้นี้ให้เคลื่อนตัวรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทว่าทรัมป์นั้นตรงกันข้ามเลย เขาหยิกยกผลประโยชน์ของอเมริกันขึ้นมาเป็นอันดับแรก และพร้อมจะทำข้อตกลงซึ่งเป็นการเสริมสร้างฐานะของระบอบการปกครองเผด็จการไม่ว่าจะเป็นจีน, รัสเซีย, หรือเกาหลีเหนือ ถ้าหากผลลัพธ์ออกมาว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่อเมริกา

มาถึงเวลานี้ พวกปรปักษ์ของทรัมป์ในพรรครีพับลิกัน --กลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ซึ่งรวมถึง วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน (John McCain) พรรครีพับลิกันจากรัฐแอริโซนา, วุฒิสมาชิกมาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) พรรครีพับลิกัน จากรัฐฟลอริดา, และ ลินด์ซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) พรรครีพับลิกัน จากรัฐเซาท์แคโรไลนา-- เพิ่งจะดำเนินการก่อกวนบ่อนทำลายครั้งใหญ่ ในรูปของร่างกฎหมายซึ่งจะล้มคว่ำการประนีประนอมที่ต้องใช้ความพากเพียรเอาใจใส่อย่างสูงกว่าจะเกิดขึ้นมาได้ ระหว่างทรัมป์กับจีนในเรื่องของ แซดทีอี (ZTE) ยักษ์ใหญ่กิจการสื่อสารโทรคมนาคมของแดนมังกร

การทูตของอเมริกันประสบผลสำเร็จอันงดงามระดับเป็นการสร้างหลักหมายใหม่หลักหมายหนึ่งขึ้นมาทีเดียว ในการประชุมซัมมิตที่สิงคโปร์ระหว่างทรัมป์กับคิม จองอึน ด้วยการยื่นข้อเสนอต่อผู้นำเกาหลีเหนือที่น่ารังเกียจผู้นี้ว่า เขาจะได้รับฐานะความถูกต้องชอบธรรม และลู่ทางความหวังที่ระบอบการปกครองของเขาจะสามารถดำเนินต่อเนื่องได้ต่อไป หากยินยอมแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเขา

สไตล์การเจรจาต่อรองแบบที่ประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้เขียนเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “Art of the Deal” ของเขานั้น มีส่วนมีอิทธิพลก่อให้เกิดผลลัพธ์อันสร้างสรรค์เช่นนี้ขึ้นมา ไม่เท่ากับการดำเนินการทางการทูตแบบเก่าๆ ภายใต้การนำชี้อย่างชำนิชำนาญของรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเปโอ อันได้แก่ การปรึกษาหารือกับเหล่าพันธมิตร, การพบปะแลกเปลี่ยนกับอีกฝ่ายหนึ่งแบบลับๆ ผ่านทางประตูหลัง, และการยื่นข้อเสนอซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถยอมรับได้ เป็นต้น เว็บไซต์เอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ข้อเขียนของ ยูน ยังควาน (Yoon Young-Kwan) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.atimes.com/article/getting-to-yes-with-kim-jong-un/) ซึ่งเสนอแนะคู่มือแนวทางสำหรับการได้คำตอบตกลงจากเปียงยาง และที่ปรึกษาผู้หนึ่งของรัฐมนตรีพอมเพโอได้บอกกับผมว่า ความเข้าใจอันลึกซึ้งจากเกาหลีใต้นั้น ได้ถูกนำเอามารวมอยู่ในแผนการริเริ่มของฝ่ายอเมริกันด้วย

ข้อตกลงเรื่องเกาหลีนี้ยังเกี่ยวข้องพัวพันกับการยื่นหมูยื่นแมวอย่างเงียบๆ ระหว่างสหรัฐฯกับจีนในเรื่องบางอย่างบางประการอีกด้วย เรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งได้แก่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกโรงเข้าแทรกแซงยุ่งเกี่ยวด้วยตนเอง เพื่อให้มีการเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯที่ออกมาเมื่อปลายเดือนเมษายนซึ่งห้ามบริษัทอเมริกันขายชิปให้แก่ แซดทีอี บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนในกิจการด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษที่แซดทีอีละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรอิหร่านและเกาหลีเหนือ เครื่องโทรศัพท์มือถือของแซดทีอีนั้นใช้ชิปจากบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) ของอเมริกา และการห้ามปรามไม่ขายชิปให้จะทำให้แซดทีอีถึงขั้นจะต้องปิดกิจการ

ด้วยการริเริ่มชี้นำของประธานาธิบดีทรัมป์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจึงหันมาเจรจาต่อรองและได้ข้อตกลงใหม่ว่า แซดทีอียินยอมจ่ายค่าปรับจำนวนรวม 1,900 ล้านดอลลาร์, ยอมเปลี่ยนตัวคณะผู้บริหารของบริษัท, และยอมแต่งตั้งคนอเมริกันเข้าไปเป็นผู้ควบคุมตรวจสอบว่าการดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ นี่ต้องถือเป็นบทลงโทษที่หนักหน่วง และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยสำหรับการที่คนอเมริกันได้เข้าควบคุมเหนือการดำเนินงานของบริษัทจีนเช่นนี้ ทว่ามันเป็นดีลที่ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถยอมรับได้

แต่เวลานี้วุฒิสภาสหรัฐฯได้หาทางบ่อนทำลายข้อตกลงเรื่องแซดทีอีของทรัมป์ ด้วยการเพิ่มมาตราว่าด้วยการห้ามขายชิปสหรัฐฯให้แซดทีอี เอาไว้ในรัฐบัญญัติให้อำนาจการใช้จ่ายงบประมาณการป้องกันประเทศ (national defense authorization act) –ถึงแม้รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในคณะบริหารทรัมป์ พยายามล็อบบี้อย่างเข้มข้นจริงจังเพื่อไม่ให้สภาสูงทำเช่นนั้น

เรื่องราวการก่อกบฎคราวนี้ ในส่วนของพวกวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันนั้น เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดย มาร์โค รูบิโอ ที่เป็นรีพับลิกันผู้คัดค้านทรัมป์คนสำคัญ โดยเขากล่าวข่มขู่ว่าจะผ่านกฎหมายที่หยุดยั้งการประนีประนอมนี้ของทรัมป์ ชนิดที่จะได้เสียงข้างมากอย่างขาดลอยเกินสองในสาม ซึ่งสามารถ “ป้องกันการวีโต้ของประธานาธิบดี” ได้ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.cnbc.com/video/2018/05/22/marco-rubio-china-zte-trump.html) พวกคัดค้านทรัมป์คนอื่นๆ ในวุฒิสภาได้แสดงการหนุนหลังการเพิ่มมาตราดังกล่าวเข้าไปในกฎหมายนี้ เช่นเดียวกับพวกวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตเกือบทั้งหมด

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ผู้ที่เคยสนับสนุนทรัมป์ในวุฒิสภามายาวอย่างนานบางคน เป็นต้นว่า วุฒิสมาชิก ทอม คอตทอน (Tom Cotton) พรรครีพับลิกัน จากรัฐอาร์คันซอ ก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษนิยมใหม่ในคราวนี้ด้วย เว็บไซต์ TheHill.com รายงานข่าวโดยอ้างอิงว่าวุฒิสมาชิกคอตทอนได้พูดไว้ในวันจันทร์ (18 มิ.ย.) ว่า “รัฐมนตรีพาณิชย์ได้เสนอบทลงโทษซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้วก็คือการสั่งประหารพวกเขา (แซดทีอี) พวกเขาหวนกลับมาและยื่นข้อเสนอแบบอ่อนข้อยินยอมอย่างมากๆ … ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการยอมติดคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีสิทธิยื่นขอให้ปล่อยตัวโดยมีการคุมประพฤติ … (แต่) ผมและวุฒิสมาชิกคนอื่นๆ ทุกๆ คนเชื่อว่า การลงโทษประหารคือบทลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://thehill.com/homenews/senate/392571-senate-braces-for-trump-showdown-over-chinese-telecom-giant?userid=245665)

รูบิโอ (ซึ่งทรัมป์เคยเรียกอย่างเย้ยหยันดูหมิ่นว่า “ลิตเติล มาร์โค” “Little Marco”) ได้ลงสนามชิงชัยเพื่อเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันแข่งขันกับทรัมป์เมื่อปี 2016 ด้วย ในฐานะที่เป็นแคนดิเดตกึ่งทางการของพวกอนุรักษนิยมใหม่ โดยที่ได้รับการหนุนหลังจากนิตยสาร วีกลี่ สแตนดาร์ด (Weekly Standard) ของ บิลล์ คริสโตล (Bill Kristol) รูบิโอยังคงเป็นพวกนักอุดมคติฝันเฟื่องที่คิดว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ คือการโค่นล้มพวกระบอบการปกครองเผด็จการทั้งหลาย และแทนที่ด้วยระบอบประชาธิปไตย

เราสามารถที่จะมองเห็นแรงจูงใจของรูบิโอได้อย่างแจ่มกระจ่าง จากการตอบโต้กันระหว่างเขากับรัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอ ตอนที่พอมเพโอไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 12 เมษายน ในกระบวนการขอให้สภาสูงลงมติรับรองเขาเข้าดำรงตำแหน่ง จึงขอนำเอามาเสนอในที่นี้ ดังนี้:

รูบิโอ: “ในบรรดาภัยคุกคามหลักทั้ง 5 อย่างที่กำลังเผชิญหน้าสหรัฐฯอยู่ --ได้แก่ จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, และพวกนักรบญิฮาดหัวรุนแรง-- พวกเขาทั้งหมดต่างมีสิ่งร่วมกันอย่างหนึ่งเป็นเสมือนสายใยที่เรียงร้อยพวกมันเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ลัทธิเผด็จการรวบอำนาจ คุณเห็นด้วยไหมครับว่า ในทุกวันนี้ แนวรอยเลื่อนใหญ่ (major fault line) ในกิจการโลกนั้นยังคงซ้ำๆ ซากๆ อยู่ที่การแข่งขันกัน --จริงๆ แล้วมันเป็นการแข่งขันกันในระดับโลกทีเดียว ระหว่างพวกระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ กับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย –ซึ่งในหลายๆ ทางแล้ว (การแข่งขันนี้) ได้มีการแสดงตัวออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ในกิจการต่างประเทศของประเทศนี้ และก็ในประเด็นปัญหาระดับโลกทั้งหลาย?”

พอมเพโอ: “ท่านวุฒิสมาชิกครับ มันเป็นเรื่องการสอดคล้องต้องกันอย่างโดดเด่นสะดุดตาทีเดียว ที่ว่าพวกประเทศซึ่งมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกอย่างเดียวกับเรา และเชิดชูค่านิยมทางประชาธิปไตยอย่างเดียวกับเรานั้น ไม่ได้เป็นเผด็จการ ส่วนพวกที่ไม่ได้มีไม่ได้เชิดชูอย่างเดียวกับเรานั้น ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย”

รูบิโอ: ในทำนองเดียวกันนี้ คุณคงจะเห็นพ้องอีกครั้งหนึ่งว่า การส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องสวยงามที่จะทำ หรือเป็นแค่เรื่องดีๆ ที่จะทำ หรือการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าไปยุ่มย่ามในกิจการของคนอื่นๆ หรือเข้าไปรุกรานอธิปไตยของพวกเขา ดังนั้นมันจึงเป็นอะไรยิ่งกว่าเพียงแค่เป็นความจำเป็นในเชิงศีลธรรมประการหนึ่งเท่านั้น การส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยนั้นเมื่อพิจารณาในบริบทของการแข่งขันอย่างที่เราเพิ่งพูดคุยกันเมื่อกี้ การส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตยคือสิ่งที่อยู่ในผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯทีเดียว ใช่ไหมครับ?

มีที่ปรึกษาบางคนของทรัมป์เชื่อว่า การทำให้ แซดทีอี ต้องปิดกิจการ จะสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบการปกครองสี จิ้นผิง “ผมต้องการทำให้แซดทีอีต้องปิดกิจการ เพื่อทำให้พวกนายช่างวิศวกร 75,000 คนที่ต้องตกงาน ออกมาเดินขบวนคัดค้านรัฐบาลในปักกิ่ง” อดีตเจ้าหน้าที่คณะบริหารคนหนึ่งพูดให้ผมฟัง ขณะเดียวกัน พวกบุคคลผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ ในหมู่ “บัณฑิต” นักอนุรักษนิยมใหม่ ตัวอย่างเช่น กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) ผู้ที่เคยทำนายทายทักมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจีนกำลังจะล่มสลายแล้ว ก็กำลังตั้งข้อหาทรัมป์ว่า แหลกละเอียดกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปเลยเมื่อเผชิญกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของฝ่ายจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/gordongchang/status/1004710597684948992)

แต่ความคิดที่ว่าการกระทำการเพื่อเล่นงานแซดทีอี หรือการปฏิบัติการทางนโยบายใดๆ ก็ตามทีของอเมริกัน สามารถที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลจีนนั้น แท้ที่จริงแล้วคือ อาการหลงผิด

กระนั้น มันก็แฝงฝังแน่นหนาเข้าไปในความคิดของชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศไปเสียแล้ว อย่างที่ ศาสตราจารย์ เหวินฟาง ถัง (Wenfang Tang) แห่งมหาวิทยาลัยไอโอวา (University of Iowa) อธิบายเอาไว้ในบทความที่มีความสำคัญมากซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร “The Journal of American Affairs” (วารสารกิจการอเมริกัน) ว่า “นับตั้งแต่ที่ระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ในกลุ่มโซเวียตพากันล้มครืนต่อๆ กันเหมือนตัวโดมิโน ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 โลกก็คอยเฝ้ารอว่าจีนจะล้มตามไปเมื่อใด เอาเข้าจริงแล้ว การล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนบางทีอาจจะหมายความถึงการสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงของประวัติศาสตร์ได้ทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงขนาดของประเทศนี้ แต่ว่าหลังจากเวลาผ่านพ้นไปร่วมๆ 30 ปี ประวัติศาสตร์ก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง แต่รัฐบาลเผด็จการนี้ยังคงเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ” ถังเสนอแนะเหตุผลข้อโต้แย้งบางประการที่ชวนเชื่อถือทีเดียว เกี่ยวกับความหยุ่นตัวของระบอบการปกครองในประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://americanaffairsjournal.org/2018/02/surprise-authoritarian-resilience-china/)

เสียงคร่ำครวญโวยวายในหมู่ชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศที่ว่า ทรัมป์เป็นคนหยาบและไร้ความประณีตละเอียดอ่อนนั้น มีส่วนประกอบอันดื้อรั้นของสัจธรรมอยู่ประการหนึ่ง กล่าวคือ ต้องเป็นผู้ที่มีความประณีตละเอียดอ่อนทางด้านปัญญาอย่างมากมายมหาศาลเท่านั้นแหละ จึงจะสามารถบอกให้ตัวเองเชื่อได้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกันนั้นเป็นยาครอบจักรวาลแก้ได้สารพัดโรค สำหรับปัญหาทางการเมืองทั้งหลายของโลก และเป็นเป้าหมายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับความก้าวหน้าของมนุษย์ พวกชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศนั้นไม่ได้โง่เขลาเลย เพียงแต่เป็นพวกวิกลจริตเท่านั้น

ทั้งทำเนียบขาวและพวกพันธมิตรในวุฒิสภาของทรัมป์ ต่างเตือนแล้วว่าความริเริ่มของสภาสูงในการเล่นงานแซดทีอีเช่นนี้ จะเกิดผลกลายเป็นการยื้อแย่งอำนาจควบคุมนโยบายการต่างประเทศไปจากทำเนียบขาว วุฒิสมาชิกเดวิด เพอร์ดิว (David Perdue) พรรครีพับลิกัน จากรัฐจอร์เจีย ได้พยายามและประสบความล้มเหลวในการเสนอให้ปลดลูกระเบิดแซดทีอีนี้ออกไปจากร่างรัฐบัญญัติจัดสรรงบประมาณกลาโหมฉบับนี้ โดยที่เขาประกาศว่า “เป้าหมายของผม … คือการทำให้มั่นใจว่าอเมริกาจะเป็นสถานที่ดีที่สุดของโลกสำหรับทำธุรกิจ และเรายังคงสามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆ ในโลก นี่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าเรามัดมือของผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเรา ในช่วงเวลาที่กำลังมีการเจรจาต่อรองทางการค้าอันสำคัญยิ่งยวด” (ในสหรัฐฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็คือประธานาธิบดี -ผู้แปล)

ถ้าวุฒิสภาผ่านร่างรัฐบัญญัติจัดสรรงบประมาณกลาโหมฉบับนี้โดยมีลูกบอมบ์แซดทีอีติดเอาไว้ด้วย และทรัมป์ไม่สามารถที่จะตัดออกไปโดยอาศัยอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดีหรือด้วยวิธีการอื่นๆ แล้ว ปักกิ่งก็จะมีข้อสรุปว่าประธานาธิบดีผู้นี้ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯอีกต่อไป แล้วจีนก็จะใช้วิธีเผชิญหน้ากับศัตรูผู้ซึ่งไม่ได้ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายนี้หรือนโยบายนั้นอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น หากแต่ต้องการที่จะบ่อนทำลายระบอบการปกครองของแดนมังกร การตอบโต้อย่างแรกสุดของจีน จะเป็นการระดมทรัพยากรทั้งหลายทั้งปวงของประเทศชาติเข้ามา เพื่อทำให้จีนบรรลุถึงอิสรภาพในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นำเอาชิปที่ผลิตทดแทนขึ้นภายในประเทศ เข้าแทนที่ชิปนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่า 220,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในเวลานี้

แทนที่จะเป็นสงครามตอบโต้ขึ้นภาษีศุลกากรเข้าใส่กัน พิภพของเราจะเผชิญกับการที่สายโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chain) ถูกก่อกวนขัดขวางจนวุ่นวาย, ความคลาดเคลื่อนอย่างใหญ่โตในการค้าขายด้านไฮเทค, ราคาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตื่นตระหนก, และการหวนกลับไปใช้นโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจจำนวนหนึ่งซึ่งเน้นหนักเรื่องการพึ่งตนเอง ผลลัพธ์ก็คือจะเกิดความน่าเกลียดน่าชังต่างๆ ขึ้นมาเมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจ และมันจะทำให้เกิดความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้นในทุกหนทุกแห่งของโลก ยากนักหนาที่จะขบคิดจินตนาการได้ว่า ยังจะมีการริเริ่มทางนโยบายของอเมริกันอันไหนอีกซึ่งโง่เขลาเบาปัญญญายิ่งเสียกว่าความพยายามของอเมริกันในการส่งออกประชาธิปไตยไปยังอิรัก แต่ว่าเรื่องนี้แหละจะถูกจารึกเอาไว้ว่าเป็นเรื่องงี่เง่าที่สุดเท่าที่อเมริกาเคยกระทำมา

สเปงเกลอร์ เป็นนามปากกาของคอลัมนิสต์ผู้โด่งดังของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในปัจจุบันมีการเปิดเผยแล้วว่า ตัวจริงของคอลัมนิสต์ผู้นี้คือ เดวิด พี. โกลด์แมน (David P. Goldman)

หมายเหตุผู้แปล

เอเชียไทมส์ยังมีรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่พูดถึงเรื่องวุฒิสภาสหรัฐฯรื้อฟื้นคำสั่งเล่นงานแซดทีอีขึ้นมาใหม่ โดยมีรายละเอียดหลายประการเพิ่มเติมขึ้นมา จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:


หุ้น ZTE ดิ่งลงเหว หลังวุฒิสภาสหรัฐฯลงมติคว่ำการลดโทษของ 'ทรัมป์'
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.amazon.com)

ZTE shares plunge after Senate votes to veto Trump reprieve
By Asia Times staff
19/06/2018

หุ้นของแซดทีอีทรุดหนัก จนมูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีนรายนี้หายวับไปแล้ว 7,000 ล้านดอลลาร์ สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสภาสหรัฐฯ ทำให้กลับเป็นที่สงสัยขึ้นมาใหม่ว่าบริษัทจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่

แซดทีอี ดูเหมือนกำลังต้องกลับเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์เครื่องกู้ชีพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯพยายามสกัดกั้นความพยายามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต้องการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่บริษัทเทเลคอมจีนที่กำลังอยู่ในภาวะอัมพาตรายนี้

บรรดาวุฒิสมาชิกอเมริกาลงคะแนนเสียงให้กลับรื้อฟื้นคำสั่งห้ามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เป็นการปิดทางไม่ให้ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนรายนี้สามารถซื้อหาชิ้นส่วนอะไหล่และซอฟต์แวร์อเมริกัน สืบเนื่องจากล่วงละเมิดมาตรการที่สหรัฐฯแซงก์ชั่นอิหร่านและเกาหลีเหนือ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theverge.com/2018/6/18/17477170/zte-ban-senate-vote-reinstate)

ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการตัดสินของวุฒิสภาคราวนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ เนื่องจากยังจะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จากนั้นก็จะต้องไม่ถูกประธานาธิบดีใช้อำนาจวีโต้ แต่กระนั้นตลาดการเงินก็แสดงปฏิกิริยาในทันทีต่อข่าวนี้

ที่ตลาดฮ่องกง หุ้นของแซดทีอี ดิ่งเหวลงมา 24% จนอยู่ที่หุ้นละ 10.02 ดอลลาร์ฮ่องกง (1.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ)ในช่วงต้นๆ ของการซื้อขายวันอังคาร (19 มิ.ย.) อันเป็นการหล่นฮวบลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบระยะเวลาเกือบ 2 ปี ขณะที่ในตลาดเซินเจิ้น ราคาหุ้นตัวนี้ตกวูบลงสู่ขีดจำกัดของตลาดที่ให้ขึ้นลงได้วันละไม่เกิน 10%

นับตั้งแต่เปิดให้ซื้อขายกันใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แซดทีอีได้สูญเสียมูลค่าตลาดของตนไปแล้ว 38% หรือคิดเป็นตัวเงินก็จะมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การรื้อฟื้นคำสั่งห้ามบริษัทอเมริกันขายชิปและชิ้นส่วนอื่นๆ แก่แซดทีอีคราวนี้ ถูกบรรจุเอาไว้เป็นมาตราหนึ่งในร่างรัฐบัญญัติการใช้จ่ายงบประมาณการป้องกันประเทศ (National Defense Authorization Act) ประจำปี และในคืนวันจันทร์ (18 มิ.ย.) วุฒิสภาสหรัฐฯลงมติผ่านกฎหมายฉบับนี้ด้วยคะแนน 85 ต่อ 10 ทำให้กลุ่มบริษัทรัฐวิสาหกิจของแดนมังกรแห่งนี้กลับเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสในการจัดหาสายโซ่อุปทาน (supply chain) ของบริษัท

แต่ก่อนที่จะกลายเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ ร่างรัฐบัญญัติของวุฒิสภานี้ จะต้องถูกนำไปปรับให้กลายเป็นฉบับเดียวกันกับอีกร่างหนึ่งซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วโดยที่ไม่ได้มีบทแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องแซดทีอีนี้ หากว่าทั้งสองสภามีการประนีประนอมกันอย่างไรแล้ว ก็จะต้องผ่านการลงมติรับรองของทั้งสองสภา จากนั้นจึงจะส่งต่อไปให้ทรัมป์ลงนาม

วุฒิสมาชิกที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรื้อฟื้นการลงโทษแซดทีอีกคราวนี้ ได้แก่ มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) และ ทอม คอตทอน (Tom Cotton) แห่งพรรครีพับลกัน ตลอดจนสมาชิกสภาสูงจากพรรคเดโมแครตอย่าง ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) และ คริส แวน ฮอลเลน (Chris Van Hollen) ได้ออกคำแถลงร่วมกล่าวว่า “พวกเรารู้สึกมีกำลังใจจากการที่ทั้งสองพรรคได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังพิทักษ์คุ้มครองตำแหน่งงานของชาวอเมริกัน และความมั่นคงแห่งชาติจักต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกเมื่อมีการทำดีลกับพวกประเทศเฉกเช่นจีน ซึ่งมีประวัติที่จะไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่เรื่องเหล่านี้

“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่เพื่อนร่วมงานของเราในสภาผู้แทนราษฎร จะต้องคงมาตรานี้ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองพรรคเอาไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อมีการนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมของทั้งสองสภา” คำแถลงร่วมฉบับนี้กล่าวต่อ

ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แซดทีอีถูกทางการสหรัฐฯออกคำสั่งห้ามเป็นเวลา 7 ปี หลังจากละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับสหรัฐฯ ในเรื่องลงโทษพวกผู้บริหารของบริษัทซึ่งสมคบกันละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นที่สหรัฐฯประกาศใช้ต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ

ต่อมาจากการรบเร้าเรียกร้องของทรัมป์ กลุ่มแซดทีอีซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น และกระทรวงพาณิชย์อเมริกันก็ได้ทำข้อตกลงฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งให้ยกเลิกคำสั่งห้าม หากแซดทีอียอมจ่ายค่าปรับจำนวนสูงลิ่ว รวมทั้งทำตามเงื่อนไขข้อกำหนดอย่างอื่นๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทได้เสนอแผนการรีไฟแนนซ์มูลค่า 10,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในความเคลื่อนไหวที่มุ่งสร้างธุรกิจซึ่งเสียหายหนักของบริษัทขึ้นมาใหม่ ภายหลังซื้อหาชิ้นส่วนจากบริษัทอเมริกันไม่ได้ จนถูกบังคับให้ต้องปิดการดำเนินงานไปหลายส่วนในเดือนพฤษภาคม

แซดทีอีมีลูกจ้างพนักงานจำนวนกว่า 75,000 คน และดำเนินงานอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 ประเทศ โดยที่อุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทกลายเป็น “กระดูกสันหลังดิจิตอลของดินแดนใหญ่มหึมาส่วนหนึ่งของโลกกำลังพัฒนา”

ทั้งนี้บริษัทเป็นผู้ให้บริการแก่ยูสเซอร์จำนวน 100 ล้านรายในอินเดีย, 300 ล้านร้ายในอินโดนีเซีย, และ 29 ล้านรายในอิตาลี

แต่การถูกสหรัฐฯแบนเป็นการคุกคามถึงขั้นสามารถคร่าชีวิตแซดทีอีได้ทีเดียว เนื่องจากราว 30% ของชิ้นส่วนที่นำมาใช้ประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้นว่าเซมิคอนดักเตอร์ ได้มาจากซัปพลายเออร์อเมริกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น