เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียเรียกร้องในวันนี้ (11 มิ.ย.) ให้มีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ ทีพีพี) กันใหม่อีกครั้ง และร้องขอความคุ้มครองให้กับประเทศเล็กๆ ในการค้าระหว่างประเทศ
มาเลเซียร่วมกับอีก 10 ประเทศผลักดันข้อตกลงทีพีพีในเดือนมีนาคม ถึงแม้ว่าทรัมป์จะถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงการค้าหลายใหญ่ขนาดใหญ่นี้แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มหาเธร์ โมฮัมหมัด บอกกับที่ประชุมในกรุงโตเกียวว่า เขาไม่ชอบข้อตกลงนี้เอามากๆ
“เราต้องการให้มีการเจรจาทีพีพีใหม่” เขากล่าวในการปราศรัยต่อที่ประชุม Future of Asia
“เราต้องยอมรับ มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ประเทศเกิดใหม่ และประเทศที่เพิ่งจะเริ่มเติบโตเท่านั้น” เขากล่าว
“ประเทศเหล่านี้ต้องการสิทธิพิเศษ สิ่งที่คุ้มครองพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันกับประเทศการค้ายักษ์ใหญ่ ประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก”
เจ็ดประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิกลงนามข้อตกลงทีพีพีฉบับแก้ไขในเดือนมีนาคม เลือกที่จะรักษาข้อตกลงนี้หลังจากมันถูกทิ้งให้เป็นหมันเมื่อทรัมป์ถอนตัวเพื่อทำตามนโยบาย “อเมริกามาก่อน” ของเขา
หลังจากนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จุดชนวนความกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้าด้วยการออกมาตรการเพิ่มภาษีและประณามพฤติกรรมการค้าที่ไม่ยุติธรรม กระทั่งไม่ยอมรับแถลงการณ์ร่วมในการประชุมซัมมิทจี 7 เกี่ยวกับความไม่เห็นพ้องทางการค้า
ในระหว่างการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อเดือนที่แล้ว มหาเธร์ กล่าวว่า หลายประเทศอย่างมาเลเซียต้องการความช่วยเหลือในการค้าระหว่างประเทศ
“ประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันน้อยต้องได้รับค่าตอบแทนอันเหมาะสม มันคล้ายกับการตีกอล์ฟ คนที่อ่อนแอที่สุดจะได้รับแต้มต่อมากที่สุด นั่นจะทำให้การแข่งขันยุติธรรมมากขึ้น” เขากล่าว
ประเทศคู่สัญญาทีพีพีมีสัดส่วนเท่ากับ 13.5 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลกและเป็นตลาดของประชากร 500 ล้านคน
ข้อตกลงนี้ถูกผลักดันโดยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งในวิธีการตอบโต้อิทธิพลทางการค้าของจีน
ข้อตกลงนี้ปรับลดภาษีและกำหนดให้สมาชิดปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมขั้นสูงในด้านต่างๆ กฎหมายแรงงานและการปกป้องสิ่งแวดล้อม