รอยเตอร์ - กองบัญชาการภาคแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ (PACOM) ได้รับการขนานนามใหม่เป็นกองบัญชาการภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-PACOM) เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.) ถือเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงถึงความสำคัญและการขยายบทบาทของสหรัฐฯ เข้าไปยังมหาสมุทรอินเดีย
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นระหว่างพิธีแต่งตั้ง พล.ร.อ.ฟิลิป เอส. เดวิดสัน ขึ้นเป็นผู้บัญชาการคนใหม่ของ Indo-PACOM แทนที่ พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้
“ความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค” เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลง
“เพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก วันนี้เราจึงขอเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิกเป็นกองบัญชาการสหรัฐฯ ภาคอินโด-แปซิฟิก”
กองบัญชาการภาคแปซิฟิกมีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมทางทหารของสหรัฐฯ ทั่วทั้งภูมิภาคแปซิฟิก และครอบคลุมไปถึงอินเดีย โดยมีทหารและพลเรือนอยู่ในสังกัดราวๆ 375,000 คน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เพียงแต่สะท้อนถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอินเดียในสายตาสหรัฐฯ และไม่ได้แปลว่าจะมีการส่งทรัพย์สินทางทหารของอเมริกาเข้าไปยังภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มเติมในทันที
เมื่อปี 2016 สหรัฐฯ และอินเดียได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากที่ดิน น่านฟ้า และฐานทัพเรือของกันและกันเพื่อการซ่อมบำรุงและเติมเสบียง ซึ่งถือเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านกลาโหมขึ้นไปอีกขั้นเพื่อตอบโต้การขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีน
สหรัฐฯ เป็นซัปพลายเออร์อันดับ 2 ที่จัดส่งอาวุธป้อนกองทัพภารตะเป็นมูลค่าถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และหวังที่จะรุกเข้าสู่ตลาดกลาโหมขนาดใหญ่ของอินเดียมากยิ่งขึ้น
แมตทิส พยายามวิ่งเต้นให้อินเดียได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ หลังจากที่ ทรัมป์ ได้ลงนามกฎหมายคว่ำบาตรประเทศใดๆ ก็ตามที่ติดต่อค้าขายกับหน่วยงานด้านกลาโหมหรือข่าวกรองของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว
“ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เรามีในศตวรรษที่ 21 และผมพร้อมที่จะสนับสนุนมันอย่างเต็มที่” เดวิดสัน ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน เม.ย. ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการ Indo-PACOM
อบราห์ม เดนมาร์ก อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายเอเชียตะวันออกในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา ชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการภาคแปซิฟิกเป็น Indo-PACOM “มีความหมายแค่ในเชิงสัญลักษณ์ และคงไม่ส่งผลอะไรมากนัก ตราบใดที่กองทัพสหรัฐฯ ยังไม่ริเริ่มหรือขยายการลงทุนที่สะท้อนถึงลู่ทางที่กว้างขวางขึ้น”