xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สเปนจ่อเลิกคุมการคลัง “กาตาลุญญา” แต่ยืนกรานห้ามทำประชามติแยกตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - รัฐบาลชุดใหม่ของสเปนประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมการคลังของแคว้นกาตาลุญญา เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ให้ “กลับคืนสู่ภาวะปกติ” แต่ยืนยันว่าการทำประชามติแยกตัวเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

อิซาเบล เซลา รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและโฆษกรัฐบาลสเปน ระบุวานนี้ (8 มิ.ย.) รัฐบาลกลาง “จะอนุญาตให้ฝ่ายบริหารแคว้นกาตาลุญญาสามารถเบิกจ่ายเงินจากธนาคารได้” โดยไม่ต้องขอการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาดริดภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย ได้เข้าควบคุมการเงินของแคว้นกาตาลุญญาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2017 เพื่อสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลท้องถิ่นนำเงินไปใช้จัดทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 1 ต.ค.

หลังจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นคาตาลันเพียงแต่ต้องจัดทำบัญชีรายจ่ายส่งให้รัฐบาลกลางรับทราบทุกเดือนเท่านั้น

นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ผู้นำคนใหม่ของสเปน ได้เปิดการประชุมคณะรัฐมนตรีหนแรก และหลังจากนี้ก็จะมีการพบปะกับผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นทั้ง 17 แคว้น รวมไปถึงประธานาธิบดี กิม โตร์รา (Quim Torra) ผู้นำชาตินิยมหัวรุนแรงของแคว้นกาตาลุญญาด้วย

กลุ่มเรียกร้องเอกราชแคว้นกาตาลุญญาได้จับมือกับพรรคเล็กๆ สนับสนุนมติไม่ไว้วางใจ ราฮอย จนเป็นเหตุให้เขาต้องพ้นจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยข้อหาคอร์รัปชัน และเปิดทางให้ ซานเชซ ซึ่งเป็นผู้นำพรรคโซเชียลลิสต์ก้าวขึ้นกุมบังเหียนแดนกระทิงดุ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า รัฐบาลมาดริดเต็มใจหรือไม่ที่จะหารือความเป็นไปได้ในการจัดประชามติแยกตัวอีกครั้งสำหรับแคว้นกาตาลุญญา โฆษกรัฐบาลก็ตอบทันทีว่า “ไม่มีทาง”

แหล่งข่าวในรัฐบาลสเปนเผยกับเอเอฟพีว่า นายกฯ ซานเชซ ได้หารือทางโทรศัพท์กับ โตร์รา เมื่อวันศุกร์ (8) โดยบทสนทนาเป็นไปอย่างชื่นมื่น และทั้งคู่ตกลงกันว่า “ควรจะมีการพบปะเร็วๆ นี้”

รัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟของ ราฮอย ได้สั่งยุบสภาคาตาลัน หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี คาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ แห่งแคว้นกาตาลุญญาได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ตามหลังการทำประชามติที่ศาลรัฐธรรมนูญสเปนสั่งแบน

ผลสำรวจล่าสุดพบว่า แม้ชาวคาตาลันจะยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับการแยกตัวเป็นเอกราช แต่ส่วนใหญ่ต้องการให้จัดทำประชามติอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อหาข้อยุติ

ปุยจ์เดมองต์ ซึ่งกำลังลุ้นว่าจะถูกทางการเยอรมนีส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่สเปนหรือไม่ ดูเหมือนจะมีท่าทีอ่อนลงเล็กน้อย โดยให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุคาตาลัน Rac1 เมื่อวานนี้ (8) ว่า “การลงประชามติคือการแสดงออกซึ่งสิทธิของประชาชนชาวกาตาลุญญาที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง แต่หากรัฐบาลสเปนเชื่อว่าสิทธิข้อนี้สามารถแสดงออกด้วยวิธีอื่นได้ เราก็พร้อมที่จะรับฟัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น