เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์---สืบเนื่องจากจีนได้จัดตั้งระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม “Credit China” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ประกาศรายชื่อผู้ถูกขึ้นบัญชีดำ “ไร้ความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรง” 169 ราย แล้ว โดยผู้ถูกขึ้นบัญชีดำเหล่านี้ จะถูกห้ามโดยสารเครื่องบินและรถไฟ เนื่องจากความผิดตั้งแต่การไม่ชำระจ่ายหนี้ตามกำหนด ไปถึงแสดงพฤติกรรมแย่ๆขณะโดยสารเครื่องบิน อาทิ พยายามนำไฟแช็คขึ้นเครื่องบิน
ระบบความน่าเชื่อถือทางสังคม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission ชื่อย่อ NDRC) ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลทั่วประเทศ เพื่อจัดแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของพลเมืองทั่วไป นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีผลต่อบุคคลทุกด้าน ทั้งการอนุมัติเงินกู้ และการโดยสารเครื่องบิน
สำหรับกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีดำ 169 รายนี้ ถูกห้ามซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน และรถไฟเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากความผิดต่างๆนานา ทั้งการก่อกวนความสงบเป็นระเบียบบนเครื่องบิน พยายามนำไฟแช็คผ่านด่านตรวจสอบความปลอดภัยในสนามบิน สูบบุหรี่บนรถไฟความเร็วสูง การหลีกเลี่ยงภาษี และเบี้ยวจ่ายค่าปรับ
เจ้าหน้าที่ในปักกิ่งเปิดเผยว่า ในช่วงทดลองระบบเครดิตทางสังคมปีแรกๆนั้น มีประชาชนนับล้านๆคน ถูกห้ามโดยสารเครื่องบิน รวมทั้งสิ้นมากกว่า 11 ล้านเที่ยวบิน และถูกห้ามโดยสารรถไฟราว 4 ล้านเที่ยว
การเผยรายชื่อ“ผู้ไร้ความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรง 169 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 มิ.ย.) นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศรายชื่อดังกล่าวสู่สาธารณะ นอกจากนี้ยังมีแผนอัพเดทรายชื่อผู้ถูกขึ้นบัญชีดำทุกเดือน และเปิดการประชาพิจารณ์ภายใน 7 วัน หลังจากยื่นรายชื่อดังกล่าว
ตัวอย่างบุคคลในกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีดำ คือ จยา เย่ถิง ผู้ก่อตั้งบริษัท LeEco ซึ่งทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี และจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซินเจิ้น จยาถูกขึ้นบัญชีดำเครดิตทางสังคมในเดือนธ.ค. ขณะอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากขัดคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ที่เรียกให้กลับมายังประเทศจีนเพื่อเคลียร์ปัญหาการเงินของบริษัทของเขา
เฝิง เหวินเจี๋ย อดีตผู้ดูแลการถือหุ้นของ Steyr Motors ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซินเจิ้น และ หวัง ฮุ่ย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ Huaze Cobalt และ Nickel Material ก็อยู่ในบัญชีดำฯด้วย
ระบบการแบ่งเกรดความน่าเชื่อถือของบุคคลนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และความกลัวว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างจีน จะจัดการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร ขณะนี้ระบบเครดิตทางสังคมยังอยู่ในช่วงการทดลอง และผู้ดำเนินการคือเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะดึงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล และแหล่งอื่นๆอย่างเช่น บริษัทจัดทำแอพฯชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งมีข้อมูลบุคคล และคำสั่งศาลฯ
จีนได้ขยายกฎฯดังกล่าวในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะสร้างระบบเครือข่ายทั่วประเทศ และรวมศูนย์ ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่เข้าทางในปี 2020 (2563)
ในอดีต ผู้ที่เบี้ยวจ่ายหนี้ตามกำหนด ตกเป็นเป้าการติดตามของรัฐบาลเนื่องจากมีคำสั่งศาล และห้ามบุคคลดังกล่าวโดยสารเที่ยวบิน เป็นต้น แต่ขณะนี้ข้อมูลทำนองนี้มาจากหลายๆแหล่ง ทั้งจากหน่วยงานรัฐบาลในสังกัดท่าอากาศยาน ผู้ประกอบการรถไฟแห่งชาติ หน่วยงานจัดเก็บภาษี และผู้คุมกฎตลาดหลักทรัพย์
ในจีน มีฐานข้อมูลมหึมา ดั่งตาสับปะรด คอยจ้องมองคุณอยู่...และอาจกลายเป็น “ความท้าทายใหญ่ของตะวันตก”