เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - นโยบายการลดภาษีบริษัทเพื่อให้ตำแหน่งงานในสหรัฐฯ ยังคงมีดูเหมือนจะไม่จริง เพราะล่าสุดมีรายงานว่า บริษัทมอเตอร์ไซค์ชื่อดังของสหรัฐฯ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน พบว่าลอยแพคนงานสหรัฐฯ ร่วม 800 คน หลังปิดโรงงานในเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี และย้ายตำแหน่งงานไปไทย ซึ่งทางบริษัทได้สร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ขึ้นที่ จ.ระยอง พบสหภาพแรงงานฮาร์เลย์-เดวิดสันได้นำเรื่องเข้าร้องต่อผู้นำเสียงข้างน้อยสภาล่างสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตแล้ว
CNBC สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ว่า นโยบายการลดภาษีบริษัทของทรัมป์จาก 35% ลงเหลือ 21% ดูเหมือนจะไม่ประสบผลในการทำให้ตำแหน่งงานยังคงอยู่ในสหรัฐฯได้ต่อ
เพราะพบว่าเมื่อบริษัทมอเตอร์ไซค์ชื่อดังของสหรัฐฯ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน หลังจากได้รับประโยชน์จากนโยบายตัดลดภาษีเป็นที่เรียบร้อย ได้ประกาศปิดโรงงานในเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี ส่งผลทำให้พนักงานอเมริกันในโรงงานร่วม 800 ชีวิตต้องตกงานทันที และยังมีการประกาศแผนการรับซื้อหุ้นคืนมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ที่ในรายงานของ MSNBC พบว่ามีการเรียกซื้อหุ้นคืนร่วม 15 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 696 ล้านดอลลาร์
สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า ในรายงานของสื่อ ว็อกซ์(VOX) ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ที่มีฐานอยู่ในรัฐวิสคอนซิน แสดงให้เห็นถึงสภาพบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ นับตั้งแต่นโยบายลดภาษีของพรรครีพับลิกันถูกนำมาใช้ ที่พบว่าบริษัทและผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ในขณะที่พนักงานหรือลูกจ้างนั้นได้ประโยชน์น้อย หรือในกรณีของฮาร์เลย์-เดวิดสัน อาจเรียกได้ว่าเหมือนการถูกหักหลัง หรือการถูกซุ่มโจมตีจากบริษัทนายจ้าง
ทั้งนี้ ในรายงานของรอยเตอร์เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2017 บริษัท ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ประกาศแผนการที่จะสร้างโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นในประเทศไทย ที่ถือเป็นฮับของอุตหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของตลาดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยโรงงานแห่งนี้จะตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง รอยเตอร์ชี้ ซึ่งสื่อ CNBC รายงานว่า โรงงานประกอบรถของฮาร์เลย์-เดวิดสันจะสามารถเริ่มเดินหน้าสายการผลิตได้ภายในปีนี้
สาเหตุการที่มาสร้างโรงงานขึ้นในไทย รอยเตอร์กล่าวว่า ทางบริษัทต้องการเลี่ยงภาษีศุลกากรที่มีการถูกจัดเก็บสูงถึง 60% สำหรับรถมอเตอร์ไซค์นำเข้า และยังสามารถได้รับการไม่ถูกเก็บภาษีหรือถูกเรียกเก็บในอัตราที่ต่ำ (Tax Break) เมื่อส่งออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่เป็นสมาชิกอาเซียน
สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า แผนการประกาศปิดโรงงานในเมืองแคนซัสซิตีที่จะมีผลในปี 2019 เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาที่ทางฮาร์เลย์-เดวิดสันประสบปัญหากับยอดขายต่ำลงและต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น และทางบริษัทมีแผนที่จะควบรวมการประกอบการโรงงานการผลิตอื่นอีก 3 แห่ง
หนึ่งในพนักงานโรงงานฮาร์เลย์-เดวิดสันที่กำลังจะปิดตัว ริชาร์ด เพนซ์ (Richard Pence) ช่างเครื่องกลจากเมืองแคนซัสซิตี กล่าวเปิดใจเมื่อต้นเดือนนี้กับสื่อ มิลวอกี-เจอร์นัล เซนทิเนล (Milwaukee-Journal Sentinel) ว่า “บางส่วนของงานผมจะถูกส่งไปที่ยอร์ก (York) แต่ส่วนอื่นจะถูกย้ายไปที่กรุงเทพฯ”
และเดอะฮิล สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมายืนยันว่า ทางสหภาพแรงงานฮาร์เลย์-เดวิดสัน ออกมาประกาศว่า บริษัทกำลังจะส่งตำแหน่งงานของพวกเขาไปยังไทย หลังที่ได้ปิดโรงงานที่คนเหล่านี้ลง
ในรายงานของเดอะฮิล ทางสหภาพแรงงานได้ชี้ว่า ทางบริษัท ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ได้ลงทุนในไทยหลังจากบริษัทได้ประโยชน์จากการลดภาษีตามแผนนโยบายของรัฐบาลพรรครีพับลิกัน
“บริษัทพวกนี้ในมือหนึ่งได้ประโยชน์จากภาษีอัตราต่ำ และอีกมือได้ยื่นการ์ดสีชมพูไล่พนักงานออก” บ็อบ มาร์ติเนซ จูเนียร์ (Bob Martinez Jr.) ประธานสมาพันธ์นานาชาติช่างเครื่องกลและพนักงานอากาศยานแถลง
และกล่าวต่อว่า “สิ่งนี้ผมจะขอเรียกว่า เป็นการซุ่มโจมตีของบริษัทกับคนที่ทำงาน”
เดอะฮิลชี้ว่า สหภาพแรงงานฮาร์เลย์-เดวิดสันได้พบกับผู้นำเสียงข้างน้อยพรรคเดโมแครตประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโรซีภายในสัปดาห์ของการรายงานข่าวชิ้นนี้ (10 พ.ค)
ถึงแม้ว่าบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสจะออกมาขอร้องให้เปิดทำการโรงงานที่แคนซัสซิตีต่อไป เดอะฮิลชี้ว่า แต่เป็นคำขอที่ไร้ผลเพราะทางฮาร์เลย์-เดวิดสันได้ประกาศการตัดสินใจยุติ ส่งผลทำให้มีการสูญเสียตำแหน่งงานไปถึง 800 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ ทางบริษัทมอเตอร์ไซค์ยังประกาศแผนการเพิ่มงานอีก 400 ตำแหน่งด้วยการสร้างโรงงานขึ้นในยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย แต่ทว่าห่างออกไปร่วม 1,000 ไมล์จากเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรีที่คนงานเหล่านี้มีพื้นเพอยู่
ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นทางสหภาพได้อ้างว่า ***มีงานบางส่วนของพวกเขาถูกย้ายไปที่ประเทศไทย****
แต่อย่างไรก็ตาม เดอะฮิลชี้ว่า ฮาร์เลย์-เดวิดสันได้ออกมาปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างโรงงานเมืองแคนซัสซิตีและไทยผ่านทางแถลงการณ์ของบริษัทความว่า
“โรงงานที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในไทยนั้นถือเป็นส่วนที่แยกต่างหาก และไม่เกี่ยงข้องกับปัญหานี้ ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวของทางเรา คือ การทำให้ธุรกิจต่างแดนสามารถเติบโตได้ถึง 50% ของยอดประจำปีภายในปี 2027 ซึ่งฐานในประเทศไทยจะทำให้เรามีศักยภาพในการแข่งขัน และช่วยให้บรรดาผู้บริโภคนักขับสามารถเข้าถึงแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นในตลาดโลกที่มีการขยายตัว”
ในรายการออลอินของ คริสต์ เฮย์ (Christ Hayes) ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีเน็ตเวิร์ก MSNBC ซึ่งออกอากาศในช่วงค่ำวันอังคาร (22) ผู้ดำเนินรายการเฮยส์ได้สอบถามกับ ริค เพนซ์ พนักงานโรงงานฮาเลย์-เดวิดสันโดยเจาะจงไปที่โรงงานที่จะเปิดขึ้นในไทย
พนักงานโรงงานแคนซัสซิตีรายนี้ยืนยันว่า แผนการสร้างโรงงานในไทยได้ถูกประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา และในเวลานี้การก่อสร้างได้สมบูรณ์แล้ว และเชื่อว่าทางโรงงานในไทยจะสามารถเริ่มประกอบรถมอเตอร์ไซด์ได้ไม่นานหลังจากนี้
เป็นที่น่าสนใจว่า เพนซ์ พนักงานที่ให้สัมภาษณ์กับเฮยส์กล่าวยอมรับว่า มีพนักงานจากโรงงานแห่งนี้ถึง 40% ที่โหวตให้กับประธานาธิบดีทรัมป์ และต้องถึงกับส่ายหัวเมื่อต้องเจอกับสภาพการถูกเลิกจากหลังบริษัทได้รับอานิสงส์จากการได้รับการลดภาษี แต่นำเงินไปลงทุนที่อื่น ทำให้คนงานอเมริกันต้องตกงาน
ในรายการนี้ผู้จัด คริสต์ เฮยส์ ได้ถามเพนซ์ต่อว่า มีความคิดเห็นอย่างไรที่ทางบริษัทชี้แจงว่า ยอดขายตก และโรงงานในไทยจะทำการผลิตเพื่อส่งออกขายตลาดต่างประเทศ
ตัวแทนพนักงานตอบกลับมาว่า ที่โรงงานของพวกเขาได้ประกอบมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสันส่งออกตลาดต่างประเทศมานานร่วม 21 ปีแล้ว โดยพบว่า 35% ของการผลิตที่ได้จากโรงงานแห่งนี้จะถูกส่งไปยังตลาดนอกสหรัฐฯ อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์
ก่อนหน้า เพนซ์ได้ให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์ว่า เขาซึ่งทำหน้าในตำแหน่งประจำแผนกบำรุงเครื่องจักร (machine maintenance) ชี้ว่า จะมีวิศวกรจำนวนหนึ่งจากโรงงานแคนซัสซิตี เดินทางมาที่ไทยเพื่อช่วยติดตั้งระบบการปฏิบัติการ พร้อมกับการทดสอบสายพานการผลิตภายในหน้าร้อนนี้
และเขายังเชื่อว่า จะมีเครื่องจักรบางส่วนของโรงงานที่เขาทำงานอยู่จะถูกย้ายมาติดตั้งที่โรงงานในไทย ซึ่งตลาดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่ความเติบโตสูงของฮาร์เลย์-เดวิดสัน แต่ทว่าที่ผ่านมาทางบริษัทต้องต่อสู้กับปัญหาอัตราสุลกากรที่สูง ซึ่งเพนซ์กล่าวในเรื่องนี้อย่างเชื่อมั่นว่า “พวกเราต่อสู้เรื่องภาษีศุลกากรร่วมกันมาร่วม 21 ปีที่ได้ทำงานกับบริษัทแห่งนี้ แต่ทว่าภาษีศุลกากรนั้นถือเป็นความสัจจริงหนึ่งในชีวิต”
โดยเพนซ์กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อว่า “พวกเขา(บริษัท)สมควรที่จะลงทุนในอเมริกา” โดยรายการเมื่อค่ำวานนี้ (22) ทาง คริสต์ เฮยส์ ผู้จัดยังได้ถกประเด็นถึงอานิสงค์จากการที่บริษัทขนาดใหญ่ของอเมริกามีเงินเหลือเพิ่มขึ้นจากภาษีที่ถูกจ่ายน้อยลง และเงินจำนวนนี้บริษัทสามารถนำไปทำอย่างไรได้บ้าง เป็นต้นว่า นำไปเพื่อการลงทุน หรืออื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า ทางฮาร์เลย์-เดวิดสันชี้แจงว่า โรงงานประกอบมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยจะประกอบชิ้นส่วนของรถที่ถูกผลิตขึ้นภายในสหรัฐฯ