เอเจนซีส์ - รัฐบาลจีนมีการพูดคุยกับวานูอาตูเพื่อขอใช้พื้นที่ตั้งฐานทัพถาวรขึ้นในย่านแปซิฟิกใต้ ซึ่งอาจกระพือความตึงเครียดในภูมิภาค โดยเฉพาะกับออสเตรเลียซึ่งเป็นมหาอำนาจเจ้าถิ่น รายงานเผยวันนี้ (10 เม.ย.)
สำนักข่าวแฟร์แฟกซ์ของออสเตรเลียรายงานโดยไม่เปิดเผยแหล่งข่าวว่า จีนยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอใดๆ อย่างเป็นทางการ เพียงแต่พูดคุยในเบื้องต้นเกี่ยวกับการขอสร้างฐานทัพเต็มรูปแบบขึ้นในวานูอาตู
แฟร์แฟกซ์ เผยด้วยว่า การที่จีนมีแผนจะสร้างฐานทัพใกล้กับออสเตรเลียมากขนาดเช่นนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียเคยหารือระดับสูงกันมาบ้างแล้ว
จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย แถลงวันนี้ (10) ว่า เธอได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่วานูอาตูว่ายังไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการจากปักกิ่ง แต่ไม่ระบุว่ามีการพูดคุยคร่าวๆ เกิดขึ้นบ้างหรือไม่
“รัฐบาลวานูอาตูยืนยันว่าไม่มีข้อเสนอเช่นนั้น แต่ก็เป็นความจริงที่จีนได้ขยายกิจกรรมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไปทั่วโลก” บิชอป ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุเอบีซี
“ดิฉันเชื่อมั่นว่าออสเตรเลียยังเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่วานูอาตูเลือก”
แฟร์แฟกซ์ รายงานว่า จีนได้พูดคุยกับรัฐบาลวานูอาตูเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเบื้องต้นให้เรือจีนสามารถเข้าไปจอดเทียบท่าเพื่อเติมเชื้อเพลิงและเสบียง ก่อนจะขยับขยายไปสู่การเปิดฐานทัพเต็มรูปแบบ
แผนการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนต้องการที่จะสยายอิทธิพลทางทหารออกไปไกลยิ่งกว่ากิจกรรมในเอเชีย โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ซึ่งปักกิ่งได้เข้าไปถมทะเลสร้างหมู่เกาะเทียมที่มีทั้งท่าเรือและทางวิ่งเครื่องบิน
ล่าสุด ราล์ฟ เรเกนวานู รัฐมนตรีต่างประเทศวานูอาตู ได้ออกมาตอบโต้กระแสข่าวเรื่องฐานทัพจีนอย่างเผ็ดร้อนวันนี้ (10) โดยยืนยันกับสถานีวิทยุเอบีซีว่า “ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดในรัฐบาลวานูอาตูเคยพูดเรื่องการอนุญาตให้จีนเข้ามาตั้งฐานทัพ”
“เราเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่สนใจเรื่องการขยายอิทธิพลทางทหาร เราไม่คิดที่จะให้ใครมาเปิดฐานทัพทุกรูปแบบในประเทศของเรา”
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ หลายประเทศออกมากล่าวหาจีนว่าทำตัวเป็นพ่อบุญทุ่มขยายอิทธิพลสู่ย่านแปซิฟิกใต้ ซึ่งอาจทำให้มหาอำนาจเจ้าถิ่นอย่างออสเตรเลียถูกลดบทบาทลง
จีนเพิ่งจะเปิดตัวฐานทัพนอกประเทศแห่งแรกที่จิบูตีในเขตฮอร์นออฟแอฟริกาเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2017 โดยอ้างว่ามีไว้ใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งลำเลียง
ด้วยที่ตั้งของจิบูตีซึ่งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรอินเดียทำให้รัฐบาลเดลีกังวลว่า ฐานทัพแห่งนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” ซึ่งจีนเรียงร้อยทำข้อตกลงพันธมิตรและทรัพย์สินทางทหารกับประเทศรอบๆ อินเดีย รวมถึงบังกลาเทศ เมียนมา และศรีลังกา ที่ล้วนแต่มีปมขัดแย้งกับแดนภารตะ