xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ยกบทเรียนประวัติศาสตร์ “คลองคอคอดกระ สวรรค์หรือนรก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล(แฟ้มภาพ)
“ธีระชัย” ออกโรงกระตุกรัฐบาลอย่าริขุด “คลองคอขอดกระ” ตามแรงยุของมหาอำนาจ ยกบทเรียน “คลองสุเอซ” ของอียิปต์สอนใจ ย้ำที่ผ่านมาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิเสธความพยายามเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจในอดีตแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นมาแล้ว ชี้คนรุ่นหลังต้องศึกษาประวัติศาสตร์ให้รอบคอบ

วันนี้ (26 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “คลองคอคอดกระ” ได้อย่างน่าสนใจดังนี้

“คลองคอคอดกระ สวรรค์หรือนรก”

บทความและรูปในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การดำเนินการคลองคอคอดกระน่าสนใจมากครับ

บทความเล่ากลับไปถึงเรื่องคลองสุเอซ ซึ่งผู้ที่จุดประกายคือจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ แห่งฝรั่งเศส (ค.ศ.๑๗๖๙-๑๘๒๑) แต่กว่าจะสำเร็จก็สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ค.ศ. ๑๘๐๘-๗๓)

นายช่างใหญ่เจ้าของโครงการนี้ คือ นายเดอ เลสเซป (ดูรูป) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและขุดคลองเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ พิธีเปิดอลังการถึงขนาดอัครมเหสีของจักรพรรดินโปเลียนเสด็จเอง (ดูรูป) และได้ผลเป็นการลบเหลี่ยมของอังกฤษคู่ศัตรูอย่างหมดรูป เพราะเรือสินค้าอังกฤษต้องขออาศัยใช้คลองนี้อย่างสงบเสงี่ยม (ดูรูป)

มีชาวอังกฤษมาเสนอแนวคิดขุดคลองคอคอดกระแก่ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อจะเสริมแสนยานุภาพของอังกฤษ ผู้เขียนบทความระบุว่า “เดชะบุญที่ในระยะนั้นอังกฤษยังหาผู้ลงทุนไม่ได้ ทำให้แผนของอังกฤษชะงักไปชั่วคราว”

ต่อมาฝรั่งเศสได้เร่งรุกหนัก รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงอนุญาตให้ทีมงานฝรั่งเศสทำการสำรวจ คณะนี้ได้จัดทำแผนที่ฉบับ ค.ศ. ๑๘๘๑ (ดูรูป)

แต่รัชกาลที่ ๕ ทรงตระหนักว่าเป็นการแข่งกันระหว่างสองมหาอำนาจ ดังมีพระราชดำรัสว่า “ถ้ายอมให้ฝรั่งเศสขุดคลองกระ อังกฤษก็คงพาลชิงเอาหัวเมืองในแหลมมลายู หรือมิฉะนั้น ฝรั่งเศสก็พาลชิงเอาเป็นอาณาเขต จะอย่างไรไทยก็ไม่มีกำลังพอจะรบพุ่งป้องกันได้ มีทางที่จะรอดแต่อย่าให้ขุดคลองกระได้”

ดังนั้น เมื่อได้จังหวะ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงประกาศว่าไทยจะยุติโครงการนี้ แต่เพื่อให้หน้าฝรั่งเศส จึงได้ให้ฑูตไทยจัดงานเลี้ยงรับรองขึ้นที่สถานทูตประจำกรุงปารีส เชิญนายเดอ เลสเซป เพื่อพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ยุติโครงการลงโดยสันติวิธีใน พ.ศ. ๒๔๒๘ และไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกอีกเลยจนตลอดรัชกาล

ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม

คลองสุเอซประสบความสำเร็จมากกว่าที่คาดไว้มหาศาล ต้นทุนการขนส่งจากเอเซียไปยุโรปลดลงฮวบ ทำให้เป็นเป้าใหญ่ในสายตาของอังกฤษ โดยในช่วงแรก ถือโอกาสผ่านการเจรจาโดยนายแบงค์ชาวยิวตระกูลรอธไชล์ด เข้าไปซื้อหุ้นในส่วนของอียิปต์ก่อน

แต่หลังจากนั้น ก็เกิดความระส่ำระสายในการเมืองอียิปต์ ทำให้ผู้นำอียิปต์ต้องขอเชื้อเชิญให้กองทัพอังกฤษเข้ามาช่วยปราบกลุ่มกบฏ และปรากฏว่าอังกฤษประกาศปักหลักอยู่ในอียิปต์ไม่ยอมถอยกลับบ้าน ทำให้คลองสุเอซตกไปอยู่ในการควบคุมของอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕

เป็นอันว่าคลองสุเอซอยู่ในมือฝรั่งเศสเพียง ๑๓ ปี ก็ถูกยึดไปเรียบร้อยโรงเรียนอังกฤษ และใครจะบอกได้ว่า การที่มีกลุ่มกบฏเกิดขึ้นซึ่งเปิดประตูให้อังกฤษเข้าไปอียิปต์นั้น ไม่ใช่ผลงานลับของอังกฤษ

กว่าอียิปต์จะผลักดันอังกฤษออกไปจากคลองสุเอซได้นั้น ก็ต่อเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ อียิปต์ซึ่งต้องทนการมีคลองอยู่ในประเทศ แต่มีมหาอำนาจควบคุมมาตั้งแต่ขุดเสร็จ ก็สวมหัวใจสิงห์

ประธานาธิบดีนัสเซอร์ประกาศยึดคลองสุเอซคืนเป็นของประชาชน

โชคร้ายของอียิปต์ที่นัสเซอร์ก้าวไปไกลเกินตัว โดยประกาศปิดน่านน้ำไม่ให้เรือของอิสราเอลผ่านด้วย ทำให้เกิดสามประสาน อังกฤษ/ฝรั่งเศสซึ่งจ้องจะบุกเข้าพื้นที่อยู่แล้ว จึงอาศัยเรื่องนี้เป็นข้ออ้าง และจับมือกับอิสราเอลบุกเข้าอียิปต์อีกครั้งหนึ่ง

และโชคร้ายของอังกฤษ/ฝรั่งเศส ที่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สองประเทศนี้อ่อนแรง มีมหาอำนาจคู่แข่งใหม่เกิดขึ้น

นักเลงคุมโลกรายใหม่สองราย ชื่อว่า อเมริกาและโซเวียต แคนาดาซึ่งเป็นลูกไล่ของอเมริกาจึงฉวยโอกาส เสนอสหประชาขาติให้จัดทหารเข้ามาควบคุมคลองสุเอซแทนอังกฤษ/ฝรั่งเศส/อิสราเอล

โชคร้ายของอียิปต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะนัสเซอร์พยายามจะยึดคลองสุเอซกลับคืนมาเป็นครั้งที่สอง โดยในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศไล่ทหารสหประชาชาติออกไป แต่เจออิสราเอลบุกทำสงคราม ๖ วันเข้ายึดดินแดนไซนาย อียิปต์ต้องปิดคลองนานถึง ๘ ปี เมื่อเปิดคลองใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องกลับไปบริหารภายใต้ร่มของสหประชาชาติและอยู่ใต้จมูกของอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง

สุดท้าย กว่าอียิปต์จะได้เอกภาพในคลองสุเอซจริงก็คือปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ก็ต่อเมื่ออาศัยให้โซเวียตช่วยใช้สิทธิวีโต้อเมริกาในสหประชาชาติ

คลองสุเอซนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ดุลอำนาจทางทะเลที่สำคัญมาก ช่วงแรกระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และต่อมาช่วงหลังระหว่างอเมริกากับโซเวียต จึงหลุดออกไปจากมือของอียิปต์นับเวลานานถึง ๑๑๐ ปีหลังจากที่ขุดคลองสำเร็จ ทั้งที่อยู่ในประเทศของตัวเอง

และสถานการณ์อนาคต ในภาวะปัจจุบันที่ซาอุดิอาราเบียเปลี่ยนท่าทีต้องการเป็นเจ้าถิ่นตะวันออกกลางมากขึ้น คลองสุเอซก็อาจจะกลับมาเป็นหมากบนโต๊ะสงครามอีกครั้งหนึ่งเมื่อใดก็ได้

ย้อนกลับมาที่คลองกระ ถ้ามีการขุดกันจริง จะเป็นจุดยุทธศาสตร์ดุลอำนาจทางทะเลที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ที่เห็นแน่ๆ คือดุลระหว่างอเมริกากับจีน เพราะจีนมีทางออกทะเลเพียงทิศตะวันออกทิศเดียว และตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ในยุคที่อเมริกาเรืองอำนาจ อเมริกาได้วางฐานทัพเรือล้อมไว้ตั้งแต่เกาหลี ยาวลงมาถึงฟิลิปปินส์ และจับมือกับสิงค์โปร์คุมช่องแคบมะละกาอีกด้วย

สำหรับจีน ถ้าสามารถมีคลองกระที่สามารถรอดพ้นเงื้อมมืออเมริกาที่คุมช่องแคบมะละกาได้ ก็จะเปลี่ยนดุลอำนาจระหว่างจีนกับอเมริกา ยิ่งถ้าสามารถจับมือกับไทย หรือประเทศเอเซียใต้อื่นๆ ตั้งฐานทัพเรือแบบธรรมดา และฐานทัพเรือดำน้ำ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าที่ปากคลองกระฝั่งอันดามัน หรือที่ศรีลังกา หรือที่ปากีสถาน หรือที่ฝั่งอัฟริกาตะวันออก ก็จะเปลี่ยนดุลอำนาจไม่เฉพาะจีนกับอเมริกา แต่ระหว่างดุลจีนกับอินเดียด้วย

ดังนั้น จีนจึงน่าจะมีความสนใจคะยั้นคะยอให้ไทยขุดคลองกระมากขึ้นๆ โดยเอาผลประโยชน์ One belt - One road มาล่อใจ โดยพร้อมจะควักเงินลงทุนให้อย่างใจป้ำ

แต่ถ้าเกิดคลองกระขึ้นเมื่อไหร่ ผมเกรงว่าประวัติศาสตร์ของคลองสุเอซจะมาซ้ำรอยที่ประเทศไทย ซึ่งจะกลายเป็นสนามประลองกำลังระหว่างช้างสารของโลก แต่ทำให้หญ้าแพรกคนไทยต้องเดือดร้อน และถ้าอ่านประวัติศาสตร์คลองสุเอซละเอียด จะพบข้อมูลที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ประเทศที่เป็นหน้าฉากให้แก่โซเวียตในการเสนอญัตติต่อสหประชาชาติ ที่เปิดให้โซเวียตใช้สิทธิวีโต้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นั้น ก็คือซีเรีย

คลองสุเอซมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางทะเลของโซเวียตมาก เพราะฐานทัพเรือในทิศเหนือของโซเวียตเป็นน้ำแข็งเกือบทั้งปี ทางออกไปมหาสมุทรอัตลันติคต้องผ่านช่องแคบที่ตุรกี และทางออกไปมหาสมุทรอินเดียต้องผ่านคลองสุเอซ โซเวียตจึงพยายามสร้างอำนาจต่อรองในประเทศตะวันออกกลางมาตลอด และเห็นได้ชัดว่า เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในซีเรียมานานแล้ว

แต่นับเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาถึงปัจจุบัน ช่วงเวลาเพียงไม่ถึงสี่สิบปี การแทรกแซงการเมืองภายในซีเรีย ทั้งจากรัสเซีย และทั้งจากอเมริกา ได้ทำลายประเทศซีเรียแบบไม่เหลือหรอ ผมเองเสียดายไม่เคยไปเยือนซีเรียก่อนหน้า แต่มีรูปถ่ายจำนวนมากที่แสดงอาคารบ้านเรือนสวยงามในอดีต ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่กองวัสดุ และยังไม่สามารถนับจุดเริ่มต้นของการกอบกู้สถานการณ์ได้เลย

สาเหตุหนึ่งที่ซีเรียประสบหายนะ ก็สืบเนื่องจากการที่มหาอำนาจเข้าไปแทรกแซงประเทศโน้นประเทศนี้ที่รายล้อมคลองสุเอซ

ย้อนกลับมาเรื่องคลองกระ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ โดยแท้ ที่ทรงยุติโครงการเมื่อร้อยปีก่อนได้อย่างบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น มาถึงวันนี้ ชนรุ่นหลังควรจะศึกษาประวัติศาสตร์และพระราชดำริของท่านให้ถ่องแท้รอบคอบ

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจะมีความพยายามรื้อขุดคลองคอดกระกันอีกครั้ง โดยครั้งนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯได้ออกมาปฏิเสธ หลังจากเริ่มมีเสียงคัดค้าน แต่เขาได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มหนึ่งและแค่อยู่ในขั้นศึกษาและสอบถามความเห็นจากประชาชน”
ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ภาพประกอบจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ภาพประกอบจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม
ภาพประกอบจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น