รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเอ่ยเตือนรัฐบาลไต้หวันว่าจะต้องเผชิญ “โทษทัณฑ์ทางประวัติศาสตร์” (punishment of history) หากพยายามแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งนับเป็นคำเตือนที่แข็งกร้าวที่สุดที่ผู้นำจีนรายนี้เคยกล่าวมา
สถานะของไต้หวันนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดสำหรับจีนซึ่งถือว่าเกาะแห่งนี้เป็น “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” และไม่ปฏิเสธเรื่องการใช้กำลังทหารเพื่อรวมเกาะไต้หวันกลับคืนสู่การปกครองของจีนในอนาคต
จีนเริ่มใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อไต้หวันมากขึ้นหลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีของไช่ อิงเหวิน หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เมื่อปี 2016
ปักกิ่งระแวงว่า ไช่ จะผลักดันไต้หวันให้แยกตัวเป็นเอกราชจากจีนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะถือเป็นการ “ล้ำเส้น” ในสายตาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขณะที่ ไช่ เองยืนยันว่าต้องการคงไว้ซึ่งสถานะปัจจุบัน (status quo) และรักษาสันติภาพกับแผ่นดินใหญ่
จีนยังไม่พอใจอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามประกาศใช้กฎหมาย Taiwan Travel Act ซึ่งสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของวอชิงตันและไทเปมีการติดต่อสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น
สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ แต่มีข้อผูกพันทางกฎหมายให้ต้องช่วยเหลือไต้หวันในด้านการป้องกันประเทศ และยังเป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ให้กับไทเปด้วย
กฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาอำนาจตึงเครียดขึ้นไปอีก หลังจากที่ ทรัมป์ เพิ่งประกาศมาตรการรีดภาษีนำเข้า และยังกดดันจีนให้เร่งแก้ไขมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ ที่เกินดุลถึง 375,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะยังต้องการให้ปักกิ่งช่วยป้องปรามพฤติกรรมของเกาหลีเหนืออยู่ก็ตาม
ในการกล่าวสุนทรพจน์ปิดการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนประจำปีนี้ สี ยืนยันกับผู้แทนราว 3,000 คนว่า รัฐบาลจีนจะเดินหน้าผลักดัน “การรวบรวมมาตุภูมิอย่างสันติ” และส่งเสริมให้ชาวไต้หวันได้รับโอกาสจากการพัฒนาของจีนมากขึ้น
“มันคือความปรารถนาที่ชาวจีนทุกคนมีร่วมกัน และเป็นผลประโยชน์พื้นฐานของเราที่จะต้องปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และทำให้ดินแดนจีนรวมเป็นหนึ่งอย่างสมบูรณ์” สี กล่าว
“การกระทำหรือการใช้เล่ห์กลใดๆ ก็ตามเพื่อแยกจีนออกเป็นสองย่อมไม่มีวันสำเร็จ และจะต้องถูกประชาชนประณาม รวมถึงบทลงโทษทางประวัติศาสตร์ด้วย”
สี ยืนยันว่า รัฐบาลจีนมีความมุ่งมั่น ความเชื่อมั่น และศักยภาพพอที่จะบดขยี้กิจกรรมของพวกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน
“ชาวจีนต่างมีความเชื่อร่วมกันอยู่ว่า เราจะไม่ยินยอม และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะปล่อยให้ดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียวถูกแบ่งแยกออกไป”
ปักกิ่งยังกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชของเกาะฮ่องกง หลังจากมีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) เมื่อปี 2014
สี ระบุว่า ปักกิ่งยินดีให้ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเองในระดับสูง แต่ก็ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนบนเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้มี “สำนึกความเป็นชาติ และความรักชาติ”
ไต้หวันนั้นไม่มีทีท่าว่าจะอยากถูกปกครองโดยจีนเลย และยังวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งว่า “ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย” ในขณะที่พลเมืองไต้หวันมีสิทธิ์ที่จะตัดสินอนาคตของตนเองได้
จีนจัดการซ้อมรบใกล้เกาะไต้หวันถี่ขึ้นในช่วงปีที่แล้ว แต่ สี ย้ำว่า การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของจีนไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชาติใด และปักกิ่งก็ถือว่าไต้หวันเป็นเพียง “มณฑล” หนึ่งของจีน ไม่ใช่ประเทศอิสระ
“มีแต่พวกที่ชอบข่มขู่ผู้อื่นเป็นนิสัยเท่านั้นที่จะมองทุกคนเป็นภัยคุกคามไปเสียหมด” สี กล่าว