เอเอฟพี - กองทัพสหรัฐฯ จะเดินหน้าปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์และพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่สร้างความเสียหายในระดับต่ำ (low-yield atomic weapons) เพื่อตอบโต้ยุทธศาสตร์ของรัสเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ถ้อยแถลงว่าด้วยการทบทวนจุดยืนนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review - NPR) ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (2 ก.พ.) ได้ชี้แจงจุดมุ่งหมายด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 ที่สหรัฐฯ ออกมากล่าวถึงภัยคุกคามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีข้างหน้า
“ยุทธศาสตร์นี้มุ่งพัฒนาศักยภาพที่จะทำให้การนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้เป็นไปได้ยากขึ้น เน้นการป้องปรามการโจมตีทางยุทธศาสตร์ที่อาจไม่ได้มาในรูปแบบของอาวุธนิวเคลียร์ต่อสหรัฐฯ ประเทศพันธมิตร และหุ้นส่วน” ทรัมป์ ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทำเนียบขาว
“และยิ่งไปกว่านั้น มันยังแสดงถึงเจตนารมณ์ของเราที่จะควบคุมอาวุธและลดการสะสมนิวเคลียร์ คงไว้ซึ่งนโยบายงดทดสอบนิวเคลียร์ และยกระดับความพยายามในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้การก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์”
NPR ฉบับนี้สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของอเมริกาต่ออนาคตด้านนิวเคลียร์ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยกล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดังที่กรุงปรากเมื่อปี 2009 เรียกร้องให้ทั่วโลกยุติการสะสมอาวุธนิวเคลียร์
แม้ถ้อยแถลงนี้จะเอ่ยถึงความกังวลที่สหรัฐฯ มีต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ อิหร่าน และจีน แต่ดูเหมือนจะโฟกัสไปที่ “รัสเซีย” มากเป็นพิเศษ
“นี่คือการตอบโต้ที่รัสเซียขยายศักยภาพ ยุทธศาสตร์ และทฤษฎีของพวกเขา” เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในเอกสารความยาว 75 หน้ากระดาษ
“ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่รัสเซียยึดคาบสมุทรไครเมีย และใช้อาวุธนิวเคลียร์คุกคามพันธมิตรของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่ามอสโกได้ตัดสินใจที่จะหวนกลับสู่การแข่งขันเพื่อแสวงหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ (Great Power competition)”
สิ่งที่เพนตากอนเป็นกังวลก็คือ รัสเซียอาจย่ามใจว่าสหรัฐฯ มีแต่อาวุธนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมซึ่งอำนาจทำลายล้างสูงมาก และคงไม่กล้านำออกมาใช้งานจริง เพราะจะสร้างความเสียหายร้ายแรงและคร่าชีวิตประชากรจำนวนมาก
“มีหลายอย่างบ่งชี้ว่า ยุทธศาสตร์และศักยภาพที่เรามีอยู่ในปัจจุบันถูกฝ่ายรัสเซียมองว่าไม่เพียงพอที่จะป้องปรามพวกเขาได้” เกร็ก วีฟเวอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศักยภาพทางยุทธศาสตร์ประจำคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
“สหรัฐฯ และนาโตจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์อานุภาพต่ำที่หลากหลายเพื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ทำให้ผู้นำรัสเซียตระหนักว่าถ้าพวกเขากล้านำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ก่อนในสงครามกับนาโต เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาทำสำเร็จตามเป้าหมาย และจะให้พวกเขาเผชิญกับความสูญเสียยิ่งกว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเสียอีก”
เอกสารเวอร์ชันก่อนหน้าที่รั่วไหลออกมาเมื่อเดือน ม.ค. ระบุว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กไว้ในครอบครองจะช่วยให้เพนตากอนสามารถลบล้าง “ความเข้าใจผิด” ของศัตรู ซึ่งอาจมองว่าสหรัฐฯ คงไม่กล้าตอบโต้ประเทศอื่นๆ ที่นำอาวุธนิวเคลียร์อานุภาพต่ำออกมาใช้
ยุทธศาสตร์ใหม่ของ ทรัมป์ ยังคงสานต่อนโยบายเดิมของ โอบามา ที่ให้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ขีปนาวุธข้ามทวีปภาคพื้นดิน (ground-based intercontinental ballistic missiles), อาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ (submarine-launched weapons) และระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบิน แต่ในขณะที่ยุทธศาสตร์ของ โอบามา เน้นลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ แต่แนวทางของ ทรัมป์ กลับมีลักษณะเชิงรุกมากกว่า
อาวุธนิวเคลียร์อานุภาพต่ำหรือที่เรียกว่า “นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” (tactical nukes) นั้น แม้จะมีแรงระเบิดที่น้อยกว่า แต่อาจสร้างความเสียหายได้มากพอๆ กับระเบิดซึ่งถูกทิ้งที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2
สหรัฐฯ ครอบครองคลังแสงนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และยังมีระเบิดนิวเคลียร์แรงโน้มถ่วง B-61 จำนวน 150 ลูกเก็บไว้ในหลายประเทศทั่วยุโรป ซึ่งสามารถนำมาปรับแต่งเพื่อลดอานุภาพทำลายล้างลงได้
อย่างไรก็ตาม เพนตากอนมีแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ ที่สามารถยิงจากเรือดำน้ำหรือเรือรบทั่วไปได้ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ ไม่ต้องขนอาวุธไปเก็บสะสมไว้ในยุโรปอีกต่อไป และยังหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียได้ง่ายขึ้นด้วย