xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เผย กม.คว่ำบาตรทำ “รัสเซีย” สูญเสียรายได้จากการค้าอาวุธหลายพันล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
เอเอฟพี - กฎหมายคว่ำบาตรในปี 2017 ทำให้ทั่วโลกยกเลิกสัญญาสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากบริษัทกลาโหมของรัสเซียเป็นมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ และยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มบทลงโทษใดๆ อีก รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (29 ม.ค.)

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลในรัสเซียที่ทางการอเมริกันถือว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และเข้าข่ายที่จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร

เมื่อวานนี้ (29) ถือเป็นกำหนดเส้นตายที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ 2 ข้อของกฎหมาย Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก

สมาชิกสภาคองเกรสต่างเป็นห่วงว่า ความปรารถนาของทรัมป์ที่จะผูกมิตรกับปูติน อาจทำให้เขาไม่ลงโทษมอสโกและเจ้าหน้าที่หมีขาวอย่างจริงจัง กรณีแทรกแซงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 และบั่นทอนความมั่นคงในยูเครน

กฎหมายซึ่ง ทรัมป์ เคยวิจารณ์ว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” และรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อ้างว่า “ไม่มีความจำเป็น” กำหนดให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ต้องจัดทำรายชื่อบริษัทต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระทรวงกลาโหมและหน่วยข่าวกรองของรัสเซีย

กระทรวงได้ปฏิบัติตามนั้นเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทว่าเมื่อวานนี้ (29) ถึงกำหนดเส้นตายที่จะต้องประกาศว่า มีบริษัททั้งในและนอกสหรัฐฯ รวมถึงรัฐบาลต่างชาติแห่งใดบ้างที่จะต้องถูกคว่ำบาตร โทษฐานทำธุรกิจกับบริษัทความมั่นคงของรัสเซียที่ถูกขึ้นบัญชีดำ

ผลปรากฏว่าไม่มีรายชื่อดังกล่าวออกมา โดยกระทรวงการต่างประเทศอธิบายว่า เพียงแค่คำขู่คว่ำบาตรจากสหรัฐฯ หรือมาตรการคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิ ก็ทำให้ธุรกรรมการเงินเหล่านั้นลดลงไปมาก

“ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมาย CAATSA เราประเมินว่ารัฐบาลต่างชาติได้ระงับแผนหรือยกเลิกสัญญาสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซีย คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์” ฮีทเธอร์ เนาเอิร์ท โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ

“เนื่องจากโครงการสั่งซื้ออาวุธล็อตใหญ่ๆ มักครอบคลุมระยะเวลาที่ยาวนาน ผลของกฎหมายฉบับนี้จึงเพิ่งจะปรากฏให้เห็นในระยะเริ่มต้นเท่านั้น”

โฆษกหญิงระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ส่งรายงานที่มีข้อมูลชั้นความลับไปยังสภาคองเกรสเรียบร้อยแล้ว

“หากกฎหมายใช้ได้ผล มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อองค์กรหรือบุคคลจึงไม่มีความจำเป็น เพราะกฎหมายก็เป็นเครื่องมือป้องปรามอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวโตเกี่ยวกับรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลในรัสเซียที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องประกาศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความโกรธเกรี้ยวต่อ ปูติน และทำให้บรรดามหาเศรษฐีที่ใกล้ชิดกับผู้นำหมีขาวเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดจากระบบธุรกรรมการเงินโลก

รายชื่อดังกล่าวน่าจะถูกประกาศในวันที่ 29 ม.ค.เช่นกัน แต่จนถึงช่วงค่ำตามเวลาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากทางกระทรวง

กฎหมาย CAATSA กำหนดให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ “เปิดเผยรายชื่อกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองระดับสูงสุดในรัสเซีย โดยพิจารณาจากความใกล้ชิดกับรัฐบาลมอสโกและมูลค่าทรัพย์สิน” และจะต้อง “ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเหล่านี้กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ของรัสเซีย” รวมถึง “ข้อบ่งชี้ถึงพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น