xs
xsm
sm
md
lg

ส่อแววระอุ! จีนเตรียมสร้าง “สถานีสิ่งแวดล้อม” บนเกาะปะการังสการ์โบโรห์-เมินสหรัฐฯ ขู่ “ตอบโต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนจะเริ่มก่อสร้างสถานีเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ภายในปีนี้ เจ้าหน้าที่ปักกิ่ง เผย ขณะที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 2 คน เสนอร่างกฎหมายคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้ที่จีนเข้าไปทำกิจกรรมแปรสภาพที่ดินในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้

ทางการจีนได้เข้าควบคุมเกาะปะการังสการ์โบโรห์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญไว้ตั้งแต่ปี 2012 ท่ามกลางเสียงคัดค้านของฟิลิปปินส์ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์อยู่เช่นกัน และสหรัฐฯ ก็เคยปรามจีนไว้แล้วว่า อย่าได้คิดแปรสภาพที่ดินบนเกาะแห่งนี้เหมือนเช่นที่เคยทำกับพื้นที่อื่นๆ ในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม เสี่ยว เจีย (Xiao Jie) นายกเทศมนตรีเมืองซานชา (Sansha) ซึ่งมีอำนาจบริหารครอบคลุมหมู่เกาะพิพาทและเกาะปะการังต่างๆ ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ ว่า ปักกิ่งจะเริ่มก่อสร้างสถานีเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมบนเกาะหลายแห่ง รวมถึงที่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ ภายในปีนี้

เสี่ยว เผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ไห่หนาน เดลี ว่า การสร้างสถานีเฝ้าระวัง อู่จอดเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่รัฐบาลกำหนดให้เริ่มดำเนินการในปี 2017

รายงานชิ้นนี้ถูกเปิดเผยก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน จะเดินทางไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งคาดว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะเอ่ยย้ำความกังวลเรื่องที่จีนเนรมิตเกาะเทียมขึ้นในทะเลจีนใต้

ทิลเลอร์สัน เคยออกมาวิจารณ์การกระทำของจีนว่าเป็นเรื่องที่ “ผิดกฎหมาย” และเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว แอชตัน คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้นก็ได้เตือนว่า ถ้าจีนขืนเข้าไปแปรสภาพที่ดินบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์ “สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคย่อมไม่อาจนิ่งเฉย และนั่นไม่เพียงทำให้สถานการณ์ยิ่งร้อนระอุ แต่จีนก็จะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นด้วย”

แอนนา ริชี-แอลเลน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า กระทรวงได้ทราบรายงานในสื่อจีนแล้ว และขอเรียกร้องอีกครั้งให้ทุกฝ่ายที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้หลีกเลี่ยงการเข้าไปปลูกสร้างสาธารณูปโภคบนพื้นที่พิพาท

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยระบุว่า กำลังตรวจสอบข้อมูล

การที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำแถบนี้เกือบทั้งหมด และยังแปรสภาพที่ดินจนกลายเป็นหมู่เกาะเทียม ทำให้สหรัฐฯ หวั่นวิตกว่าจีนอาจปิดกั้นสิทธิของประเทศอื่นๆ ในการเข้าถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือที่มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

สัปดาห์นี้ ส.ว.มาร์โก รูบิโอ และ ส.ว.เบน คาร์ดิน ได้เสนอร่างกฎหมายคว่ำบาตรว่าด้วยทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก (South China Sea and East China Sea Sanctions Act) ซึ่งกำหนดให้สหรัฐฯ สั่งแบนวีซ่าพลเมืองจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการแปรสภาพที่ดินในทะเลทั้งสอง แม้แต่สถาบันการเงินต่างชาติ “ที่จงใจอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมการเงินให้แก่บุคคล หรือองค์กรที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร” ก็อยู่ในข่ายถูกลงโทษด้วย หากว่ารัฐบาลจีนขยายกิจกรรมก่อสร้างบนเกาะปะการังสการ์โบโรห์

หัว ชุนอิง โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาติเตียนร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่า “กีดกันเกินเหตุ” และยังสะท้อนถึง “ความเย่อหยิ่งก้าวร้าว และความไม่รู้อะไร” ของ ส.ว. สหรัฐฯ ทั้งสองคน

บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า เธอยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจีนจะส่งเรือขุดทรายเข้าไปแปรสภาพเกาะปะการังสการ์โบโรห์หรือไม่ แต่หากเป็นจริงก็จะบั่นทอนความพยายามในการกำหนดระเบียบปฏิบัติ (code of conduct) ว่าด้วยทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลจีนเคยให้สัญญาว่าจะสนับสนุน

เธอกล่าวเสริมด้วยว่า ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้เมื่อปี 2002 (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) ต่างให้การรับรองว่าจะไม่ส่งคนเข้าไปยังเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งแต่เดิมไม่มีมนุษย์อยู่อาศัย
ระหว่างเข้าให้การต่อคณะกรรมการวุฒิสภาเพื่อรับรองตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือน ม.ค. ทิลเลอร์สัน ได้เสนอให้สหรัฐฯ ปิดกั้นไม่ให้จีนเข้าไปใช้ประโยชน์จากหมู่เกาะเทียมในทะเลจีนใต้ ทว่าต่อมาเขาได้ปรับคำพูดให้อ่อนลง โดยระบุว่า ในกรณีที่เกิด “เหตุการณ์อันไม่คาดฝัน” สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร “ต้องมีมาตรการที่ได้ผลในการจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึง หรือใช้หมู่เกาะเทียมเหล่านั้นเป็นฐานก่อภัยคุกคาม”

กำลังโหลดความคิดเห็น