เอเอฟพี - ศาลบังกลาเทศมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของรัฐบาลวานนี้ (8 ม.ค.) ห้ามพลเมืองแต่งงานกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หลบหนีการกวาดล้างมาจากพม่า
ศาลสูงธากาปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์ของบิดาคนหนึ่งซึ่งลูกชายไปแต่งงานกับหญิงชาวโรฮิงญา และได้ประกอบพิธีสมรสตามหลักศาสนาอิสลามไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.
รัฐบาลบังกลาเทศออกคำสั่งห้ามพลเมืองแต่งงานกับชาวโรฮิงญาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยนับแสนๆ คนใช้เป็นข้ออ้างในการขอสัญชาติ
บาบุล ฮอสเซน ซึ่งบุตรชายวัย 26 ปีได้พาเมียสาวชาวโรฮิงญาหนีออกจากบ้าน เรียกร้องให้ศาลทบทวนว่าคำสั่งจำคุก 7 ปีสำหรับชาวบังกลาเทศที่แต่งงานกับชาวโรฮิงญามีความชอบธรรมหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลพิพากษายืนตามคำสั่งของรัฐบาล และยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฟ้องร้องจาก ฮอสเซน อีก 100,000 ธากา (ราว 39,000 บาท)
“ศาลปฏิเสธคำร้องและให้ยืนตามคำสั่งบริหารของรัฐ ซึ่งห้ามการแต่งงานระหว่างพลเมืองบังกลาเทศกับชาวโรฮิงญา” ผู้ช่วยอัยการสูงสุด โมตาเฮอร์ ฮอสเซน ซาจู ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
คำร้องที่ ฮอสเซน ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองบุตรชายจากการถูกจับกุม ก็ถูกปฏิเสธด้วย
ชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่กว่า 655,000 คนพากันหนีตายข้ามแดนไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่แล้ว หลังกองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างอย่างหนัก รวมไปถึงการข่มขืนและสังหารหมู่ที่อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ผู้ลี้ภัยชุดใหม่ได้ไปอาศัยอยู่รวมกับชาวโรฮิงญาอีกกว่า 200,000 คนซึ่งหนีเหตุรุนแรงครั้งก่อนๆ เข้าไปตั้งหลักปักฐานอยู่ตามค่ายพักพิงตลอดแนวพรมแดนทางใต้ของบังกลาเทศ
อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือชาวโรฮิงญาพบว่า มีชายบังกลาเทศหลายรายยื่นข้อเสนอแต่งงานกับหญิงผู้ลี้ภัย เพื่อพาพวกเธอหนีออกจากค่ายพักพิงที่แออัด
ผู้สื่อข่าวยังไม่สามารถติดต่อกับ ฮอสเซน ได้หลังจากที่ศาลสูงมีคำพิพากษาออกมา แต่ก่อนหน้านี้เขาเคยออกมาพูดปกป้องการแต่งงานระหว่างบุตรชายกับลูกสะใภ้โรฮิงญาวัย 18 ปี โดยยืนยันว่าไม่มีเรื่องการขอสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ถ้าคนบังกลาเทศแต่งงานกับคริสเตียนหรือคนศาสนาอื่นๆ ได้ ลูกชายผมแต่งกับโรฮิงญามันผิดตรงไหน? เขาแต่งกับผู้หญิงมุสลิมซึ่งต้องการที่พักพิงในบังกลาเทศ” เขาบอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี