เอเอฟพี – องค์การสหประชาชาติจำเป็นต้องใช้เงิน 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.6 พันล้านบาท) ในช่วงหกเดือนข้างหน้าเพื่อรับมือกับการไหลทะลักครั้งหายนะของชาวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 420,000 คนเข้าสู่บังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็น กล่าวในวันนี้ (22)
ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีความไม่สงบทางเชื้อชาติในเมียนมาร์มีจำนวนท่วมท้นเมืองคอกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน
ยูเอ็นได้ออกคำร้องขอเงิน 78 ล้านดอลลาร์เป็นการฉุกเฉินเมื่อวันที่ 9 กันยายน แต่ผู้ประสานงานด้านที่พักอาศัยของยูเอ็นในบังกลาเทศ โรเบิร์ต วัตกินส์ กล่าวว่า จำเป็นต้องใช้เงินมากกว่านี้เนื่องจากผู้อพยพพุ่งสูงขึ้น
“การประเมินที่ดีที่สุดของเราในตอนนี้คือ 200 ล้านดอลลาร์ ในตอนนี้เรากำลังปะติดปะต่อแผนที่จะพร้อมในเวลาประมาณสี่หรือห้าวัน” วัตกินส์ บอกกับเอเอฟพี
เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ประสบความยากลำบากอยู่แล้วในการส่งอาหาร ยา และน้ำดื่มให้กับผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่ถูกจำกัดอาหารแค่หนึ่งมื้อต่อวัน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders หรือ MSF) เตือนว่า ค่ายผู้ลี้ภัยกำลังเข้าใกล้ “ภัยพิบัติทางด้านสาธารสุข” และระบุว่า น้ำสกปรกและอุจจาระไหลผ่านชุมชนกระต๊อบที่ตอนนี้เต็มไปด้วยชาวโรฮิงญา
“ความจริงที่ว่ามีชาวโรฮิงญา 430,000 คนที่นี่กำลังเผชิญกับสถานการณ์หายนะ ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนั้น เรากำลังรับมืออย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” วัตกินส์ กล่าว
“เรากำลังทำงานอย่างหนักร่วมกับรัฐบาลเพื่อจัดสรรความช่วยเหลือให้แก่พวกเขาทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีที่พักพิง ได้รับอาหาร และสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพ น้ำสะอาด และสุขาภิบาล นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดของเราในตอนนี้”
เขาอธิบายการจัดสรรที่ดินใหม่ของรัฐบาลสำหรับรองรับค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่แห่งใหม่ว่าเป็น “การฝ่าทางตันครั้งสำคัญ” พื้นที่ขนาด 8 ตารางกิโลเมตรระหว่างค่ายเดิมสองค่ายกำลังถูกพัฒนาขึ้น
“ผู้คนได้รับวัสดุก่อสร้างเพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างที่พักของตนเองได้ในระยะสั้น ในระยะกลางพวกเขาสามารถสร้างสิ่งที่ยืดหยุ่นมากขึ้นได้”
เขายังเสนอความช่วยเหลือของยูเอ็นเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลที่จะขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยด้วย
“รัฐบาลเริ่มดำเนินการเรื่องนั้นแล้ว เรากำลังเสนอเทคโนโลยีการขึ้นทะเบียนทางชีวมิติและเจ้าหน้าของเราเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล และมันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาล”
การขึ้นทะเบียนอาจมีบทบาทสำคัญในข้อตกลงใดๆ ก็ตามอนาคตสำหรับการส่งชาวโรฮิงญากลับไปยังเมียนมาร์ซึ่งกองทัพถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวโรฮิงญาและเผาหมู่บ้านของพวกเขา