รอยเตอร์ - รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศ เรียกร้องประชาคมโลกให้ช่วยจัดการต่อการปฏิบัติของพม่าต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นนอพยพหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามาในฝั่งบังกลาเทศในช่วงหลายเดือนมานี้
ในการพบหารือกับ นางยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ที่อยู่ในระหว่างการเยือนกรุงธากา เป็นเวลา 3 วัน เอ เอช มาห์มูด อาลี กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ขณะเดียวกัน ฝ่ายบังกลาเทศได้พยายามมีส่วนร่วมกับพม่าในการจัดตั้งสำนักงานประสานงานชายแดน และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงร่วมกัน
ลี กำลังเยือนพื้นที่คอกซ์บาซาร์ ที่อยู่ติดกับพรมแดนพม่า ที่รัฐมนตรีระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศ กล่าวว่า การไหลบ่าของชาวโรฮิงญากำลังส่งผลกระทบต่อประชากรท้องถิ่น และบ่อนทำลายการรักษาความปลอดภัย
ในการประชุมอีกนัดหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงธากา เป็นเวลา 2 วัน ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกเพิ่มแรงกดดันต่อพม่า เพื่อหยุดการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อชาวโรฮิงญา
“ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธต้องปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยอย่างมีเกียรติ และเสมอภาค” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ กล่าว
ชาวโรฮิงญาเกือบ 70,000 คน ได้หลบหนีจากรัฐยะไข่ ของพม่า มายังบังกลาเทศเพื่อหนีการปราบปรามที่ดำเนินขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย เสียชีวิตในการโจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ซึ่งทางการพม่ากล่าวโทษกลุ่มก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา
ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ได้รวมตัวกับชาวโรฮิงญามากกว่า 200,000 คน ที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศก่อนหน้า โดยหลายคนพักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ และที่เป็นค่ายพักชั่วคราวในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
โรฮิงญา เผชิญต่อการเลือกปฏิบัติในพม่ามาหลายชั่วอายุคน ด้วยชาวพม่ามองว่า โรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ในกรุงธากา กล่าวว่า คนเหล่านี้เป็นชาวพม่า และต้องกลับประเทศไปในที่สุด
สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุในรายงานเดือนนี้ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และรุมข่มขืนชาวมุสลิมโรฮิงญา และเผาหมู่บ้านของคนเหล่านี้ ส่วนเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศได้เปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่า ยอดผู้เสียชีิวิตจากการปราบปรามในพม่าอาจมากกว่า 1,000 คน
พม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกล่าวว่า การปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดำเนินไปตามกฎหมาย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสร้างความผิดหวัง และไม่พอใจให้แก่เพื่อนบ้านของพม่าบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่ประชากรของประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง.