รอยเตอร์ - กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขอร้องให้รัฐบาลอิสราเอลเก็บอาการตื่นเต้นดีใจและอย่าตอบสนองจนเกินงาม หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงยิว เนื่องจากวอชิงตันคาดว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงจากหลายฝ่าย และอาจเกิดภัยคุกคามต่อทรัพย์สินและพลเมืองของสหรัฐฯ
เอกสารลงวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งนักการทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทลอาวีฟจะนำไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่อิสราเอล มีใจความสำคัญว่า “เราตระหนักว่าพวกคุณคงจะชื่นชมยินดีต่อข่าวนี้ แต่ขอร้องว่าอย่ามีการตอบสนองอย่างเป็นทางการที่มากเกินไป”
“เราคาดว่าข่าวนี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านทั้งในตะวันออกกลางและทั่วโลก เรากำลังประเมินผลกระทบที่จะมีต่อทรัพย์สินและบุคลากรของสหรัฐฯ ในต่างแดน”
เอกสารอีกฉบับซึ่งลงวันที่ 6 ธ.ค.เช่นกันระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งให้คณะทำงานภายใน “ติดตามความเคลื่อนไหวทั่วโลก” หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศรับรองสถานะของเยรูซาเลม
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกนามชี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่ทางกระทรวงจะตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้น “เมื่อใดก็ตามที่เกิดสถานการณ์ซึ่งอาจกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของบุคลากรหรือพลเมืองสหรัฐฯ”
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเอกสารทั้ง 2 ฉบับ
ทรัมป์ ละทิ้งนโยบายที่สหรัฐฯ ยึดถือมานานหลายสิบปีด้วยการรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.) ซึ่งการตัดสินใจของเขาส่อแววบั่นทอนกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง และสร้างความไม่พอใจต่อทั้งมิตรและศัตรู
เอกสารฉบับแรกได้กำหนดประเด็นสนทนาสำหรับเจ้าหน้าที่สถานกงสุลสหรัฐฯ ในเยรูซาเลม ตลอดจนสถานทูตที่กรุงลอนดอน, ปารีส, เบอร์ลิน และโรม รวมถึงคณะทูตสหรัฐฯ ที่สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่ยุโรปช่วยชี้แจงว่า การตัดสินใจของ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นการด่วนสรุป “สถานะสุดท้าย” ของเยรูซาเลม ซึ่งเป็นเรื่องที่อิสราเอลและปาเลสไตน์จะต้องตกลงกันเองผ่านกระบวนการเจรจาสันติภาพ
“พวกคุณอยู่ตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาตอบสนองที่นานาชาติจะมีต่อคำประกาศครั้งนี้ และเราขอให้คุณช่วยเน้นย้ำความจริงที่ว่า สถานะสุดท้ายของเยรูซาเลมยังคงเป็นเรื่องระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และทั้งสองฝ่ายจะต้องคำนึงถึงอธิปไตยของอิสราเอลในเยรูซาเลมระหว่างที่เจรจากันด้วย”
“พวกคุณก็ทราบว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เหมือนใคร เราทำในสิ่งที่กล้าหาญ แต่เป็นความกล้าหาญที่จำเป็น หากต้องการให้กระบวนการสันติภาพสำเร็จลุล่วง”
สถานะของเยรูซาเลมซึ่งเป็นที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับมุสลิม ยิว และคริสเตียน ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดในการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
อิสราเอลถือว่านครแห่งนี้เป็น “เมืองหลวงตลอดกาลอันจะแบ่งแยกมิได้” ของชาวยิว และต้องการให้นานาชาติย้ายสถานทูตไปที่นั่น ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ก็หวังจะสร้างเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ขึ้นที่เยรูซาเลมฝั่งตะวันออก ซึ่งถูกอิสราเอลบุกเข้ายึดครองระหว่างสงคราม 6 วันในปี 1967 ก่อนจะประกาศผนวกดินแดนเป็นของตนโดยที่ทั่วโลกไม่ยอมรับ